PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

แฉเอกสารศาลปกครองเรืองไกรฟ้องชัช


เปิดคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 748/2555 มัด เรืองไกร มั่วข้อมูล เหมาคำร้องของตัวเองกล่าวหา ชัช พ้นตำแหน่ง ตุลาการ เป็นคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่วินิจฉัย แค่ มีอำนาจพิจารณาคดีได้ และ ใครมีสิทธิฟ้องคดีเท่านั้น

จากกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.สรรหา ออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะ โดยหยิบยกคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 748/2555 มาอ้างว่า คำสั่งดังกล่าวสรุปข้อเท็จจริงว่า นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พ้นตำแหน่งตุลาการด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2554 จึงไม่อาจเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อีก เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 208 แต่คณะตุลาการฯ อีก 8 คน กลับยอมให้ นายชัช เข้าเป็นตุลาการฯ ได้ต่อไป ทั้งที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ โดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาข้อเท็จจริง และอ่านคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2556 แต่ไม่สามารถมีคำสั่งได้ เนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยได้พิจารณาไว้ว่า ผู้เสียหายคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันเองนั้น ถือเป็นการบิดเบือนคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมิได้มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะความเป็นตุลาการของนายชัช ตามที่นายเรืองไกรกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้จากการตรวจสอบคำสั่งศาลปกครองสุงสุดดังกล่าวพบว่า เป็นคดีที่ นายเรืองไกร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการอุทธรณ์คดีหลังจากที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา

โดยในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดฉบับนี้ได้บรรยายถึงคำฟ้องของนายเรืองไกร ที่กล่าวอ้างว่า การลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญของนายชัช ชลวร เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2554 มีผลให้ต้องพ้นตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย และในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ที่มีมติเลือกนายวสันต์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นการร้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นายเรืองไกร ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ เพราะผู้เสียหายคือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งยกคำร้องของนายเรืองไกร ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น

จะเห็นได้ว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เพียงแต่วินิจฉัยว่าศาลปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีได้และใครคือผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีได้เท่านั้น ไม่ได้มีส่วนใดที่พิจารณาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำร้องของนายเรืองไกร ที่กล่าวหาว่า นายชัช พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นับจากวันที่ลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่นายเรืองไกรนำมากล่าวอ้างแม้แต่น้อย การที่นายเรืองไกรนำเรื่องดังกล่าวมาขยายผลจึงเป็นการนำความเห็นตามคำร้องของตัวเองมาแอบอ้างว่าเป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 748/2555
//////////
ที่มา FB สายตรงภาคสนาม
29/4/2556

ไม่มีความคิดเห็น: