PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทบาทสื่อกับการหายตัวของสองจอมแฉ

บทบาทสื่อกับการหายตัวของสองจอมแฉ

บทบาทสื่อกับการหายตัวของสองจอมแฉ : บทบรรณาธิการประจำวันที่14มิ.ย.2556


               ในช่วงนี้เกิดเหตุการณ์การหายตัวอย่างมีเงื่อนงำของคนที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลถึง 2 รายซ้อน แม้จะเกิดคนละประเทศคนละทวีป แต่ก็มีเงื่อนปมชวนสงสัยไปในทิศทางเดียวกันว่าอาจเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลทางการเมือง รายแรกก็คือการหายตัวอย่างลึกลับของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ ก่อนจะพบศพในเวลาต่อมา โดยตำรวจพยายามโน้มน้าวให้สังคมมีความเห็นคล้อยตามว่าถูกคนขับรถอุ้มฆ่าเพื่อชิงทรัพย์หรือเพราะความแค้นส่วนตัว

               ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีการข่าวการหายตัวอย่างลึกลับของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่เทคนิคของสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ซึ่งกลายเป็นขอมดำดินเพื่อความปลอดภัยในชีวิตหลังจากเช็กเอาท์จากโรงแรมแห่งหนึ่งในฮ่องกงที่ใช้เป็นที่กบดานนานนับสัปดาห์ เมื่อมีสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่าวอชิงตันพร้อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำตัวอดีตซีไอเอผู้นี้กลับประเทศ ทั้งในทางแจ้งด้วยการขอให้เขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันส่งตัวกลับประเทศในข้อหาคุกคามความมั่นคงของประเทศ หรืออาจข้อหาร้ายแรงกว่านั้นคือทรยศต่อประเทศชาติ หรือในทางลับด้วยการอุ้มจะเป็นอุ้มฆ่าหรือลักพาตัวก็แล้วแต่

               แม้จะเกิดต่างกรรมต่างวาระ แต่การหายตัวของนายเอกยุทธและนายสโนว์เดนกลับมีอะไรคล้ายคลึงกันหลายประการด้วยกัน ที่น่าสนใจก็คือทั้งสองคนล้วนแต่เป็นจอมแฉที่กำลังเป็นที่หมายหัวของรัฐบาลหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมือง เว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ของนายเอกยุทธมุ่งเปิดโปงเรื่องส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่กรณี ว.5 โฟร์ซีซันส์ ไปจนถึงกรณี โฟร์ซีซันส์ 2 รวมทั้งตามเปิดโปงระบอบทักษิณอย่างไม่ลดละ นอกเหนือจากเตรียมกระชากหน้ากากนักการเมือง-ข้าราชการของไทยบางคนว่าเป็นจอมเลี่ยงภาษีและฟอกเงิน ส่วนนายสโนว์เดนยอมเผยตัวว่าเป็นแหล่งข่าวของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษที่กำลังขุดคุ้ยโครงการลับสุดยอด “พริซึม”ว่าทำเนียบขาวได้ไฟเขียวให้หน่วยข่าวกรองระดับชาติจารกรรมข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันด้วยการเจาะเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีของสหรัฐ 9 แห่ง ตลอดจนดักฟังโทรศัพท์ของประชาชนกว่า 10 ล้านคน ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์

               การกระทำของทั้งสองคนถือว่าเป็นไปตามกฎหมายที่รับประกันสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าโปร่งใสมากน้อยเพียงใด แต่กลับถูกคุกคามจากอำนาจมืดที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของคนที่มีอิทธิพลทางการเมือง ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สื่อได้ลุกขึ้นทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งไม่อยู่ภายใต้การชี้นำของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปกป้องไว้ซึ่งสิทธิส่วนบุคคลหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อไทยส่วนใหญ่ต่างนำเสนอความเห็นแย้งกับตำรวจและมุ่งเจาะประเด็นว่าอาจเป็นเรื่องของการสมคบคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่เสียประโยชน์จากการเปิดโปงของนายเอกยุทธ ส่วนสื่อตะวันตกช่วยกันปกป้องการกระทำของนายสโนว์เดนว่าไม่ขัดต่อกฎหมายความมั่นคงของประเทศ เป็นการเปิดโปงเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น: