PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

คนยื่นยุบอนค.เคยพัวพันคดีสหกรณ์เครดิตคลองจั่น

เปิดโพรไฟล์ ‘ณฐพร โตประยูร’ คนยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ ล้มล้างการปกครองฯ ศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัย ตกเป็น 1 ใน 14 ผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงินขายที่ดินของ ‘ศุภชัย ศรีศุภอักษร’ วงเงิน 477 ล้าน โดนสอบร่วม ‘ธาริต-สีหนาท’ ปี’60 นั่งเก้าอี้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในบอร์ด ชพค. 

PIC nataponnnd 20 7 62 1 

ข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นเรื่องในศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้อง 2 คดีสำคัญ ได้แก่ กรณีคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอื่น และกรณีพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ (อ่านประกอบ : ศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัย ปม'บิ๊กตู่'ขาดคุณสมบัติ-'ธนาธร-อนค.'ล้มล้างการปกครองฯ)

สำหรับกรณีของพรรคอนาคตใหม่นั้น เป็นข้อกล่าวหาร้ายแรงถึงขั้น ‘ยุบพรรค’ โดยปรากฎชื่อของ นายณฐพร โตประยูร เป็นผู้ยื่นคำร้องแก่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย 

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ไทยโพสต์ออนไลน์ รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายณฐพร โตประยูร ถึงกรณีนี้ตอนหนึ่งว่า ตนไปยื่นร้องเรื่องนี้เงียบ ๆ ประเด็นที่ร้องมีหลายประเด็นทั้งพฤติกรรมการกระทำของหัวหน้าและแกนนำพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการเขียนในลักษณะไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นร้องต่ออัยการสูงสุด และทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโดยเตรียมที่จะยื่นเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีเบื้องหลังหรือไปรับงานใครมา รวมทั้งตนก็ไม่ได้ทำเพราะโกรธแค้นหรือมีปัญหาอะไรกับนายธนาธร นายปิยบุตรมาก่อนเพราะไม่เคยรู้จัก เพียงแต่เห็นว่าการกระทำของแกนนำและพรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะเอาระบอบประชาธิปไตยมาอ้าง แต่แท้จริงแล้วมีเจตนาที่ไม่มีดีกับสถาบันเบื้องสูง

หลายคนอาจไม่ทราบ หรือไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนว่านายณฐพร โตประยูร คือใคร ?

นายณฐพร โตประยูร คืออดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็น 1 ใน 14 ผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงิน กรณีการขายที่ดินนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่นฯ 477 ล้านบาท

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงข้อเท็จจริงให้ทราบ ดังนี้

ภายหลังมีการสอบสวนคดีทุจริตยักยอกเงินกว่าหมื่นล้านบาทภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จนมีการขยายผลไปถึงคดีฟอกเงิน มี 2 หน่วยงานเป็นผู้ตรวจสอบ ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หลังจากนั้นมีการทยอยนำทรัพย์สินที่ถูกยักยอกไปอยู่ในชื่อของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่นฯ กับพวก เพื่อขายทอดตลาดชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์คลองจั่นฯ

สำหรับกรณีการขายที่ดินของนายศุภชัย มูลค่ากว่า 477 ล้านบาท เกิดขึ้นในช่วงปี 2556 นายศุภชัย ได้ทำหนังสือถึงดีเอสไอขอให้รับรองการดำเนินงานของสหกรณ์คลองจั่นฯ ต่อมานายธาริต เพ็งดิษฐ์ (อธิบดีดีเอสไอ ขณะนั้น) ได้ลงนามรับรองความโปร่งใสในการบริหารงาน ต่อมานายกิตติก้อง คุณาจันทร์ ผอ.ศูนย์ปราบปรามการฟอกเงินความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ทำหนังสือถึงนายธาริต ขอให้อายัดทรัพย์สินของนายศุภชัย เป็นที่ดินใน จ.นครราชสีมา และ จ.ปทุมธานี ในคดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์ฯ และนายธาริตมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าว

ต่อมาช่วงเดือน ต.ค. 2556 คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงาน ปปง. มีมติให้คุ้มครองผู้เสียหาย ในคดีที่นายศุภชัย กับพวก ยักยอกทรัพย์สินสหกรณ์คลองจั่น โดยคณะกรรมการธุรกรรม แนะนำให้เลขาธิการ ปปง. (ขณะนั้นคือ พ.ต.อ.สีหนาท) ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ดำเนินการคุ้มครองผู้เสียหาย และนัดประชุมแสดงความยินยอมขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินจากการขายให้แก่สหกรณ์คลองจั่น โดยปฏิบัติตามระเบียบ ปปง. ว่าด้วยการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด พ.ศ.2544 โดยอนุโลม ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมีตัวแทนของสำนักงาน ปปง. และดีเอสไอ เข้าร่วมด้วย โดยตัวแทนสำนักงาน ปปง. คือ นายนพดล อุเทน ส่วนตัวแทนฝ่ายดีเอสไอคือ นายทรงพล บัวรอด เป็นผู้ลงนาม

สำหรับทรัพย์สินที่นำมาขายทอดตลาดคือ ที่ดินจำนวน 1,838 ไร่ (ที่ก่อนหน้านี้ถูกดีเอสไออายัดไว้) มีนายศุภชัยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด ขายให้กับบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด รวมเป็นเงิน 477,880,000 บาท สั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มีการสั่งจ่ายคืนสหกรณ์คลองจั่นแค่ 100 ล้านบาท แต่จ่ายคืนนายศุภชัยเป็นเงิน 249,784,489 บาท จากแคชเชียร์เช็คอย่างน้อย 6 ฉบับ ได้แก่ 

1.แคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย กระทรวงการคลังผ่านสำนักงานการคลังจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 19,877,327 บาท

2.แคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวน 100 ล้านบาท

3.แคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย นายธรรมนูญ โชติจุฬางกูร จำนวน 55,650,684 บาท

4.แคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย น.ส.พัชรา สงวนไชยกฤษณ์ จำนวน 27,344,500 บาท

5.แคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย นายสุรินทร์ ศีลพิพัฒน์ จำนวน 25,223,000 บาท

6.แคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 249,784,489 บาท

โดยในส่วนแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายคืนนายศุภชัยกว่า 249 ล้านบาทนั้น พบว่า มีการโอนแคชเชียร์เช็คให้กับนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายศรีราชา วงศารยางกูร) 60 ล้านบาท รวมถึงนิติบุคคลต่าง ๆ ในเครือข่ายนายศุภชัยอีกจำนวนหลายสิบล้านบาท ทั้งที่ไม่ปรากฏชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ?

นายณฐพร เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า เงินที่โอนให้ 60 ล้านบาท เพื่อเป็นค่านายหน้าดำเนินการในการขายที่ดิน (บริษัท อินเตอร์อลาย แอนด์ กฎหมาย) แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การทำสัญญาค่านายหน้าขายทิ่ดินดังกล่าว ทำขึ้นภายหลังมีการขายที่ดินไปแล้ว ?

ที่น่าสนใจคือ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่บริษัท พิษณุโลก เอทานอลฯ สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้กับสหกรณ์คลองจั่นฯ นายศุภชัย และบุคคลต่าง ๆ รวมกว่า 477 ล้านบาทนั้น คือวันเดียวกับที่นายธาริต ทำหนังสือถึง เจ้าพนักงานที่ดิน จ.นครราชสีมา สาขาสีคิ้ว ให้ถอนการอายัดที่ดินดังกล่าว

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2557 พบว่า มีแคชเชียร์เช็คถูกโอนให้กับนายณฐพร และนิติบุคคล, สหกรณ์ต่าง ๆ ในเครือข่ายนายศุภชัย รวมวงเงินหลายสิบล้านบาท (อ่านประกอบ : ขมวดเงื่อนปมซับซ้อน! การขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 477 ล.ชดใช้หนี้คดีคลองจั่นขมวดปมพิรุธค่านายหน้าขายที่‘ศุภชัย’ 60 ล.ก่อน‘กุนซือ’ปธ.ผู้ตรวจฯ ไขก๊อกย้อนคดีขายที่ดิน‘ศุภชัย’477 ล. ช่วง ‘สีหนาท’นั่งเลขาฯ ปปง.-ผอ.กองคดี1เซ็น?)

ภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอซีรีย์ข่าวชิ้นนี้ นำไปสู่การสอบสวนอย่างเข้มข้นของดีเอสไอ และ ปปง. มีข้าราชการระดับสูงในดีเอสไอ และ ปปง. ถูกสอบสวน และถูกคำสั่งมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 โยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และมีข้าราชการในดีเอสไอถูกสอบสวนทางวินัย และลงโทษไล่ออกจากราชการไปแล้วอย่างน้อย 2 รายด้วย เนื่องจากพบว่ามีเส้นทางการเงินไหลไปถึงวงเงินหลายสิบล้านบาท

สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาอย่างเป็นทางการจากดีเอสไอในกรณีนี้มีทั้งหมด 14 ราย ได้แก่ 1.นายศุภชัย (ไปแจ้งข้อกล่าวหาที่เรือนจำ) 2.นายณฐพร โตประยูร (อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน) 3. พันตรีหญิงนาฏยา มุตตามระ 4.พันโทอมร มุตตามระ 5.น.ส.อุมาดาห์ จำนงค์เขตต์ 6.นายรัฐสิทธิ์ โตประยูร (กรรมการบริษัท อินเตอร์อลายซ์ฯ ของนายณฐพร) 7.นายโชคอนันต์ ช้อยสุชาติ 8.นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล 9.บริษัท เอส ดับบลิว โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (นายสถาพรเป็นกรรมการ) 10.น.ส.พรพิมล คัทธมารถ 11.บริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีนายศุภชัยเป็นอดีตกรรมการ 12.นาย Kumar Latchman Sigh 13.นายสุลสิด ทะนะโสด 14.นางโบนาลิน ตระกูลทอง (อ่านประกอบ : เปิดตัว2ขรก.ดีเอสไอถูกแจ้งข้อหาคดีฟอกเงินขายที่ดินส.คลองจั่น 477ล.)

ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แบ่งเป็น ข้าราชการดีเอสไอ 4 ราย ได้แก่ นายธาริต นายกิตติก้อง พ.ท.อมร มุตตามระ และ พ.ต.หญิง นาฏยา มุตตามระ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงาน ปปง. 2 ราย ได้แก่ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ อดีตเลขาธิการ ปปง. และนายนพดล อุเทน อดีต ผอ.กองคดี 3 สำนักงาน ปปง. โดยถูกกล่าวหาว่า มีส่วนร่วมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการติดตามดูแล ปล่อยให้ผู้ต้องหาดำเนินการทำธุรกรรมด้วยตนเอง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย (อ่านประกอบ : ก่อนคุก 1 ปี! ย้อนวิบากกรรม‘ธาริต’ ถูกฟันยื่นบัญชีเท็จ-สอบวินัยขายที่ดินคลองจั่นฯ)

ความเคลื่อนไหวของนายณฐพร โตประยูร ภายหลังตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงินการขายที่ดินของนายศุภชัย ในชั้นการสอบสวนของดีเอสไอ ต่อมาในปี 2560 สำนักข่าวอิศราพบว่า นายณฐพร ปรากฏชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ด้วย 

ขณะที่นายณัฐพร เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเมื่อปี 2560 ว่า ในช่วงที่เข้ารับการคัดเลือกดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย บริหารเงินกองทุน ชพค. ยังไม่ได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่างเป็นทางการจากดีเอสไอ แต่ช่วงนั้นได้เข้าไปให้ถ้อยคำในฐานะพยานเนื่องจากมีบุคคลมาร้องเรียนกล่าวหาเท่านั้น แต่เพิ่งมาเป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ดังนั้นในช่วงเข้ารับการคัดเลือกจึงถือว่าไม่มีมลทิน และถือว่ายังเป็นแค่ผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ 

ต่อมาแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า นายณฐพร เตรียมลาออกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายดังกล่าว (อ่านประกอบ : ‘ณฐพร’ยังไม่ไขก๊อกผู้ทรงฯเงินกู้ ช.พ.ค.! ก.ศึกษาฯบี้ถ้าดึงเรื่องชงบอร์ด สกสค.ปลด)

ปัจจุบันไม่มีข้อมูลว่า นายณฐพร ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย ในบอร์ด ชพค. แล้วหรือไม่ ขณะที่คดีฟอกเงินดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอ

# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/


ไม่มีความคิดเห็น: