PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แผนเพื่อไทยแก้เกมงูเห่าเพ่นพ่าน มอบนายกให้ขั้วที่ 3

สกัดคสช.สืบทอดอํานาจ จุรินทร์-พีระพันธุ์มาแรง ชิงดําหัวหน้าประชาธิปตย์

ขั้วการเมืองจ้องเขม็งศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “ชวน” ให้รอกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ชี้ขาดปิดสวิตช์ ส.ว.-เข้าร่วมรัฐบาล ย้ำไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับพิสดารตั้งแต่ต้น สมาชิกสแกนจุดอ่อนชี้ทีม “กรณ์-อภิรักษ์” ยังไม่ตอบโจทย์ ลุ้น “จุรินทร์-พีระพันธุ์” คู่ชิงดำ ก๊วนอดีต กปปส.ซุ่มดัน “เอกนัฏ” คั่วเลขาฯ พท.ฮึดสู้ชวน “ปชป.-ภท.-ชทพ.-ชพน.” 116 เสียงสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ ทิ้งไพ่ยกให้เก้าอี้นายกฯ “เจ๊หน่อย” หวัง 2 ตัวแปรร่วมตั้งรัฐบาล “พิชัย” หยอด “เสี่ยหนู” เหมาะนั่งนายกฯ โฆษกเพื่อชาติแฉมหกรรมค้ามนุษย์งูเห่า ปูดทุ่มหัวละ 2 ล้านซื้อโหวต หน.ปชป. “อนุทิน” พลิ้วข่าวขั้วที่ 3 บอกไม่มีใครติดต่อมา-ไม่ได้ติดต่อใคร พปชร.ไม่หวั่นทาบไว้ก่อนแล้ว รอเกลี่ย รมต.ให้ลงตัว ประธานสภาฯไม่นิ่ง แกนนำมึน “สุชาติ-วิรัช” ยังไม่โดนใจ “เรืองไกร” ยื่นศาลปกครองล้ม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

การคัดเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ กลายเป็นประเด็นคาบเกี่ยวโยงไปถึงการช่วงชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างแยกไม่ออก หลังมีกระแสข่าวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เชิญชวนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย จับมือกันเป็นขั้วการเมืองที่ 3 ร่วมปิดสวิตช์ ส.ว.สกัดเกมสืบทอดอำนาจ คสช. โดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันให้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นผู้ตัดสินท่าทีของพรรค


“ชวน” รอ กก.บห.ชี้ขาดปิดสวิตช์ ส.ว.

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่อาคารรัฐสภาใหม่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เชิญชวน พรรคการเมืองร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว.สกัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจว่า ต้องรอหลังวันที่ 15 พ.ค. ที่จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะเป็นตัวแทนพรรคมาตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ขณะนี้ใครประสานอะไรมาเป็นเรื่องที่ต้องรอหลังจากมีผู้รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเรื่องการที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องรอให้ตัวแทนพรรคตัวจริงเป็นผู้ให้ความเห็น ขณะนี้ใครพูดอะไรถือเป็นความเห็นส่วนตัว ขอร้องว่าอย่าเพิ่งไปตัดสินใจอะไรแทนหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ควรจะรอสัปดาห์นี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย และโดยทั่วไปแล้วเมื่อพรรคมีมติอะไรออกมา ทุกคนต้องให้ความเคารพ

ย้ำ ปชป.ไม่รับ รธน.ฉบับนี้ตั้งแต่ต้น

นายชวนกล่าวอีกว่า ส่วนที่มาของ ส.ว.ชุดใหม่ที่ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจนั้น มาพูดตอนนี้ไม่มีประโยชน์ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ต้น เพราะมีหลายอย่างไม่สอดคล้องแนวทางประชาธิปไตย แต่เมื่อใช้แล้วมีปัญหาจริง รู้สึกว่าประชาธิปไตยไม่ก้าวไปข้างหน้าเท่าที่ควร ต้องยอมรับเพราะรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ถ้าจะมาให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยในตอนนี้ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อกฎหมายออกมาแล้วทุกคนต้องปฏิบัติตาม

ให้มติพรรคตัดสินเลือกทางเดิน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นทางเลือกขั้วที่ 3 ในการตั้งรัฐบาลว่า คงเป็นแค่กระแสข่าว ทุกอย่างต้องรอความชัดเจนจากการประชุม ส.ส. เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 15 พ.ค.ก่อน เพื่อมากำหนดทิศทางการดำเนินการของพรรค การระบุว่าได้คุยกับพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว น่าจะเป็นการคุยกันส่วนตัว แต่การหารืออย่างเป็นทางการยังไม่เกิดขึ้น ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่ระบุพร้อมสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นข้อเสนอที่ปรากฏผ่านสื่อ รวมถึงข้อเสนอการร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยจะปิดประตูตายหรือไม่ ต้องรอการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นผู้ชั่งใจว่าจะดำเนินการอย่างไร

“สมบูรณ์” ท้านายกฯ อย่าหนีกระทู้

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง พรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์เรื่องการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ กล่าวหานักการเมืองลงพื้นที่สร้างภาพบิดเบือนว่า ผิดหวังและสงสารประชาชนคนไทยที่มีนายกฯ ที่ความคิดคับแคบตีบตัน ชาวสวนปาล์มเดือดร้อนกันจะตายอยู่แล้ว กลับมองไม่เห็น รู้ไหมว่าตอนนี้ปาล์มราคา 1.60 บาทต่อกิโลกรัมไม่ใช่ 5-6 บาท ตกต่ำสุดนายกฯ รู้หรือไม่ว่า 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ประชาชนลดลงมากแค่ไหน เรียก ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติมาถามจะรู้ว่ารายได้ประชากรไทยต่อเดือนต่อครัวเรือนลดลงมากแค่ไหน แค่ จ.ตรัง จาก 36,000 บาทในปี 2556 เหลือแค่ 21,000 กว่าบาท ชาวบ้านเดือดร้อนเจ็บปวดแค่ไหน รัฐบาลนี้เก่งแต่สร้างภาพ พอมีนักการเมืองลงไปช่วยเสนอแนะแนวทางแก้ไข ผู้นำใจแคบกลับใส่ร้ายว่าสร้างภาพบิดเบือน ทั้งที่วันนี้เขาเลิกหาเสียงกันแล้ว หากท่านวาสนาดีได้เป็นนายกฯ ต่อ อย่าลืมไปตอบกระทู้ ตอบญัตติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ถามแน่ๆ อย่าหนีสภาฯ เหมือนนายกฯ บางคนแล้วกัน

“นริศ” ขอนักปฏิรูปมืออาชีพ ซื่อสัตย์

นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงจุดยืนในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า วันที่ 15 พ.ค.ถือเป็นการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคครั้งสำคัญของชาวประชาธิปัตย์ มีจุดยืนสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป ดังนี้ 1.ต้องเป็นนักปฏิรูป ต้องเลือกไปเป็นหลักในการฟื้นฟูพรรค ต้องทำทุกพื้นที่ แม้แต่ภาคใต้ต้องเร่งฟื้นฟูเพราะสูญเสียที่นั่งไปมาก เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสาน จึงต้องการคนที่มุ่งมั่นจริงจัง 2.ต้องมีประสบการณ์การบริหารประเทศแบบมืออาชีพ เพราะเส้นทางของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่แล้วจะไปถึงนายกฯหรือรองนายกฯหรือรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ จึงต้องเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ ประสานงานและเป็นที่เชื่อมั่นของทุกฝ่ายได้ 3.ต้องมีประสบการณ์ทางการเมืองสูง เพราะเลือกก่อนจะไปมีมติกันว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล จึงต้องเป็นบุคคลที่มีความพร้อม มีความสามารถ ที่เป็นได้ทั้งฝ่ายรัฐบาลทำหน้าที่บริหารและฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ การเมืองต่อไปนี้ จุดยืนของผู้นำพรรคจึงสำคัญมากๆ 4.ต้องเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์สุจริต ที่ผ่านมาทุกท่านไม่มีพฤติกรรมหรือข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชันตามอุดมการณ์ของพรรค ผู้สมัครท่านใดมีคุณสมบัติใกล้เคียงมากที่สุด เอาคะแนนไป

สมาชิกอยากได้ หน.หรือเลขาฯเป็นคนใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ว่าโค้งสุดท้ายของการเดินสายหาเสียงพบปะสมาชิกพรรคที่เป็นโหวตเตอร์ 307 คน แบ่งสัดส่วนน้ำหนักการโหวตหลักที่ ส.ส.ปัจจุบันทั้งสองระบบ 52 คน มีน้ำหนักเสียงที่ 70 เปอร์เซ็นต์และโหวตเตอร์อีก 255 คน จาก 19 กลุ่มจะมีน้ำหนักเสียง 30 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดในหมู่สมาชิกพรรคต่างวิเคราะห์และยึดหลักว่าต้องมีหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรคคนใดคนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้เมืองหลวงของพรรค ที่มี ส.ส.มากสุด 22 คน ต้องรักษาฐานที่มั่นสุดท้ายให้ได้ เพราะ กทม.ที่เคยได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำมาสูญพันธุ์ ภาคเหนือได้ 1 คน ภาคอีสานได้ 2 คน ภาคกลางได้ 8 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อได้ 19 คน


สแกน“กรณ์-อภิรักษ์” ยังไม่ตอบโจทย์

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับ 4 ทีมแคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรค โดยเฉพาะทีมนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลังและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก ว่าที่เลขาธิการเป็น ส.ส.ภาคเหนือเพียงคนเดียว สมาชิกพรรคส่วนใหญ่มองว่าไม่ตอบโจทย์เสียงส่วนใหญ่ ขณะที่ทีมนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เป็นว่าที่เลขาธิการพรรค และแม้จะเพิ่งเปิดตัวทีมงานด้านสังคม เศรษฐกิจและวิชาการไป แต่ยังขาดการสนับสนุนจากสมาชิกที่เป็น ส.ส. รอเพียงว่ากลุ่ม ส.ส.สายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคจะเทคะแนนให้หรือไม่ แต่สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ยังมองว่านายอภิรักษ์ยังมีประสบการณ์และความพร้อมทางการเมืองน้อยไป และมีจุดอ่อนไม่ได้เป็น ส.ส. อาจคุมเกมหรือสั่งการในสภาฯไม่ทันเหตุการณ์ เพราะคาดว่าสภาฯชุดนี้จะเกิดเหตุวุ่นวายจากการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

คาด “จุรินทร์-พีระพันธุ์” ชิงดำ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า การแข่งขันครั้งนี้จึงเป็นการแข่งขันกันระหว่างทีมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคและอดีต รมต.หลายกระทรวง ที่มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคร่วมทีม มีเสียงสนับสนุนจากกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ อาทิ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายนิพนธ์ บุญญามณี นายวิรัช ร่มเย็น และภาคกลางบางส่วนสายนายสาธิต ปิตุเตชะ รวมถึงทีมผู้อาวุโสในกรรมการที่ปรึกษาพรรค ทั้งนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายกนก วงษ์ตระหง่าน เป็นต้น สมาชิกพรรคและโหวตเตอร์ ส่วนใหญ่จึงเห็นว่าน่าจะมีความพร้อมทั้งประสบการณ์และการประกาศยึดมั่นอุดมการณ์และผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ต้องต่อสู้กับทีมนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อและอดีต รมว.ยุติธรรม ที่ยังอุบไต๋ไม่ประกาศตัวว่าที่เลขาธิการพรรคของทีม

ก๊วนอดีต กปปส.ดัน “เอกนัฏ” คั่วเลขาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้นายพีระพันธุ์เพิ่งประกาศตัวชัดเจนลงแข่งขันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แต่ถือเป็นม้าตีนปลายแรงเบียดคนอื่นๆขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และอดีตแกนนำ กปปส. นายจุติ ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการพรรค นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตรองหัวหน้าภาคเหนือ โดยมีนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคและมือประสานสิบทิศ เป็นผู้สนับสนุนหลัก ทั้งนี้ มีการวางตัวให้นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคและอดีตโฆษก กปปส.ให้มาเป็นเลขาธิการพรรคในทีม ถือเป็นไม้เด็ดที่อุบไต๋ไว้เรียกเสียงสนับสนุน สมาชิกพรรคส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่าเมื่อถึงเวลาโหวตจริง ทีมที่มีเสียงสนับสนุนน้อยที่สุดอาจถอนตัวหรือพลิกเทเสียงให้กับทีมนายจุรินทร์หรือทีมนายพีระพันธุ์

เจ๊หน่อย” ลุ้น ปชป.–ภท.ร่วมตั้ง รบ.

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของสองขั้วการเมืองว่า ขณะนี้ฝ่ายประชาธิปไตยมี 245 เสียง ถือว่ารวมเสียงได้มากที่สุด ต้องรอดูท่าทีของพรรคขนาดกลาง ที่เคยให้สัญญาก่อนเลือกตั้งบอกว่าจะไม่ต่อท่อเผด็จการ เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยกำลังรอให้พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจ เพื่อมาร่วมตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ตอบว่า รอพรรคขนาดกลางจะตัดสินใจอย่างไร เพราะการเข้าสู่อำนาจ ต้องเป็นอำนาจส่งเสริมให้ประชาชนสมหวัง ส่วนตัวอยากเน้นการเลือกตั้งครั้งนี้อย่าให้เป็นเพียงพิธีกรรมเปลี่ยนสถานะของ คสช.จากการยึดอำนาจ เพราะการเลือกตั้งคือความหวังของประชาชน

ไม่ต้องหนุนแค่ช่วยหยุดสืบอำนาจ

พรรคเพื่อไทยไม่ได้หวังให้มาสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี แต่มองว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการสืบทอดอำนาจ หากพรรคการเมืองรวมตัวกัน คสช.จะกลับบ้านไป ส่วนกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยผลักดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้คุยอะไรกัน วันนี้ต้องถามเป็นจุดยืนแต่ละพรรคว่าอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยเพื่อประชาชน หรือเป็นการจบเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนสถานะ คสช.เท่านั้นเอง

กวักมือลงแขกตัดวงจรอุบาทว์

นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลข ส.ส.แต่ละพรรคนิ่งแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลจึงชัดเจนมากขึ้น พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรที่ยึดถือระบอบประชาธิปไตยเป็นหัวใจหลักรวม 7 พรรค ประกาศจับมือจัดตั้งรัฐบาลกัน ยังไม่เปลี่ยนแปลง และไม่กังวลต่อกรณีงูเห่าที่อาจเกิดขึ้น ยุคนี้ประชาชนรู้ทันและพร้อมลงโทษ ส.ส.ที่ทรยศต่อประชาชน อีกฝ่ายที่มีภาพการสืบทอดอำนาจและได้คะแนนเสียงน้อยกว่า แต่ยังเดินหน้ารวมเสียงตั้งรัฐบาล ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ที่มีตัวเลข ส.ส.สร้างเสถียรภาพให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ แต่ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนทางการเมืองออกมา อยากเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่ยึดถืออุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย รวมถึงพรรคภูมิใจไทยที่ประกาศฟังเสียงประชาชน ต้องตัดสินใจนำประเทศออกจากเชื้อเผด็จการอย่างเด็ดขาด ไม่ไปร่วมเป็นส่วนสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ คสช.ขอให้ตัดสินใจมาร่วมสร้างประชาธิปไตย จับมือปิดประตูวงจรอุบาทว์ ปิดสวิตซ์ ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช.ไม่ให้มีโอกาสใช้อำนาจหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่ออีก สำคัญที่สุดคือต้องฟังเสียงหัวใจตัวเองที่เคยสัญญากับประชาชนด้วย


“พิชัย” หยอด “เสี่ยหนู” เหมาะนายกฯ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขอเตือนพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ให้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้กับประชาชนก่อนเลือกตั้งว่าไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หากพรรคประชาธิปัตย์พลิกลิ้นไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ อนาคตพรรคอาจหมดสิ้น อยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์ฟื้นฟูพรรคกลับมาอีกครั้งเหมือนสมัยนายชวน หลีกภัย ขณะที่พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสสูงที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะได้เป็นนายกฯและเหมาะสมอย่างยิ่ง หากจะรักษาคำพูดที่ให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง ยอมร่วมรัฐบาลกับฝั่งประชาธิปไตย หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ อยากให้ฟังเสียงประชาชน หากนายอนุทินและพรรคภูมิใจไทยรักษาภาพพจน์ คำพูด โอกาสพัฒนาของพรรคภูมิใจไทยเป็นไปได้สูง มีโอกาสเป็นไปได้มากที่นายอนุทินจะได้เป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยต้องกลับมาพิจารณาตัวเองว่าเหตุใดจึงได้ ส.ส.ต่ำกว่าการคาดหมายอย่างมาก อยากให้ทุกพรรคศึกษาแนวคิดประชาชนผู้ลงคะแนนให้ดี เพื่อใช้พัฒนาพรรค อยากเห็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ก้าวต่อไป

ฮึดสู้ทาบ 4 พรรค 116 เสียงร่วมวง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้แกนนำพรรคเพื่อไทยยังไม่หมดหวังกับการรวบเสียง ส.ส.ข้างมากเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองที่มาร่วมลงสัตยาบันกับพรรคเพื่อไทย 7 พรรค มีคะแนนถึง 245 เสียง ถือว่ายังมีโอกาสอยู่ในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีพรรคที่ยังไม่ประกาศตัวชัดเจนถึง 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนาและชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีคะแนนเสียงรวมกันประมาณ 116 เสียง หากสามารถดึงมาเข้าร่วมได้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้แกนนำพรรคปรับยุทธศาสตร์การสื่อสารไปถึงทั้ง 4 พรรคที่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจะไปอยู่ฝ่ายใดว่า หากมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย จะทำให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งได้ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้

ทิ้งไพ่หลีกทางให้แม้แต่นายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ยึดติดตำแหน่ง แม้แต่ตำแหน่งนายกฯ สามารถเจรจาพูดคุยกันได้ เพราะมองเรื่องการต่อต้านการสืบทอดอำนาจสำคัญกว่าตำแหน่งหรือโควตารัฐมนตรี แนวทางนี้ได้สื่อสารไปยัง 7 พรรคที่ร่วมลงสัตยาบัน เห็นได้จากท่าทีของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่เปลี่ยนมาในทิศทางเดียวกัน

พช.ปูดทุ่มเงินซื้อ หน.ปชป.

น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา น่าจะเรียกว่าช่วงย้อนเวลาหาอดีตมากกว่าการปฏิรูป เมื่อเผด็จการทหารเสพติดอำนาจ ทำให้ได้รู้จักมหกรรมการค้ามนุษย์ หรือการต้อนเสียงนักการเมือง อย่างคำว่า “งูเห่า” ล่าสุดมีกระแสข่าวสะพัด ราคาการซื้อเสียงสูงขึ้นถึง 2 ล้านบาทต่อ 1 เสียง เพื่อซื้อตำแหน่งหัวหน้าพรรคเก่าแก่ ให้ไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ทราบว่านายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค และเสาหลักพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ยืนยันมาตลอดชีวิตนักการเมืองที่รับไม่ได้กับการซื้อเสียง ไม่ทราบว่าท่านได้ทราบข่าวลือหนาหูในแวดวงการเมืองที่มีการสนับสนุนเงินให้ผู้ที่สมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจไปซื้อเสียงสมาชิก เพื่อโหวตให้ตนเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะการลงทุนเพื่อได้มาซึ่งอำนาจด้วยมูลค่าสูง ย่อมคาดการว่าจะต้องได้ผลตอบแทนจากการมีอำนาจสูงกว่าภาษีประชาชน

บี้ตัวแปรยึดมติมหาชนอย่าขายเสียง

“ขอเรียกร้องให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่อาสาเป็นตัวแทนประชาชน ให้ตัดสินใจบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรม จริยธรรม และรักษาคำพูดอดีตหัวหน้าพรรคที่เคยสัญญากับประชาชนว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และฝากบอกพรรคภูมิใจไทยว่าประชาชน 70 เปอร์เซ็นต์ ได้บอกทุกพรรคการเมืองแล้วว่าไม่ต้องการรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ขอเรียกร้องให้ทั้งสองพรรค ประกาศให้ชัดเจนว่าจะยืนตามมติมหาชน เพื่ออนาคตประเทศ หรือยืนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนจากการขายเสียง” โฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าว

“อนุทิน” ไม่ติดต่อใครไม่มีใครติดต่อมา

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ เมื่อถูกซักถามถึงกระแสข่าวพรรคอนาคตใหม่ประสานงานทาบทามให้พรรคภูมิใจไทยรวมตัวเป็นขั้วที่ 3 โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ร่วมด้วยว่า “ตอนนี้ยังไม่มีอะไร ไม่มีใครติดต่อมา และไม่ได้ติดต่อใคร”

พปชร.ซัดแพ้แล้วพาลรอเป็นฝ่ายค้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคและนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค กำลังดำเนินการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ทุกอย่างเรียบร้อยถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้เกียรติพรรคที่จะมาร่วมงาน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ต้องรอการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้เสร็จก่อน ยังมีเวลาเจรจาขอให้ใจเย็นๆ มั่นใจจัดตั้งรัฐบาลได้แน่ ทุกอย่างไม่ได้มีปัญหาตามที่มีกระแสข่าวลือ เมื่อทุกอย่างเป็นทางการแล้วพรรคจะแถลงข่าว ส่วนที่โฆษกพรรคเพื่อไทยระบุว่าพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหักหลังประชาชน เป็นการพูดที่ใช้ไม่ได้ เพราะทุกพรรคมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย คำพูดดังกล่าวดูถูกประชาชน พรรคเพื่อไทยต้องให้เกียรติพรรคอื่นหรือคนที่เห็นต่างด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาลเลยพาลออกมาตีโพยตีพาย ไม่ได้ดั่งใจเลยงอแง พรรคเพื่อไทยควรเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านที่ดีจะดีกว่า

ไม่หวั่น พท.เล่นเกมกดดัน ภท.–ปชป.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคพลังประชารัฐว่า จากกรณีพรรคเพื่อไทยพยายามกดดันพรรคการเมืองที่ยังสงวนท่าทีเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ยึดมั่นในคำพูดที่ให้ไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ โดยแกนนำพรรคพลังประชารัฐไม่หวั่นไหว เนื่องจากได้ทาบทามรวมเสียงกันตั้งรัฐบาลไว้ก่อนเลือกตั้งแล้ว เหลือเพียงการเกลี่ยกระทรวงให้ลงตัวเท่านั้น จะเห็นความชัดเจนหลังเปิดประชุมสภาฯนัดแรก

“สุชาติ–วิรัช” ชิง ปธ.สภาฯชักไม่แน่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนประเด็นที่น่าจับตาภายในพรรคพลังประชารัฐขณะนี้ คือยังตกลงกันไม่ลงตัวว่าจะเสนอชื่อใครไปชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส. ฉะเชิงเทรา ที่เสนอตัวเป็นประธานสภาฯตั้งแต่ต้น กับนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีเป้าหมายต้องการเป็นประธานสภาฯเช่นเดียวกัน โดยทั้งคู่พยายามเดินเกมเข้าหาผู้มีอำนาจนอกพรรค ให้ช่วยผลักดันสนับสนุน แต่ ส.ส.บางส่วนในพรรคไม่เห็นด้วย ถ้าจะให้นายวิรัชนั่งประธานสภาฯ เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ในตำแหน่งนี้และยังมีคดีทุจริตเก่าติดค้างอยู่ในชั้น ป.ป.ช. อาจทำให้เกิดปัญหาความไม่สง่างามในการดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะที่นายสุชาติเองยังมีปัญหาการยอมรับในภาพรวมของพรรค มีฐานเสียงสนับสนุนยังไม่มาก ขณะที่แกนนำพรรคต้องการผู้ที่มีความอาวุโสมากกว่านี้ แต่เชื่อพรรคจะมีข้อสรุปในเร็วๆนี้

หึ่งพรรคเล็กเคาะชูมือให้ “ลุงตู่”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง กกต.รับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว ทำให้แต่ละพรรคการเมืองมีความชัดเจนเรื่องจำนวน ส.ส. กลุ่มพรรคขนาดเล็กจึงมีการรวมตัวต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกันอย่างคึกคัก มีรายงานข่าวจากกลุ่มบ้านริมน้ำของนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าได้รับทราบจากตัวแทนกลุ่ม 11 พรรคเล็กว่าเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ตัวแทน 11 พรรคเล็ก ได้เดินทางไปหารือร่วมกันที่ทำการพรรคครูไทย–เพื่อประชาชน จ.สมุทรปราการ เพื่อตกลงกันถึงทิศทางการเมืองของกลุ่ม โดยได้ข้อสรุปร่วมกันจะยกมือให้นายสุชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกสมัย

ขอ 1 เก้าอี้ รมว.แรงงานหรือ รมช.ศธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้กลุ่ม 11 พรรคเสนอขอเก้าอี้รัฐมนตรีในโควตาของกลุ่ม 1 เก้าอี้ ระหว่าง รมว.แรงงานกับ รมช.ศึกษาธิการ โดยเสนอชื่อนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เป็น รมว.แรงงานหรือนายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เป็น รมช.ศึกษาธิการ ให้ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

สะพัด “อารี”-ศก.ใหม่เทใจพลิกขั้ว

ขณะเดียวกันมีรายงานด้วยว่านายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ อดีตแกนนำ นปช.จะตัดสินใจย้ายข้างหันมายกมือโหวตให้นายสุชาติ เป็นประธานสภาฯ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯแน่นอน รวมถึง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน ยกเว้นนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรค จะพลิกขั้วฉีกสัตยาบันมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และนายสุชาติ เช่นเดียวกัน

ญาติวีรชนฯหนุนขั้ว 3 ตั้ง รบ.ช่วยชาติ

นายอดุลย์ เชียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนี้ว่า สถานการณ์กำลังเข้าสู่เดดล็อกทางตัน เพราะการรวมเสียง ส.ส.ของ 2 ขั้วการเมือง ไม่ว่าฝ่ายใดตั้งรัฐบาลจะมีเสียงปริ่มน้ำ เป็นรัฐบาลไร้เสถียรภาพ ขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุน กระทบภาวะเศรษฐกิจ มีทางเดียวที่จะฝ่าทางตันนี้ได้คือการร่วมกันตั้งรัฐบาลช่วยชาติ ตามที่คณะกรรมการญาติวีรชนฯเสนอ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ข้อเสนอของเราได้รับการขานรับ หลายฝ่ายมองเห็นวิกฤติรออยู่ข้างหน้า จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสร้างการเมืองขั้วที่ 3 ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่เพื่อต่อรองเก้าอี้อย่างเดียว ต้องเป็นขั้วที่ 3 เพื่อฝ่าทางตันการเมืองสร้างรัฐบาลสามัคคีปรองดอง ช่วยชาติให้ก้าวพ้นวังวนความขัดแย้ง 10 ปีที่ผ่านมาให้ได้ หาก 4 พรรคคือภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา รวมกันได้ 116 เสียงจับมือกันแน่น จะเป็นตัวแปรสำคัญ แล้วรวมกับ 2 ขั้วการเมืองคือขั้วเพื่อไทย อนาคตใหม่ และขั้วพลังประชารัฐ รวมทั้งพรรคเล็กให้ได้ 376 เสียง แล้วเสนอชื่อนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งในสภาผู้แทนฯ 500 คนที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายจะตั้งรัฐบาลได้

จี้ “บิ๊กตู่” รู้จักพอเสียสละวางมือ

นายอดุลย์กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและแคนดิเดตนายกฯ ต้องเสียสละประกาศวางมือส่งไม้ต่อให้รัฐบาลหน้า ลงจากอำนาจอย่างสง่างาม แล้วไปช่วยชาติด้านอื่นโดยไม่ควรมีฝ่ายใดตามเช็กบิล หากทุกฝ่ายยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตัว ละวางอคติได้เชื่อว่าประเทศไทยจะได้รัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ สร้างสันติสุขแก่บ้านเมืองได้ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาและมีขั้วที่ 3 พรรคการเมืองฝ่ายต้องการขจัดคราบเผด็จการออกไปโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ควรสนับสนุน ขอวิงวอนสังคมไทยทบทวนโดยรอบคอบเพื่อประเทศของเรา

เรืองไกร” ยื่นศาล ปค.ล้มปาร์ตี้ลิสต์

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า วันที่ 13 พ.ค.เวลา 10.00 น.จะไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง ให้มีคำสั่งเพิกถอนการประกาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต. และขอให้ศาลสั่ง กกต.ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้พรรคใหญ่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกลับคืนมาตามสัดส่วนคะแนนที่ประชาชนเลือก เนื่องจากเห็นว่าการประกาศผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คนของ กกต.ไม่ถูกต้อง นำคะแนนเสียงไปจัดสรรให้พรรคเล็ก 11 พรรค ทั้งที่พรรคเหล่านี้มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์พึงมี ทำให้คะแนนเสียงพรรคใหญ่ตกน้ำโดยไร้เหตุผล เช่น พรรคอนาคตใหม่มีคะแนนตกน้ำ 561,245 คะแนน ประชาธิปัตย์ 256,857 คะแนน พลังประชารัฐ 229,034 คะแนน พรรคเหล่านี้เสีย ส.ส.บัญชีรายชื่อไปหลายคน ขณะที่พรรคเล็ก 11 พรรคมีคะแนนเพิ่มขึ้น 234,640 คะแนน แต่ กกต.อธิบายไม่ได้ว่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากหน่วยใด เขตใดหรือไปเอาของพรรคใดมาเติมให้

ฉะยักย้ายคะแนนตามอำเภอใจ

“ดังนั้น การประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ผ่านมาจึงไม่ถูกต้อง ถูกมองว่าพรรคใหญ่โดนยักย้ายถ่ายเทคะแนนไปให้พรรคเล็กตามอำเภอใจ เรื่องนี้จึงปล่อยผ่านไปไม่ได้ ขอให้พวกที่เห็นว่าพรรคเล็กควรได้ ส.ส. 1 คนออกมาแสดงตนอย่างเปิดเผย อย่าทำตัวเป็นอีแอบตะแบงเชียร์ด้านเดียว ควรรับฟังความเห็นอีกด้านด้วย ผมพร้อมไปโต้เหตุผลบนเวทีสาธารณะทุกแห่ง เพื่อพิสูจน์ความจริง” นายเรืองไกรกล่าว

“กัลยา” ช่วยหาเสียง ลต.ซ่อมเชียงใหม่

ที่ จ.เชียงใหม่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รักษาการกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์พร้อมคณะลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ น.ส.วรณัน อ้นท้วม ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 2 โดยคุณหญิงกัลยากล่าวว่า พรรคมีผู้สมัครหน้าใหม่ใน จ.เชียงใหม่หลายเขต แต่เขต 8 มี น.ส.วรณันมุ่งมั่นทำงานให้พรรควิริยะอุตสาหะ หาได้ยากที่จะมีคนกล้าสู้ในเขตนี้ ขอฝากพี่น้องประชาชนด้วย ใบส้มจาก กกต.ประชาชนเข้าใจได้แล้วว่าคือการหาเสียงเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

นางมัลลิกากล่าวว่า ขอโอกาสสาวสันป่าตอง คนพื้นที่จริง ให้ได้ ส.ส.สตรีคนรุ่นใหม่ภาคเหนือเข้าไปในสภาฯสักคน จากนั้นคณะเดินทางไปตลาดเวียงท่ากาน และไปกาดก้อมกองเตียว ถนนคนเดินสายวัฒนธรรม ช่วงเย็น และวันที่ 13 พ.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์จะขึ้นมาช่วยหาเสียงด้วย

วันหยุดไม่มี ส.ส.มารับใบรับรอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 12 พ.ค. สำนักงาน กกต.ยังคงเปิดให้รับหนังสือรับรองแก่ ส.ส.แม้ว่าจะเป็นวันหยุดราชการ แต่ตลอดทั้งวันไม่มีใครเดินทางมารับหนังสือเลย ทำให้ยอดรวม 6 วัน ที่เปิดให้มารับหนังสือรับรองมีผู้มารับแล้ว 468 คน เหลือ 30 คน แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 22 คน จากภูมิใจไทย 11 คน เสรีรวมไทย 10 คน ประชาธิปัตย์ 1 คน ส.ส.เขต 8 คน โดยที่เหลือจะเดินทางมาในวันที่ 13 พ.ค.

ยอด 5 วัน ส.ส. รายงานตัว 338 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย เปิดรับรายงานตัวเป็น ส.ส. เป็นวันที่ 5 เป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากเป็นวันหยุด ตลอดทั้งวันที่ 12 พ.ค.ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. มี ส.ส.เข้ารายงานตัวเพียง 5 คน แบ่งเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ และพรรคพลังประชารัฐ 1 คน ได้แก่ นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม รวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-12 พ.ค. มี ส.ส.มารายงานตัวแล้ว 338 คน ส่วนการรายงานตัว ส.ส.วันที่ 13 พ.ค.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่จะนำ ส.ส.อนาคตใหม่หลายสิบคนเดินทางมายื่นเอกสารรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ รวมถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย จะนำลูกทีมมารายงานตัวเป็น ส.ส. และนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ จะเดินทางมารายงานตัวเป็น ส.ส.เช่นกัน

ปชช. ไม่โอเค กกต.คำนวณปาร์ตี้ลิสต์

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,187 คน เมื่อวันที่ 7-11 พ.ค. กรณีการรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขต แบบบัญชีรายชื่อและการเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ว. โดยกรณี กกต.ประกาศรับรองผล ส.ส.แบบแบ่งเขต 349 เขต จาก 350 เขต ร้อยละ 76.24 ไม่เห็นด้วย ควรประกาศให้ครบ 350 เขต มีหลายจุดพบข้อสงสัย ทำให้มองว่า กกต.ไม่เป็นกลาง ร้อยละ 23.76 เห็นด้วย ถูกต้องตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการประกาศรับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 75.40 ไม่เห็นด้วย มีหลายฝ่ายทักท้วงการคำนวณของ กกต.ไม่เป็นธรรม ควรให้ความสำคัญกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ร้อยละ 24.60 เห็นด้วย เป็นไปตามขั้นตอน

15 อดีต รมต. ไม่เป็นกลางโยกนั่ง ส.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ 15 รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปเป็น ส.ว. ร้อยละ 83.15 ไม่เห็นด้วย เหมือนเตรียมการไว้แล้ว เป็นผู้ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ดูแล้วไม่ค่อยเหมาะสม มีเพียงร้อยละ 16.85 เห็นด้วย ถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรม มีความรู้ความสามารถ จะได้ทำงานต่อเนื่อง และเมื่อถามว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กรณี คสช. เตรียมลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. นอกจากนี้ ร้อยละ 85 ไม่เห็นด้วยกรณี คสช.เตรียมลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. อยากให้เข้ามาช่วยเหลือทำประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่ได้เข้ามาเพื่อต้องการกุมอำนาจหรือหวังผลใดๆ ร้อยละ 15 เห็นด้วย เชื่อมั่นและไว้วางใจการทำงานของ คสช.

ปมการเมืองทำลายความสุขคนไทย

ด้านนายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “การเมืองปัจจุบันกับความสุขของประชาชน” จากกลุ่มตัวอย่างทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,295 คน เมื่อวันที่ 1-11 พ.ค. พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุการเมืองปัจจุบันทำลายความสุขของประชาชน มีเพียงร้อยละ 10.1 ระบุไม่ทำลาย ที่น่าเป็นห่วงร้อยละ 42.6 ระบุระดับความขัดแย้งทางการเมืองเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.5 ระบุเท่าเดิม ร้อยละ 17.9 ระบุลดลง ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองน่าจะตัดสินใจอะไรบางอย่างที่บริหารจัดการอารมณ์ของสาธารณชนได้ดี ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เพราะมาตรการกดความรู้สึกอัดอั้นของสาธารณชนจนไม่มีช่องระบาย อาจส่งผลทำให้ความขัดแย้งที่เปลือกของประชาธิปไตยลุกลาม ไปถึงแก่นความมั่นคงได้ จะเหนื่อยกันจนยากจะควบคุม

ไม่หวังมาตรการพยุง ศก.กลางปี

ด้านนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 1,254 หน่วยตัวอย่างในประเด็น “มาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562” เมื่อถามความคิดเห็นต่อมาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2562 เกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ ร้อยละ 41.31 ระบุว่าจะดีขึ้น ร้อยละ 40.43 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 18.26 ระบุว่า แย่ลง โดยเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 64.35 ระบุว่า ไม่ไปใช้จ่ายแน่นอน ร้อยละ 35.65 ระบุว่าไปแน่นอน ขณะที่มาตรการพยุงเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากให้มีเพิ่มเติมพบว่าร้อยละ 96.17 ระบุว่าไม่มีมาตรการใดที่อยากให้เพิ่มเติม ร้อยละ 3.67 ระบุว่าค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภค ร้อยละ 3.03 ระบุค่าใช้จ่ายสินค้าบริโภค ร้อยละ 2.39 ระบุค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในสัดส่วนที่เท่ากัน

นักศึกษากระตุก ส.ว.งดโหวตนายกฯ

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม startup people นำโดยนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย หรือบอล นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) ตั้งโต๊ะวางกล่องจดหมายเชิญชวนผู้สนใจร่วมเขียนจดหมายถึงสมาชิกวุฒิสภาเรียกร้องไม่ให้ร่วมโหวตเลือกนายกฯ โดยมีนายนคร มาฉิม สมาชิกพรรคเพื่อไทย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา (โบว์) แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเข้าร่วม นายธนวัฒน์แถลงเปิดกิจกรรม ปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่โหวตนายกฯร่วมกัน เขียนจดหมายกระตุกมโนสำนึก ส.ว.ว่ามาจากการสรรหาโดย คสช. ล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าทำนอง ส.ว.พวกพ้อง มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้เสียงมากในสภาฯ จึงขอเรียกร้องให้งดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกฯ ปล่อยเป็นหน้าที่ของ ส.ส.จากการเลือกตั้งของประชาชน ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปทุกภาคร่วมกันเขียนและส่งจดหมายมารวบรวมไปยื่นต่อ ส.ว.ในวันโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 13 พ.ค.เวลา 16.00 น. จะไปตั้งโต๊ะเขียนจดหมายถึง ส.ว.ที่บริเวณสวนลุมพินี

หวิดชุลมุนหญิงป่วนชูป้ายแซว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างกลุ่มกำลังรณรงค์ เกิดเหตุชุลมุนขึ้นเล็กน้อยเมื่อจู่ๆมีหญิงรายหนึ่ง นำกระดาษเขียนข้อความว่า “พรรคกางเกงในเก่า ถ้าไม่ยอมรับกติกาจะลงเลือกตั้งทำไม” มายืนอยู่ใกล้กัน เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเกรงว่ามวลชนจะไม่พอใจจึงกันตัวออกไปนอกพื้นที่


ไม่มีความคิดเห็น: