PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

องค์กรยุคใหม่กับวายเจเนอเรชั่น


 25 เม.ย 2556 เวลา 15:23:49 น.
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย บุญชัย พงศ์รุ่งทรัพย์ เอพีเอ็ม กรุ๊ป

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ส่งผลให้องค์กรและสถาบันทางเศรษฐกิจต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโลกที่สามารถสื่อสารเชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม สังคม และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในโลกยุคไอที หรือกลุ่มคนที่เรียกว่า "เจเนอเรชั่นวาย" (Generation Y) ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้วิถีแห่งการพัฒนาองค์กรไม่อาจหยุดนิ่ง เพื่อก้าวทันโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้วิเคราะห์แนวโน้มขององค์กรในอนาคต ปี 2020 ออกมาทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่

1.การเพิ่มขึ้นของเจเนอเรชั่นวาย (ช่วงอายุ 13-32 ปี หรือผู้ที่เกิดปี 2523-2543) ที่จะเติบโตและเข้าสู่ระบบขององค์กรต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มเจเนอเรชั่นวายกับกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X) รวมถึงกลุ่มเบบี้บูเมอร์ (Baby boomer) ที่มีอยู่เดิมในองค์กร

2.การปรับเปลี่ยนการสื่อสารทั้งในองค์กรและระหว่างองค์กร เนื่องจากวัฒนธรรมที่หลากหลายของพนักงานและคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นจากหลากหลายประเทศ 3.คนทำงานในโลกยุคใหม่ ใช้ชีวิตเสมือนทำงานอยู่ตลอดเวลา (Nine to Five) ไม่สามารถแยกชีวิตส่วนตัว (Life) ออกจากการทำงาน (Work)

4.การทำคุณประโยชน์คืนสู่สังคม (CSR) องค์กรธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคล และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตอบแทนประโยชน์แก่สังคมมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากองค์กร

5.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้ Social Media ทรงพลังยิ่งขึ้น จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร และพนักงานในองค์กร รวมถึงกลุ่มคนที่จะเข้ามาเป็นบุคลากรในอนาคต ได้แก่ กลุ่มคนในเจเนอเรชั่นวาย องค์กรจำเป็นต้องมีความเข้าใจในพฤติกรรมและความต้องการของคนกลุ่มนี้
เพื่อให้การสื่อสารภายในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้องค์กรมีศักยภาพในก้าวสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต

สิ่งแรกที่องค์กรยุค 2020 จะต้องทำให้สำเร็จคือการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรเอง (Connect People with People) ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของคนในองค์กร เครื่องมือ ช่องทาง และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่บุคลากรในองค์กรใช้ในการสื่อสาร เพราะจะทำให้องค์กรสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับบุคลากรได้อย่างแท้จริง

นอกจากนั้นผลสำรวจยังพบอีกว่าการใช้ชีวิตและการทำงานของบุคลากรของคนในเจเนอเรชั่นวาย จะมีการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างใกล้ชิด ก่อให้เกิดบุคลิกพิเศษที่เรียกว่า "I-workers" คือ

1.การมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่า 3 ชิ้นขึ้นไป

2.สถานที่ทำงานไม่จำกัดอยู่แต่ออฟฟิศ อาจทำงานจากหลากหลายสถานที่ ซึ่งมากกว่า 3 สถานที่

3.มีแนวโน้มที่จะใช้แอปพลิเคชั่น (application) ในการทำงานมากกว่า 7 แอปพลิเคชั่น ผู้บริหารในทุกระดับจึงต้องมีความเข้าใจถึงพฤติกรรมของบุคลากรกลุ่มนี้ เพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารและถ่ายทอดอุดมการณ์ขององค์กร

องค์กรในอนาคตไม่อาจละเลยการพัฒนาระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและบุคคล (Connect People and Organization) ด้วยการผ่านสิ่งสำคัญ 3 ประการ คือ

1.วิสัยทัศน์ (Vision) องค์กรที่ดีต้องสร้างแรงขับเคลื่อนหรือกระตุ้นให้พนักงานก้าวไปตามวิสัยทัศน์ขององค์กร รวมทั้งเข้าถึงคุณค่าและวัฒนธรรมขององค์กร

2.คุณค่า (Values) นอกจากองค์กรจะต้องทำให้บุคลากรรับรู้ถึงคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในองค์กรแล้ว แรงขับเคลื่อนขององค์กรจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในองค์กรด้วย

ขณะที่คุณภาพของงานและชีวิตไม่ถดถอย สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและชีวิตที่มีความสุขไปพร้อมกัน (Integrated Life and Work)

3.ความกระชับ รวดเร็ว (Velocity) บุคลากรในยุค 2020 ต้องการความรวดเร็วจากการทำงาน (end-to- end process) ต่อต้านระบบงานที่อาศัยการอนุมัติหลายขั้นตอน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งนี้การทำงานจะมีลักษณะเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้น การตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการบริหาร ไม่สามารถแยกทำงานตามฟังก์ชั่นกล่าวคือทุกขั้นตอนจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันตลอดเวลา ไม่สามารถดำเนินงาน โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของฟังก์ชั่นอื่น

โดยสรุปองค์กรในยุค 2020 จะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) เพื่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น

ขณะที่องค์กรไม่สามารถมุ่งหวังเพียงผลประโยชน์ขององค์กรเท่านั้น หากแต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคม รวมถึงการลดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เร่งสร้างองค์กรให้เอื้อต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของบุคลากรไปพร้อมกับการสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน ศึกษา และเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเจเนอเรชั่นวายที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต

ทั้งนั้นเพื่อลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมของบุคคลภายในองค์กรที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้นำในทุกระดับ (Leader) มีส่วนสำคัญในการลดช่องว่างดังกล่าว รวมถึงการสร้างศรัทธาที่มีต่อตัวผู้นำและองค์กร เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพขององค์กร ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรในโลกยุค 2020 สามารถก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น: