PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ผบ.ทบ. เผย ไม่คิดเล่นการเมือง ปัดถูกวางตัวเป็นนายกฯ ต่อจาก พล.อ. ประยุทธ์


ผบ.ทบ. เผย ไม่คิดเล่นการเมือง ปัดถูกวางตัวเป็นนายกฯ ต่อจาก พล.อ. ประยุทธ์

วันนี้ (21 ตุลาคม) ภายหลังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ยืนยันว่า เป็นความตั้งใจที่จะมาพบกับกรรมาธิการ แม้ว่าจะติดภารกิจที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงรีบบินกลับมา เพราะต้องการให้ความสำคัญกับคณะกรรมาธิการ รวมถึงงานฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติที่จะต้องทำงานร่วมกันต่อไปให้ได้
.
โดยบรรยากาศการชี้แจงเป็นไปด้วยดี และได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันหลายเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่คงไม่เรียกว่าปรับความเข้าใจ เพราะเข้าใจบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ ซึ่งมีข้อมูลและข้อห่วงใยหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อกองทัพที่จะนำไปพัฒนาปรับปรุงต่อไป
.
ส่วนประเด็นหารือที่จะนำไปปรับใช้ พล.อ. อภิรัชต์ เปิดเผยว่า มีการเสนอความคิดเห็นเรื่องภาคใต้ เรื่องเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ เรื่องยาเสพติด ซึ่งกรรมาธิการให้มุมมองและประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน ก็มีความเห็นพ้องต้องกันหลายประเด็น โดยหลังจากนี้จะมีการส่งที่ปรึกษาของกองทัพบกมาร่วมแลกเปลี่ยนกับกรรมาธิการอย่างต่อเนื่อง
.
เมื่อถามว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้จะทำให้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเมืองในทางที่ดีมากขึ้นหรือไม่ พล.อ. อภิรัชต์ ระบุว่า นักข่าวถามไม่ตรง เพราะบนเวทีบรรยายแผ่นดินของเราไม่ได้พูดถึงพรรคการเมืองใดแม้แต่พรรคการเมืองเดียว พร้อมกับหันไปถาม พล.ท. พงศกร รอดชมภู ประธานกรรมาธิการ ว่า “ใช่ไหมพี่” ก่อนย้ำว่า “ไม่ได้พูดเลย ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรคการเมืองหรือพูดถึงใครเลย แต่พูดไปตามบทบาทหน้าที่ เช่นเดียวกับ ส.ส. และกรรมาธิการ ที่มีบทบาทหน้าที่ บางครั้ง หน้าที่เป็นตัวกำหนดอีโมชันออกมา ผมมีบทบาทหน้าที่ด้านความมั่นคง ท่านมีบทบาทหน้าที่รักษาและเป็นเสียงให้กับประชาชนที่เลือกมา หลายๆ ที่ที่ผมเห็นในทีวี ในสภาฯ ท่านดุเดือด วิจารณ์ดุเดือด พอมาเจอก็คนละรูปแบบ เช่นเดียวกัน ท่านบอกผมดุ แต่พอมาเจอก็ไม่ใช่แบบนั้นเลย”
.
เมื่อถามว่า ถือเป็นสัญญาณดีที่จะทำให้การเมืองกับการทหารทำงานควบคู่กันต่อไปได้ พล.อ. อภิรัชต์ กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณดี หากไม่ใช่ก็คงไม่มา ส่วนกระแสข่าวที่มีชื่อเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ. ประยุทธ์ มองว่า ทุกฝ่ายควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะสถานะ สภาวะต่างๆ ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะยังรับราชการทำหน้าที่ ผบ.ทบ. อยู่ และอีกฐานะหนึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถเป็นไปได้ตามที่เป็นข่าวอยู่แล้ว แต่กรณีที่ผู้ใหญ่ได้เอ่ยถึง เพราะว่ามีการป้อนคำถามเข้าไป ก็เลยเป็นคำตอบต่อเนื่อง อย่าไปจริงจังหรือซีเรียสกับเรื่องดังกล่าว
.
เมื่อถามว่า ในอนาคตจะมีโอกาสมาเล่นการเมืองหรือไม่ พล.อ. อภิรัชต์ ระบุว่า “ผมเป็นเพื่อนกับนักการเมืองดีกว่า ผมไม่เล่นการเมือง ผมไม่เล่นกับนักการเมือง ก็ดีครับ”
.
ขณะที่ พล.ท. พงศกร กล่าวขอบคุณ พล.อ. อภิรัชต์ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเชื่อว่า สิ่งที่ได้พูดคุยจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย บางเรื่องก็เป็นเรื่องลับที่พูดออกไปก่อนไม่ได้ แต่สิ่งที่พบในวันนี้คือ ความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับผู้ปฏิบัติงานฝ่ายบริหาร และเชื่อว่า ในระยะยาวจะเกิดประโยชน์ต่อไป

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ส่อแววตกงานอื้อ แรงงานเจอลอยแพ-นศ.จบใหม่หางานยาก


ส่อแววตกงานอื้อ แรงงานเจอลอยแพ-นศ.จบใหม่หางานยาก

ปัญหาซ้ำซาก เด็กจบใหม่จ่อเตะฝุ่นเพิ่ม หลังสงครามการค้าฉุดส่งออก จับตาปี’63 ใกล้ชิด โดยนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย ยอมรับว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการจ้างงานลดลง ประกอบกับบางส่วนปรับมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นทั้งหุ่นยนต์และเทคโนโลยีต่างๆ เป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานโดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 2563 อีกประมาณ 5.24 แสนคน อาจต้องประสบปัญหาภาวะว่างงานสูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลคงต้องประคับประคองด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบริโภคภายในแทน


ทั้งนี้ยังมีผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปี 2562 มีโอกาสติดลบ 1.5-2% สะท้อนถึงการจ้างแรงงานของไทยที่เริ่มชะลอลงตามไปด้วย โดยเฉพาะตลาดแรงงานในภาคการผลิต การผลิตเพื่อส่งออก โลจิสติกส์ ค้าปลีกและค้าส่งที่ช่วงนี้ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน<


นายธนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการปิดโรงงานและการเลิกจ้างสูงขึ้น เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมามีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ปิดกิจการและเลิกจ้างคน รวมถึงภาคบริการก็มีการเลิกจ้างพนักงานจํานวนมากของบริษัทแห่งหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกโดยตรงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง แต่จะมากน้อยเพียงใดก็คงต้องติดตามใกล้ชิด


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไป คือ การเริ่มสู่ยุคดิจิตอลที่เน้นโทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้น, เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง, เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในวัฏจักรชะลอตัว และการว่างงานของไทยที่ต่ำเป็นอันดับ 7 จาก 181 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นอัตราว่างงานเฉลี่ย 1.1-1.2% แต่แรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบและมีการเข้าโครงการลาออกโดยสมัครใจ (เออร์ลี่ รีไทร์) จึงไม่นับว่ากลุ่มนี้เป็นคนว่างงาน ทำให้ไทยมีอัตราว่างงานในเกณฑ์ต่ำ

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562

งบกลาโหม

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ได้แก่งบของกระทรวงกลาโหม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าฝ่ายค้าน วิจารณ์ว่ารัฐบาลทุ่มงบประมาณในด้านความมั่นคง แล้วจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนฟื้นตัวได้อย่างไร

สอดคล้องกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่แสดงความเห็นว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในกรอบวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 80% ภาพที่ออกมาทำให้เห็นได้ว่า รัฐบาลจัดงบประมาณด้านเศรษฐกิจลดลง แต่จัดงบกลางรายการสำรองฉุกเฉินสูงกว่าปีที่ผ่านมา

“นักร้อง” เจ้าประจำที่ออกมาวิจารณ์เรื่องนี้อีกคนหนึ่ง ได้แก่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน โดยกล่าวว่า ที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่างบทหารไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่เป็นความจริง เพราะงบกลาโหมมีเพียง 8.59 หมื่นล้านเมื่อปี 2549 แต่ปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 2.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 271% หรือเกือบ 3 เท่า

ใกล้เคียงกับข้อมูลของนักวิชาการต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารที่ระบุว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งมาเลเซีย พม่า และกัมพูชา ต่างลดงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ แต่ประเทศไทยกลับเพิ่มงบการทหารถึง 17.5% นับแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา งบกลาโหมเพิ่มขึ้นกว่าพันล้านดอลลาร์

อาจถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ใน 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเต็มตัว รัฐบาลมีอำนาจที่จะใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างไรก็ได้ ไม่มีระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส เพราะรัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา รัฐบาลจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น

ตัวอย่างของการตรวจสอบเรื่องหนึ่ง คือการที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง จากสหรัฐอเมริกา 37 คัน (แถมฟรี 23 คัน) มูลค่า 2,480 ล้านบาท และเฮลิคอปเตอร์ 31 ลำ 12,000 ล้านบาท

ผู้ร้องเห็นว่า ซื้อแพงกว่าซาอุดีอาระเบีย และถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศย่ำแย่ ทั้งยังโดนทั้งภัยแล้งและอุทกภัย อย่าลืมว่าขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งและมีรัฐสภาแล้ว การใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆที่มาจากภาษีประชาชน จะได้ถูกตรวจสอบอย่างโปร่งใส การใช้เงินทุกบาทต้องคุ้มค่า.

การเมืองกับศาล

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “การเมืองกับการที่ผู้พิพากษายิงตัวเอง” ใจความว่า ในที่สุดการยิงตัวเองของผู้พิพากษากลายเป็นการเมืองไปโดยสมบูรณ์แล้ว ฝ่ายที่เห็นด้วยกับผู้พิพากษาดูเหมือนจะมีสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เป็นหลัก ฝ่ายไม่เห็นด้วยมีสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ บางคนออกมาให้ข่าวว่าเป็นเพียงการจัดฉากยิงตัวเอง ความสนใจว่ามีการแทรกแซงคำพิพากษาจนผู้พิพากษาขาดความเป็นอิสระจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลักไปแล้ว ความคิดในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมหายไปแล้วโดยสิ้นเชิง

“ความยุติธรรมในประเทศนี้ยังเข้าถึงยาก ราคาแพงและใช้เวลานานมาก จนบางคนที่ชีวิตต้องจับพลัดจับผลูเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม ต้องแบกรับเอาความอยุติธรรมไว้แนบอกเพื่อแลกกับอิสรภาพ หากเราคิดทุกอย่างเป็นการเมืองไปหมดการแก้ปัญหาที่ควรจะเป็นเกิดขึ้นไม่ได้ สุดท้ายประชาชนที่คลั่งไคล้การเมืองแบบไม่ลืมหูลืมตานั่นแหละจะตกเป็นเหยื่อ” นายนิพิฏฐ์กล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุอีกว่าการที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งเขาจะเชื่อหรือศรัทธาในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมันเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งเหมือนกัน เราจะไปขัดแย้งเรื่องนี้กันทำไม ตราบใดที่ดุลยพินิจในทางคดีของเขาไม่เอนเอียงไปทางพรรค การเมืองที่เขาสนับสนุนก็ไม่เห็นเป็นไร ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหลายประเทศ ผู้นำประเทศเป็นคนเลือกผู้พิพากษาศาลสูงด้วยตนเองแต่ไม่เห็นมีเรื่องความลำเอียงในทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นอย่ามองว่าการที่ผู้พิพากษาพกปืนเข้าไปในศาลทำให้เจตนาเรื่องนี้ถูกลดความสำคัญไป เหมือนคนกำลังถูกไล่ยิงแล้วขับรถหนีฝ่าไฟแดง อย่าเพิ่งประณามเขาเรื่องฝ่าไฟแดงเลย ช่วยเขาเรื่องที่เขาถูกไล่ยิงก่อนดีกว่า

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังประชุม ครม.ถึงเรื่องเดียวกันว่า การตัดสินคดีเป็นเรื่องของศาล เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครสามารถไปแทรกแซงได้ เลขาธิการศาลยุติธรรมได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่มีใครสามารถจะไปแทรกแซงกระ-บวนการของศาลได้ อันนี้เป็นเรื่องของศาล กระบวน การ ยุติธรรม ส่วนกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นในโซเชียล มีเดียเป็นเรื่องของโซเชียล วันนี้มีเยอะแยะอยู่แล้ว วิพากษ์วิจารณ์กันไปมาอยู่แล้ว แต่ตนยึดถือตามกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดทุกประการ

บทพระเอกกับผู้ร้าย

ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้”

โดยถ้อยคำตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ที่แสดงถึงความเข้มขลังและพลังแห่งความเป็น “ราชอาณาจักร” อย่างที่สัมผัสได้ในอารมณ์ความรู้สึกของความเป็น “คนไทย”

ในยามปกติจะไม่มีการ “ล่วงล้ำ” แม้แต่ ส.ส.ปากกล้าในสภายังไม่มีการอภิปรายแตะต้องเลย

นั่นย่อมสะท้อนถึง “เหตุการณ์ไม่ปกติ”

กับปรากฏการณ์ “มาตรา 1 รัฐธรรมนูญ” กลายเป็น “ปมร้อน” ชนวนไฟการเมือง ผลสืบเนื่องจากการที่หัวขบวน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นำทีมเดินสายจัดเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” แห่กระแส “รื้อรัฐธรรมนูญ”

ในอารมณ์ “กลอนพาไป” บวก “ใจสั่งมา” บนเวทีพูดไหลลามถึงชนวนปัญหาไฟใต้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 กระตุกขบวนการ “แบ่งแยกดินแดน” หูผึ่ง

แต่ที่ไวกว่าก็คือหน่วยฝ่ายความมั่นคงที่ประกบติดความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว เฝ้าระวังแบบ “คำต่อคำ” นำมาซึ่งการที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รับมอบอำนาจจาก พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4

ดำเนินคดีกับแกนนำพรรคฝ่ายค้าน พร้อมพวกรวม 12 คน ฐานยุยงปลุกปั่น เข้าข่ายคดีอาญามาตรา 116

จากที่เป็นฝ่ายรุกไล่ 7 พรรคฝ่ายค้านตกเป็น “จำเลยร่วม” ข้อหาหนักฉกาจฉกรรจ์ ตั้งหลักเปิดตำรารับมือกันแทบไม่ทัน ต้องแจ้งความกลับ “ตั้งการ์ด” ป้องปลายคางไว้ก่อน

และก็เหมือน “ขอนไม้” ลอยมาให้เกาะพอดิบพอดี ตามจังหวะที่พรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทยรีบโหนกระแส “คืนคำตัดสินให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ทีมนักรบไซเบอร์ค่ายสีส้มระดมปั่นข้อมูลโลกมโนโซเชียลโยงเหตุ “ท่านเปา” ยิงตัวเองกลางศาลยะลา

“โคตรเซียนการตลาด” สามารถดึงจังหวะที่ฝ่ายค้าน “เพลี่ยงพล้ำ” กลับมาสู่จุด “เดิมพันอันตราย” เข้าล็อกเกมวัดใจ ปั่นอารมณ์ “มวลชน” ปะทะทหาร

โดยเงื่อนไขสถานการณ์ “เหลี่ยมเขี้ยว” การเมืองชิงกระแสมโนโซเชียล เทียบกันกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ยังห่างกันหลายช่วงตัวนัก

ต่อให้ผู้นำเลิกอ่านหนังสือพิมพ์ไปขลุกอยู่ในออนไลน์ ก็ยากจะตาม “เกรียนคีย์บอร์ด” ทัน

มันจึงเป็นการฉลาดกว่า ถ้าสงครามนี้จะปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการกฎหมาย ตามเหลี่ยมที่ฝ่ายความมั่นคงล็อกทีมฝ่ายค้าน “ติดเงี่ยง” อาญามาตรา 116 ขยับตัวลำบาก

และก็ถือว่า “ถูกทาง” แล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ปรับยุทธศาสตร์ หันมากู้แต้มกู้เครดิตที่หายไปจากสไตล์ผู้นำหัวร้อน จุดเดือดต่ำ ตัดคะแนนภาวะผู้นำ ทำให้ “เรือเหล็ก” เป๋

ล่าสุดกับบท “เสี่ยสั่งลุย” ที่ “นายกฯลุงตู่” กดปุ่มปล่อยโปรโมชัน “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 หลังเฟสแรกทำเรตติ้งทะลุเป้า โกยแต้มให้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐเป็นกอบเป็นกำ

ประชาชนพอใจ “กดไลค์” ทีมรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ “ขุนคลัง” นายอุตตม สาวนายน แม้แต่พวกที่ต่อต้าน บรรดา “เกรียนคีย์บอร์ด” เองก็เถอะ ด่าไปก็แอบโหลดแอปฯรับสิทธิ 1,000 บาท กันทั้งนั้น

มาตรการกระตุ้นปากท้องเศรษฐกิจฐานรากที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม แบบที่กระทรวงการคลังส่งทีมลงสำรวจพื้นที่จริง ทั้งร้านค้าและนักท่องเที่ยว ร่วมใช้จ่าย “ชิมช้อปใช้” กันคึกคัก

สวนทางโพลแบบ “ไทยแลนด์โอนลี่” ที่ทำกันถี่ยิบแบบรายวัน รายสัปดาห์

เอาเป็นว่าแค่ “ชิมช้อปใช้” ยังกระตุกเรตติ้งขนาดนี้ ไม่นับคิวรอ “ปล่อยของ” ที่ทีมนายสมคิดยังมีอยู่ในมือ ทั้งโครงการ “บ้านล้านหลัง” โปรเจกต์ “พลังงานชุมชน” ฯลฯ

“ลุงตู่” กับยี่ห้อ “พลังประชารัฐ” ยังตีกินแต้มได้อีกหลายช็อต

และที่รอตัดริบบิ้นก็คือเมกะโปรเจกต์ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ที่ปั้นให้เป็นผลงานโบแดง

โดยมีการตั้งนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นคณะกรรมการฯขับเคลื่อนหลัก

แม้จะติดเหลี่ยมยึกๆยักๆ “เกมกวนน้ำ” เมกะโปรเจกต์รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน บีบเอกชนเร่งลงนาม แต่อีกทางก็เตะเจาะยางเขี่ยลูกเข้าเหลี่ยมยักษ์ก่อสร้างที่จ่อเสียบแทน

เทียบมาตรฐานความโปร่งใสยุครัฐบาล “ประยุทธ์ภาค 1” เป็นเครื่องหมายคำถามไปถึง “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กำกับกระทรวงคมนาคม

กระแสสื่อกระตุกสังคมจับตาตัวถ่วงอีอีซี

ต่างจากบทพระเอกที่ “หมอหนู” ขี่กระแสสื่อ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ตามขย่ม “มหาภัยพาราควอต” ต้อนทีมประชาธิปัตย์เข้ามุมอับ กดดัน “เสี่ยต่อ” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ออกอาการอึกๆอักๆ ตอบไม่ได้ ไปไม่เป็น สถานการณ์แบบที่สื่อเอ็นจีโอพาดหัว

“พาราควอต” ฆ่าแมลงสาบตายยกรัง.

ทีมข่าวการเมือง

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562

วัดกันที่ปากท้องประชาธิปไตย

ไม่ใช่ “สายเอนฯ” ให้รัฐบาล เจ้าของฉายา “สวยแต่เจ็บ” อย่าง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย รับงานคิวนี้แบบจัดเต็ม ล่าสุดเปิดบิ๊กอีเวนต์ทุกวันพุธ “คุยกันหน่อย”

ระดมทีมหางเครื่องวีไอพี ตั้งโต๊ะตลาดนัดกลางคืน ไลฟ์สดถล่มรัฐบาลเป็นชุด ทั้งมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ทั้งคิวแก้รัฐธรรมนูญ ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เพิ่งปฏิเสธไม่รับเป็นดรัมเมเยอร์ ควงคทา ถือธงนำแก้กติกาใหญ่

ค่อยสมราคาแม่ทัพหญิงแกร่งขั้วฝ่ายค้าน รสชาติกลมกล่อมเหมือนขนมเปี๊ยะแบรนด์แม่มดที่เจ๊โปรดปราน

เมื่อจับทีท่า น่าจะถึงเวลาเร่งเครื่องก่อนศึกใหญ่ โปรแกรมหน้าที่จะมาถึง ส่อแววเดือด ทั้งคิวถกงบฯวันที่ 17 ต.ค. เปิดสภาฯ พ.ย. นำร่องด้วยญัตติตั้งคณะ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ต่อด้วยที่ล็อกเป้า

จองกฐินล่วงหน้าก่อนหมดปีพลาดโควตา กับรายการใหญ่ซักฟอกรัฐบาล

ตรวจจับฝุ่นควันขนาดจิ๋ว พีเอ็ม–ไพรม์มินิสเตอร์อย่าง “บิ๊กตู่” รู้ดี เป็นเป้าล่อแน่

ยิ่งถ้าประเมินทีท่า ตรวจแถวแล้ว ฝ่ายค้านแปรรูปขบวนมาแน่นปึ้กขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่แท็กทีมกันจัดอีเวนต์ตามหัวเมือง ในนามฝ่ายค้านสัญจร ตะลอนพบประชาชน ค่อยๆสุมฟืนก่อไฟ เลี้ยงเชื้อให้เพลิงลุกโชนตรงเวลาพีก

ขมวดปมยามนี้มี 2 ประเด็นหลัก วางคอนเซปต์มุ่งปมรัฐธรรมนูญ และเศรษฐกิจปัญหาปากท้อง

ส่วนคิวขยายแผล มีมวยไฟเตอร์อย่างค่ายเสรีรวมไทย จัดใหญ่กันอยู่

คิวแรกที่แบ่งงานให้เป็นหัวจักรนำร่อง กับการเดินสายรณรงค์ปลุกกระแสแก้รัฐธรรมนูญ โดยทีมสีส้ม พรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะเรื่องแหลมๆชวนเสียว ค่ายไม่กลัวร้อนจุดพลุนำร่องเป็นระยะๆ

โดยมีกองหนุนชั้นดี อย่างพรรคประชาชาติ ที่วันนี้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา–พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เป็นคีย์แมนที่โชว์ฟอร์มได้ดี ทั้งบี้ปมถวายสัตย์ฯ ลากเข้าแง่ “จริยธรรม” มาจนถึงคิวแก้รัฐธรรมนูญ

2 ขุนศึกประชาชาติ โดยเฉพาะอดีตประธานสภาฯ “วันนอร์” เบิ้ลเครื่องแรง

แน่นอน รายการนี้ถึงที่สุดตามเงื่อนไขกติการัฐธรรมนูญ หากเป้าไปถึงขั้นโละรื้อทั้งฉบับ น่าจะยังเป็นเรื่องยาก อ่านสัญญาณจากผู้นำที่ไม่รับลูก แน่นอนองค์ประกอบสำคัญอย่างเสียง ส.ว.ก็คงไม่แหกโผ

แต่คิวนี้ก็เป็นการกรีดแผลไว้รอให้ติดเชื้อ

ในอีกประเด็นที่วางเป้าไว้คือ ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปากท้องของชาวบ้าน ขั้วฝ่ายค้านเริ่มดาหน้ากันมาเป็นแผง ประเมินจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทย โยงภาวะเศรษฐกิจโลก

กราฟตัวเลขต่างๆยากจะผงกหัวในเร็ววัน

โอกาสดีนาทีทองของฝ่ายค้าน ที่วันนี้แม้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล กระทรวงการคลัง จะพยายามเปิดมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคของประชาชน เพื่อติดเครื่องยนต์ที่ยังพอมีแรงหมุน เป็นการอัดฉีดระบบเศรษฐกิจฐานราก คู่ขนานกับการเร่งสปีดการลงทุนภาครัฐ ในเมกะโปรเจกต์ รถไฟ รถไฟฟ้า ถนนหนทาง ฯลฯ

ขั้วฝ่ายค้านก็อ่านทางได้ ไม่ปล่อยฟรีให้ “ประชารัฐ” โดย “ลุงตู่” มาแทน “ประชานิยม” ของ “นายใหญ่”

ทั้งตัวขายค่ายสีส้ม กดแต้มคะแนนมาตรการชิมช้อปใช้ชนิดต่ำเตี้ยเรี่ยดิน วิพากษ์วิจารณ์ถึงผลลัพธ์การแจกเงินแบบไม่ให้ราคา ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่จิ๊บจ๊อย

แล้วก็เรียกว่า ขยับโดยพร้อมเพรียง นอกจากมือเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ที่มีอยู่แต่หาตัวยาก จน “เจ้าแม่ กทม.” ต้องอาศัยตัวช่วยพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งล่าสุดได้อดีตขุนศึกขุนพล มาเป็นตัวช่วย

การกลับมาของมวยหมัดหนักอย่าง “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรัฐมนตรีตัวหลักเครือข่ายเพื่อไทย เสริมกับมวยหมัดแย็บ บ็อกเซอร์เจ้าเก่า “พิชัย นริพทะพันธุ์”

หรือแม้แต่ “ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ” อดีตกุนซือทีมเศรษฐกิจในไทยรักไทย ที่กลับมาเป็นตัวจี๊ด ไล่สวนหมัด โพสต์ป้องทีมอนาคตใหม่ สวนหมัดทีมกระทรวงการคลัง ในปม “ใช้สมองส่วนไหนคิด” ตั้งคำถาม “โครงการอะไรยุ่งยาก เงิน 1 พัน ต้องรีบเที่ยวใช้เงินใน 14 วัน”

ในจังหวะที่ต้องวัดกัน ขั้วฝ่ายค้าน–รัฐบาล ในปมเศรษฐกิจ และคิวรื้อรัฐธรรมนูญ

เศรษฐกิจ–ประชาธิปไตย ปากท้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่สำคัญเหมือนๆกัน

อยู่ที่ชาวบ้านจะเลือกมุมไหน.

ทีมข่าวการเมือง