PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำไมสื่อตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้

Published on Thu, 09/26/2013 - 17:21

“คุกคามสื่อ” “แทรกแซงสื่อ” ถือเป็นเรื่องร้ายแรงในระบอบประชาธิปไตย เพราะสื่อเป็นกลไกสำคัญไว้ตรวจสอบอำนาจ รัฐประชาธิปไตยต้องให้หลักประกันเสรีภาพสื่อ
แต่กลับกันถ้า “สื่อคุกคาม” “สื่อแทรกแซง” บ้างล่ะ มีหลักประกันอะไรให้บุคคลที่ถูกคุกคาม มีหลักประกันอะไรให้ประชาชน และมีหลักประกันอะไรให้ระบอบประชาธิปไตย
ก็ฟ้องสิ สื่อมักบอกเช่นนั้น แต่เอาเข้าจริงสื่อก็มีกลเม็ดในการนำเสนอข่าวให้ผู้อื่นเสียหายโดยไม่ถูกฟ้อง การกำกับควบคุมด้วยคำว่า “จรรยาบรรณ” องค์กรวิชาชีพสื่อก็กีดกันขอตรวจสอบเอง
เวลาพูดถึงการ “คุกคามสื่อ” เรามักนึกภาพนักข่าวหนุ่มสาวหน้าตาใสซื่อ บ้องแบ๊ว ผู้อาสามาทำหน้าที่ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ หรือไม่ก็นึกถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์, อิศรา อมันตกุล, อารีย์ ลีวีระ, บ็อบ วูดเวิร์ด, คาร์ล เบิร์นสไตน์ ฯลฯ แต่ไม่ได้นึกถึงคอลัมนิสต์ตีกอล์ฟกับนักการเมือง นักข่าวเศรษฐกิจรับของขวัญฝ่ายการตลาด นักข่าวอาชญากรรมคุมผับ หัวหน้าข่าวกีฬาเป็นหัวเบี้ยให้นายกสมาคมกีฬา หรือนักข่าวบันเทิงที่แยกไม่ออกระหว่างการทำข่าวกับลงข่าวแจกของสถานีโทรทัศน์
รวมทั้งไม่ได้นึกถึงสื่อที่ยุให้ทำรัฐประหาร หรือให้ศาลล้มรัฐบาลอยู่ยิกๆ
สถานะของสื่อเปลี่ยนไปแล้ว สื่อกลายเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ในสังคม หรือพูดแง่ดีก็เป็น “ผู้ทรงเกียรติ” ไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดา โดยเฉพาะช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลังพฤษภา 35 สื่อตั้งรัฐบาลหน้าจอทีวี สื่อมีบทบาทชี้นำสังคม ชี้ความอยู่รอดของรัฐบาล มีอิทธิพลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
แน่นอน สื่อมีบทบาทสำคัญ เป็นผู้ตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย แต่สื่อก็สั่งสมอิทธิพล ทั้งด้านดี ด้านร้าย ในแง่องค์กร สื่อกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ ในแง่บุคคล เราได้เห็นนักข่าวฆ่ากันตายเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว
บทบาทสื่อยิ่งสับสนในวิกฤติ 7 ปี สื่อไล่ทักษิณ เริ่มต้นด้วยจุดยืนประชาธิปไตย ไล่รัฐบาลอำนาจนิยม แต่แล้วองค์กรวิชาชีพสื่อกลับร่วมเรียกร้อง “นายกพระราชทาน” ถลำไปสนับสนุนรัฐประหาร เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สื่อกระแสหลักยึดเอาการ “โค่นระบอบทักษิณ” เป็นภารกิจชั่วชีวิต สนับสนุนรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ โดยไม่แยแสหลักประชาธิปไตย เพราะยึดมั่นว่า “ทักษิณมันเลว” ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มแม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ใครเห็นต่างคือพวกทักษิณ ใครยึดหลักการประชาธิปไตยคือพวกทักษิณ ปลุกความเกลียดชังเสื้อแดง สนับสนุนการปราบปราม สนับสนุนการละเมิดสิทธิเสรีภาพ
สื่ออาจไม่ยอมรับ อาจยังยืนกรานว่าตัวเองต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แต่อย่างน้อยสื่อก็กลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” เป็นผู้เล่น ไม่ได้เป็นผู้สังเกตการณ์ หรือ “เป็นกลาง” อีกต่อไป
ฉะนั้น บริบทของคำว่า “คุกคามสื่อ” จึงเปลี่ยนไป แม้ยังต้องปกป้องสื่อว่ารัฐจะต้องไม่ใช้อำนาจ ไม่ใช้ความรุนแรงคุกคาม แต่การที่ประชาชน หรือแม้แต่นักการเมือง แสดงความไม่พอใจสื่อ ก็ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่เป็นประชาชน อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงออกของ “ผู้ด้อยโอกาส” ที่ไม่พอใจการทำหน้าที่ของ “ผู้ทรงเกียรติ” หรือ “บุคคลสาธารณะ” การที่มวลชนไปประท้วงสื่อ ถือป้ายด่าทอไม่ต่างจากนักการเมือง จึงไม่แปลกอะไร ขอเพียงอย่าทุบรถ เผารถ แบบอันธพาลในม็อบสวนยาง นั่นละ คุกคามสื่อจริงๆ
รัฐแทรกแซงจริงหรือ
อ.รุจน์ โกมลบุตร แห่งวารสารฯ ธรรมศาสตร์ กล่าวถึง “10 วิธีแทรกแซงสื่อ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์” พาดพิงหนังสือพิมพ์ X ซึ่ง “ข่าวสด” เขียนตอบโต้ แต่โต้แบบร้อนท้องลงร่องลงคู ซ้ำพาดพิงผม เลยขอใช้สิทธิพาดพิง (ฮา)
อันที่จริงผมอ่านแล้วค่อนข้างแปลกใจ เพราะที่ผ่านมา อ.รุจน์พยายามแสดงบทบาท “กลางๆ” เตือนสติสื่อในบางครั้ง ไหงครั้งนี้กระโดดลงโคลนเสียเอง น่าเศร้า เพราะสังคมกำลังต้องการคนมีสติมีเหตุผลวิจารณ์ทั้งสองฝ่าย
หรือจะเป็น “โรคกลัวทักษิณ” กำเริบ เร็วๆ นี้ผมเจอคนที่เคยร่วมกับพันธมิตร แล้วพยายาม Reposition แต่ตอนนี้กลับไปเป็นคนเดิมอีกแล้ว พูดไปพูดมาตาโตเท่าไข่ห่าน “ระบอบทักษิณ” กำลังจะกลับมา ถ้า 3.5 แสนล้าน 2 ล้านล้านผ่าน มันจะฮุบทั้งประเทศ
เรียนว่าผมไม่ได้อยากโต้ อ.รุจน์ แค่กำลังคันปากอยากเขียนเรื่องที่สื่อโวยว่าถูกคุกคาม อ.รุจน์รวบรวมมาให้พอดี เพียงแต่ 10 ข้อของ อ.รุจน์ มีหลายข้อเหลวไหลเลอะเทอะ มีสาระให้ถกแค่บางข้อ
เลอะประเด็นแรก เอา กสทช.มาปนกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์กำกับดูแลเนื้อหารายการ คือความพยายามปิดกั้นเสรีภาพโดยฝ่ายจารีตนิยม สื่อสีไหนก็ต่อต้าน อ.รุจน์น่าจะรู้ กสทช.มีที่มาอย่างไร เกี่ยวข้องกับใคร เรื่องที่ กสทช.ฟ้อง อ.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ก็มาจากประกาศขยายเวลาคืนคลื่นความถี่ ซึ่ง True ได้ประโยชน์ ถ้าเชื่อว่า AIS ยังเกี่ยวข้องกับทักษิณ ประกาศ กสทช.ทำให้ AIS เสียประโยชน์ด้วยซ้ำ
เลอะประเด็นที่สอง ผมหัวเราะท้องแข็ง ที่บอกว่าข่าวเณรคำเป็นความพยายามสปินข่าว เบี่ยงเบนความสนใจจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเอาไปเทียบเรื่องทักษิณซื้อหุ้นลิเวอรฺ์พูล ตกลงทักษิณซื้อเณรคำไปแล้วใช่ไหมครับ อ.รุจน์พยายามเทียบหนังสือพิมพ์ X กับเดลินิวส์ แต่ผมเห็นผู้จัดการ แนวหน้า โพสต์ทูเดย์ เนชั่น คมชัดลึก ฯลฯ ก็เล่นข่าวเณรคำกันครึกโครม เล่นกันทุกสี
เลอะข้อที่สาม พฤติกรรมบางอย่างไม่ใช่การแทรกแซงสื่อ เช่น หลีกเลี่ยงการอธิบาย ยิ่งลักษณ์ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ คุยเรื่องยากๆ ก็เดินหนี เอ๊ะ นักการเมืองที่ไม่แทรกแซงสื่อต้องจ้อออกบลูสกายทุกวันหรือครับ นี่มันความถนัดแต่ละคน คนพูดไม่เก่งก็บอกว่าแทรกแซงสื่องั้นหรือ
ผมคิดว่านี่เป็นอาการของคนที่ถูก “สื่อคุกคาม” เสียมากกว่า เพราะพอให้สัมภาษณ์ ก็ว่า “ท่องบท” หรือ “อีโง่”
ในมุมกลับอยากถามด้วยซ้ำว่า ทำไมสื่อต้องเอาคำพูดอภิสิทธิ์ในบลูสกายมาเป็นข่าวแทบทุกวัน อภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์สื่อตัวเอง ไม่มีการซักไซ้ มีแต่ถามชง เป็นข่าวที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าเป็นประเด็นสำคัญ สื่อก็ต้องไปซักซ้ำที่พรรคหรือที่รัฐสภา (ถ้าไม่สำคัญก็โยนถังขยะไปบ้าง)
พฤติกรรมรัฐบาลบางข้อไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ใช่แทรกแซงสื่อ เช่น โกหก! ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนไม่โกหก เพียงแต่ใครโกหกได้ถูกใจสื่อ เมื่อเขาโกหก สื่อก็ตามจับผิด แล้วเขาก็เสียหน้า เสียเครดิต กิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็เสียเครดิต นี่แทรกแซงสื่อตรงไหนครับ
ข้อที่มีสาระผมก็เห็นด้วย แต่พูดให้ตรงหน่อย “การสร้างความหวาดกลัวให้กับแหล่งข่าว” ที่จริงคือปิดปากข้าราชการ ซึ่งมีมาทุกรัฐบาล และไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับสื่อเท่านั้น
ความรุนแรงและความรับผิดชอบ
อ.รุจน์พูดเรื่องความรุนแรง ผมเห็นด้วยว่า “รัฐไม่สามารถยุติความรุนแรงกับนักข่าว” แต่ต้องให้น้ำหนักที่ถูกต้อง ไม่ใช่อย่างบางคนปักใจเชื่อทันทีว่าเกิดอะไรกับสื่อคือฝีมือรัฐบาล ความรุนแรงในยุคสังคมแยกขั้ว สื่อแยกข้าง เกิดได้จากผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่ายและผู้สนับสนุน เพียงแต่ขั้นต้น รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในฐานะดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชนทุกคน
ความรุนแรงต่อสื่อถ้าแยกเป็นกรณี จะเห็นว่ามีที่มาได้หลากหลาย เช่นยิงป้อมยามไทยรัฐ เหตุเกิดหลังเสื้อแดงไปประท้วงชัย ราชวัตร ก็เป็นไปได้ที่จะมีคนเสื้อแดงไปยิงป้อมยามไทยรัฐ (แต่เสื้อแดงก็โทษมือที่สาม) กระนั้นถ้าจะปรักปรำว่าคนในรัฐบาลสั่ง ผมว่ารัฐบาลก็มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยรัฐนะครับ
ยิงรถข่าว ASTV เหตุเกิดหลังวิวาทะกับ ผบ.ทบ.แล้วทหารบุก ASTV ก็มีโจทก์ให้สันนิษฐานหลายฝ่ายเช่นกัน ยิงศูนย์ข่าวเดลินิวส์ เรื่องนี้สื่อก็ลงข่าวว่ามาจากแก๊งค้ายาเสพย์ติด ยิงบ้านภัทระ คำพิทักษ์ คดีนี้สันนิษฐานยากมาก เพราะมวลชนเสื้อแดงต่อให้โกรธโพสต์ทูเดย์ก็ไม่รู้จักบ้านภัทระ ถ้าไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของภัทระหรือญาติพี่น้อง ก็น่าจะเป็นนักการเมืองหรือสมุนที่ไม่พอใจการเสนอข่าว แต่ข่าวอะไร ข่าวโจมตีรัฐบาลโดยทั่วไปหรือเจาะจง โดยปกติคนที่ข่มขู่ก็อยากให้คนถูกขู่รู้ ว่าอย่ามายุ่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ครั้งนี้ไม่มีอะไรให้สันนิษฐานเลย
ในภาพรวมผมเห็นด้วยว่า รัฐบาล ตำรวจ “สอบตก” ที่ไม่สามารถคลี่คลายคดีเหล่านี้ได้เลย ถึงแม้เป็นคดีที่จับมือใครดมไม่ง่าย แต่ก็ควรแสดงออกซึ่งความเอาจริงเอาจัง เพื่อเคลียร์ข้อครหา แต่อีกด้านหนึ่ง สื่อเองก็ตั้งแง่ต่อรัฐบาลอย่างรวดเร็ว สรุปแทบจะทันทีตั้งแต่ควันระเบิดยังไม่จาง ว่ารัฐคุกคาม
แหม่ ผมว่าถ้ารัฐบาลคิดจะ “เด็ดหัวสื่อ” ก็เด็ดไม่หวาดไม่ไหวหรอกครับ มองไปทางไหนเห็นแต่สื่อเกลียดรัฐบาลทั้งนั้น
ใครสร้างความหวาดกลัว
สื่อไทยชอบทฤษฎี Conspiracy Theory ดูหนังฮอลลีวู้ดมากไป อ่านนิยายสายลับมากไป “ผู้จัดการ” ยังเคยลงบทความที่เชื่อว่า CIA จัดฉากเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด (ถ้าเป็น “ผู้จัดกวน” จะไม่ว่าเลย)
เหมือนทฤษฎีทักษิณทำให้เกิดเรื่องเลวร้ายทุกอย่างในประเทศนี้ (แน่นอน อีกข้างก็เชื่อว่าอำมาตย์ทำให้เกิดเรื่อง
เลวร้ายทุกอย่างในประเทศนี้ เช่น ทำให้น้ำท่วม) หลายกรณียังไม่มีมูลพอ สื่อก็ปักใจเชื่อว่าฝีมือรัฐบาล อาศัยความเกลียดชังกระพือให้คนฝ่ายตัวเองเชื่อ ตัวอย่างเช่น คดีอุ้มฆ่าเอกยุทธ อัญชันบุตร ไม่ทราบทำข่าวจากพยานหลักฐานหรือข่าวลือในเฟซบุค ผมไม่ได้ตัดประเด็นรัฐบาลทำ แต่คนอย่างเอกยุทธ น่าจะมีศัตรูเยอะ น่าจะมีหลายประเด็น แต่พวกตาโตเท่าไข่ห่านเชื่อฝังหัวประเด็นเดียว
แบบเดียวกับละครเหนือเมฆ 2 ช่อง 3 ถอดละครด้วยเหตุผลอะไรไม่มีใครรู้ แต่โยนให้รัฐบาลไว้ก่อน เพราะละครด่านักการเมือง และทีมผู้สร้างก็ค่อนไปทางเหลือง แต่ผมก็ตั้งคำถามได้เหมือนกันว่า ละครเรื่องนี้ด่านักการเมืองมาแต่ต้น รัฐบาลเพิ่งตื่นหรือถึงมาเซ็นเซอร์สองตอนสุดท้าย ถ้าใช้ทฤษฎี Conspiracy ข่าวลือพวกเสื้อแดงยังน่าเชื่อกว่า
ขอบคุณภาพมติชน
ภาพ: มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์
“เหนือเมฆ” เป็นคดีที่ไม่มีหลักฐานพอจะตัดสินใคร แต่ อ.รุจน์หยิบมาเป็นเรื่องใหญ่ คู่กับกรณีช่อง 5 ตัดสกู๊ปข่าวเควอเตอร์ “สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว” ทั้งที่คนละประเด็นกันเลยครับ กรณีเควอเตอร์เป็นที่ประจักษ์ว่า สื่อรายงานผิด ตาม NGO เกาหลีที่อ้างว่าเควอเตอร์กำลังจะเจ๊ง
ย้อนถามว่า อ.รุจน์ทำไมไม่พูดถึงรายการตอบโจทย์ นั่นสิ สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวอย่างแท้จริง เทปรายการผ่านการตรวจสอบจากผู้บริหาร กรรมการนโยบาย อย่างถี่ถ้วนแล้ว มั่นใจว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่นาทีสุดท้ายพอมีม็อบมาประท้วง และมีคนในผสมโรง กลับไม่เอาออกอากาศ
ขี้เกียจย้อนไปเรื่องภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บินไปสัมภาษณ์ทักษิณ แล้วถูกต่อต้าน ตั้งนานกว่าเทปจะได้ออกอากาศ หรือจอม เพชรประดับ ไปสัมภาษณ์ทักษิณ ในยุคอภิสิทธิ์ จนต้องออกจาก อสมท. มิพักต้องพูดถึงการเซ็นเซอร์สื่อ ปิดเว็บไซต์ ในยุคอภิสิทธิ์ ที่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน
“บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว” ที่มาจากอีกข้างรุนแรงกว่าเยอะ รัฐบาลนี้ถูกกล่าวหาเรื่องเหนือเมฆกับเรื่องช่อง 5 ซึ่งไม่มีอะไรยืนยัน แต่สื่อตีปี๊บราวกับรัฐบาลนี้สร้างความหวาดกลัวอย่างเลวร้ายไม่เคยมีมาก่อน
อ.รุจน์พูดตอนต้นว่าการแทรกแซงสื่อมีราคาที่ต้องจ่าย ข้อหนึ่งคือเสียชื่อ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับสื่อไทยจากที่ 65 เมื่อต้นรัฐบาลทักษิณมาอยู่ที่ 122 ในปี 2549 แล้วก็ไม่ขึ้นอีกเลย โอเค ยุคทักษิณมีการแทรกแซงสื่อ (ชัดเจนกว่าที่อ้างในยุคนี้) แต่ถามว่าเพราะ “ระบอบทักษิณ” เท่านั้นหรือครับ ไม่ใช่เพราะรัฐประหาร ไม่ใช่เพราะ พรก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่เพราะมาตรา 112 หรือครับ
หลังพฤษภา 53 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนชี้ว่าผู้สื่อข่าวถูกคุกคาม ได้รับอันตรายจากทั้งเสื้อแดงและทหาร โดยเฉพาะทหารใช้อาวุธสงครามกับประชาชนและผู้สื่อข่าว ขณะที่สื่อไทยถูกเซ็นเซอร์มากขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤติการเมือง และสื่อส่วนหนึ่งก็ปิดปากตัวเอง
เมื่อปีที่แล้ว องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนก็ตำหนิรัฐบาลนี้ ว่ามีการบล็อกเว็บโดยกระทรวงไอซีที แต่สาเหตุไม่ใช่เพราะวิจารณ์รัฐบาล สาเหตุเป็นเพราะ “ต้องการแสดงความจงรักภักดี” อ.รุจน์ไม่เห็นพูดเรื่องนี้เลย
สื่อท้าให้ฟ้อง
เวลาที่มีใคร “คุกคาม” หรือไม่พอใจสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อก็จะบอกว่า อย่าทำอย่างนี้ ถ้าคิดว่าถูกละเมิด ก็ไปฟ้องสิ
แต่ อ.รุจน์กลับบอกว่าการฟ้องสื่อเป็นการแทรกแซงสื่อ เอ๊ะ จะเอายังไง
ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยการฟ้องสื่อ เช่นที่นายกฯ แจ้งความดำเนินคดี ชัย ราชวัตร ผมก็ไม่เห็นด้วยเพราะต้องผ่านการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชานายกฯ จะถูกมองว่าใช้อำนาจรังแก ผมเห็นว่านายกฯ ควรไปฟ้องศาลโดยตรง ฟ้องแพ่งก็พอ คดีออเหลิมก็ไร้สาระ ฟ้องแก้เกี้ยวเหมือนเคี้ยวใบฝรั่ง
คดีที่ กสทช.ฟ้อง อ.เดือนเด่น กับ ดร.ณัฏฐา ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะไม่น่ามีมูลหมิ่นประมาท มองได้ว่า กสทช.”ฟ้องปิดปาก” เพื่อไม่ให้ใครวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อีก พร้อมกับสร้างความยุ่งยากให้ผู้ถูกฟ้องต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล ต้องเสียค่าทนายค่าต่อสู้คดี
(ซ้าย)-ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ  (ขวา) ดร. ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินการรายการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส/ ขอบคุณภาพโพสต์ทูเดย์
การฟ้องเป็นการคุกคามหรือไม่ ก็พูดลำบากเหมือนกัน เคยมีนายตำรวจชื่อดังรายหนึ่ง ฟ้องหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ฟ้องเป็นสิบๆ คดี จนหนังสือพิมพ์ปวดกบาล ต้องเดินทางไปขึ้นศาลหลายจังหวัด คำนวณค่าใช้จ่ายเป็นล้านๆ สุดท้ายก็ต้องยอมความและไม่มีใครกล้ายุ่งกับท่านอีก
แต่ถ้ามองกลับกัน เวลาชาวบ้านธรรมดาฟ้องสื่อบ้าง สื่อก็กลายเป็น “ยักษ์” ชาวบ้านเป็นฝ่ายปวดกบาลต้องเสียค่าต่อสู้คดีและไม่ใช่จะเอาชนะสื่อได้ง่ายๆ
ฉะนั้นในบางกรณี การฟ้องก็เป็นการคุกคามสื่อ แต่เหมารวมไม่ได้ องค์กรวิชาชีพสื่อบอกว่าใครไม่พอใจให้ไปฟ้อง แล้วพอเขาฟ้อง เรากลับตีโพยตีพาย จัดเสวนากันยกใหญ่ ชาวบ้านก็ต้องถาม เอ๊ะ จะเอายังไงแน่ (วะ)
ฉะนั้นเมื่อถูกฟ้องสื่อก็จำต้องยืดอกรับ แต่ไปเรียกร้องให้แก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้กลั่นแกล้งกันได้ เช่น ไม่ใช่ไปฟ้องถึงแม่ฮ่องสอนถึงโกลก เรียกร้องศาลให้ไต่สวนมูลฟ้องโดยเร็ว ถ้าเห็นว่าไม่มีมูลก็สั่งจำหน่ายคดี
ที่จริงสมัยทักษิณ องค์กรวิชาชีพสื่อและ ส.ว.เคยเรียกร้องให้แก้กฎหมายหมิ่นประมาท ยกเลิกโทษอาญาเหลือแต่ฟ้องแพ่งอย่างเดียว ตามแบบอารยะประเทศ แต่ช่วงนี้ไม่ยักมีใครเรียกร้อง (อย่าเรียกร้องเชียวนะเพราะมันจะกระทบชิ่งถึง ม.112)
มติชนถูกซื้อ?
อ.รุจน์แสดงออกแทนนักวิชาการสื่อหลายรายที่โกรธแค้น “หนังสือพิมพ์ X” ซึ่งไม่ต้องเดาก็รู้ว่าหมายถึงค่ายมติชน
อ.รุจน์นับโฆษณาภาครัฐในมติชนว่ามี 7 ชิ้น เทียบกับไทยรัฐไม่มีเลย เดลินิวส์มี 1 ชิ้น แล้วสรุปว่า “เมื่อมีการซื้อสื่อขนาดนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยที่มีเนื้อหาตรวจสอบรัฐบาลมาโดยตลอด กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง”
อันที่จริง อ.รุจน์ยังนับไม่ครบด้วยซ้ำ ผมเพิ่มให้ มติชนได้จัดงานอีเวนท์ของรัฐบาลหลายงาน เช่น โปรโมทเงินกู้ 2 ล้านล้านที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์
แต่ที่เทียบกับไทยรัฐผมว่าไม่ถูกนัก ไทยรัฐค่าโฆษณาแพงลิบ เอกชนยังแย่งกันลง ไทยรัฐไม่สนภาครัฐอยู่แล้ว มองด้านกลับ เดลินิวส์ก็โจมตีรัฐบาลเยอะไม่ใช่หรือครับ ทำไมยังได้โฆษณา อ.รุจน์ควรดูหนังสือพิมพ์ทุกฉบับก่อนสรุปว่ารัฐบาลให้โฆษณาเฉพาะสื่อที่เชียร์ตน เพราะแม้แต่ผู้จัดการ ผมก็ยังเคยเห็นโฆษณากระทรวงพาณิชย์ชี้แจงนโยบายจำนำข้าว ขณะที่หน้า 1 โจมตีแหลกลาญ ส่วน “โลกวันนี้” กลับไม่มีโฆษณารัฐซักชิ้น
แต่เอาละ ถามว่ามติชนได้เยอะไหม เยอะ มติชนเชียร์รัฐบาลไหม ก็ใช่ ผมเห็นด้วยว่ามติชนตรวจสอบรัฐบาลน้อยไป บางเรื่องก็ปกป้องมากไป
แต่มติชนไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะ “ถูกซื้อ” มติชนเป็นเพราะ “เลือกข้าง” แล้ว มติชนมีปัญหาในการทำหน้าที่สื่อเมื่อเลือกข้าง นักวิชาการสื่อควรวิจารณ์ให้ถูกจุด และดูประวัติศาสตร์ด้วยว่ามติชนเลือกข้างตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่ใช่ดูตัดตอนเมื่อได้โฆษณา
มติชนไม่ได้เลือกข้างเมื่อได้โฆษณา มติชนไม่ได้เลือกข้างเมื่อมีการเลือกตั้ง มติชนเลือกข้างมาก่อนหน้านั้นแล้ว
อันที่จริงยุคไล่ทักษิณ มติชนก็ไล่เพราะโกรธทักษิณ เพราะเชื่อว่าหนุนแกรมมี่ซื้อหุ้นมติชน ตอนรัฐประหาร มติชนก็เชียร์เหมือนค่ายอื่น มติชนยังได้โควต้าให้สมหมาย ปาริจฉัตถ์ ไปเป็น สนช. แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลสมัคร พันธมิตรยึดทำเนียบยึดสนามบิน พฤติกรรมเกินเลยทำให้มติชนเริ่มท้วงติง คุณพ่อพันธมิตรซึ่งใครไม่เห็นด้วยกับตัวคือชั่วหมดเลวหมด ก็กางมติชนด่าบนเวที ASTV สนุกปากออนแอร์ นับแต่นั้นมติชนก็ “ตาสว่าง” ค่อยๆ ถอนตัวและเปลี่ยนขั้ว
นักวิชาการสื่อทำไมไม่พูดให้ครบ ว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มติชนยืนข้างไหน พฤษภา 53 มติชนยืนข้างไหน ช่วงนั้นได้โฆษณาหน่วยงานรัฐกี่ชิ้น เมื่อเทียบกับค่ายอื่น
ผมไม่ได้บอกว่าการที่มติชนได้โฆษณาเปรมปรีดิ์ช่วงนี้ถูกต้องชอบธรรมแล้ว แต่ต้องดูบริบท ว่าไม่ใช่เฉพาะระบอบทักษิณาธิปไตยหรอกที่ให้โฆษณาสื่อฝ่ายตัว ทุกรัฐบาลตั้งแต่ชวน 2 โน่นแล้ว สนธิ ลิ้ม ก็บอกว่าไม่ได้โฆษณาจากธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ซักชิ้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เคยทำให้ บก.ข่าวหมั่นไส้หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ ที่สนิทกับนักการเมืองจากตลาดหุ้น จนได้โฆษณาเพียบและได้เงินเดือนเกินหน้าเกินตา
ทุกรัฐบาลก็ให้โฆษณาสื่อข้างตัว และสื่อที่เลือกข้าง “โค่นระบอบทักษิณ” ก็ไม่ใช่ว่าเลือกด้วยจุดยืนอุดมการณ์อันสูงส่งแล้วไม่เอาโฆษณา โถ ก็ได้โฆษณาเพียบเหมือนกัน ได้จัดงานอีเวนท์ ได้รายการวิทยุรายการทีวีอีกต่างหาก
ผมมองว่ามติชนเอียงไปหน่อย แต่นักวิชาการสื่อทั้งหลายก็ตัดสินมติชนด้วยสายตาเอียง คุณกำลังเรียกร้องมติชนว่า ถ้าเป็น “แดง” ด้วยอุดมการณ์ ก็ควรจะวิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรรับโฆษณาหน่วยงานรัฐ แต่ไม่เคยเรียกร้องสื่อค่ายอื่นที่เอียงและได้ประโยชน์เช่นกันในช่วงที่ผ่านมา
เปรียบเทียบนักกฎหมาย ถ้าวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ไปได้ตำแหน่งอะไรในภาครัฐ ก็จะโดนด่าขรม ไหนว่ามีอุดมการณ์ แต่สุรพล นิติไกรพจน์ ไปเป็นบอร์ด ปตท.ได้ปีละหลายล้าน ไม่เห็นว่าอะไร ถ้าเป็นวรเจตน์คุณต้องถือศีลอด มีตำแหน่งอะไรไม่ได้เลย ถ้ามีก็จะถูกด่าเหมือนมติชน ขณะที่อีกฝ่ายได้ตำแหน่งกันครึกครื้นทั้งในองค์กรอิสระ วุฒิสภา รัฐวิสาหกิจ แวดวงวิชาการ ได้งานวิจัยทีละเป็นสิบๆ ล้าน
ถูกจัดให้เป็น “แดง” นี่ต้องแมนและแฟร์มากนะครับ ผิดนิดผิดหน่อยไม่ได้ เหมือนที่ อ.รุจน์วิจารณ์สื่อแดงทัวร์อังกฤษกับประธานสภา ผมก็วิจารณ์เหมือนกันว่าทำไม่ถูก แต่ที่ อ.รุจน์ว่าพวกเขาเปลี่ยนไป อ้างว่าของแพงเพราะคนคิดไปเอง ผมว่าไม่ใช่เพราะทัวร์นอก ไม่ใช่เพราะการเลี้ยงดูปูเสื่อ จะไปทัวร์หรือไม่ไป เขาก็พูดอย่างนั้นอยู่แล้ว
การเลี้ยงดูปูเสื่อมีมาทุกรัฐบาล รัฐบาลที่แล้วมีนักการเมืองเปิดคอนโดให้ “ปูเตียง” ด้วยซ้ำ แต่ต้องแยกบริบทเลี้ยงดูปูเสื่อกับเลือกข้าง บางครั้งมันเหมือนมาด้วยกันแต่ไม่ใช่ บางครั้งก็ไปคนละทาง เช่นอีเมล์คนสนิทเสี่ยเพ้ง จะสอบมติชน พลัดไปโดนอีกค่าย น่างงเหมือนกัน
การเลือกข้างของมติชน คนส่วนใหญ่มองแต่ด้านที่ได้โฆษณารัฐเยอะ แต่ไม่มองด้านโฆษณาเอกชนน้อย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเอเยนซีส่วนใหญ่เป็นสลิ่ม เกลียดเสื้อแดง เกลียดมติชน (เอเยนซีแทรกแซงสื่อ-ฮา)
ราคาที่สื่อต้องจ่าย
ประเด็นสำคัญที่ อ.รุจน์พูดคือ “ราคาที่ต้องจ่าย” จากการแทรกแซงสื่อ มี 3 เสีย เสียแรก สื่อมีความสามารถตรวจสอบกิจการสาธารณะน้อยลง เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ จำนำข้าว ระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เสียที่สอง เสียชีวิต เช่นพฤษภาทมิฬ ทีวีปิดหูปิดตาตัวเอง เสียที่สาม คือเสียชื่อ โดยอ้างการจัดอันดับเสรีภาพสื่อ ตามที่ผมแย้งไปแล้ว
เสียชีวิต! อ.รุจน์พูดถึงพฤษภาทมิฬ แต่ไม่พูดถึงพฤษภา 53 ว่าเป็นผลจากการแทรกแซงสื่อหรือเปล่า อ.รุจน์ตกไปได้อย่างไร หรือจำได้แต่วีรกรรมชนชั้นกลาง และเห็นว่าพฤษภา 53 เป็นการปราบปรามไพร่ถ่อยสมุนทักษิณซึ่งถูกต้องชอบธรรมแล้ว
อ.รุจน์จำได้ไหมที่นักข่าวแฉว่ารัฐมนตรีเข้าไปบงการสื่อรัฐ ตรวจข่าวยิบ จำได้ไหมว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศ พรก.ฉุกเฉินยาวนาน เซ็นเซอร์ปิดกั้นสื่อที่ไม่อยู่ข้างตัวเองทั้งหมด
อ.รุจน์มองแค่สื่อกระแสหลัก แล้วไม่คิดว่าเป็นการแทรกแซงสื่อ ผมก็เห็นด้วย เพราะพฤษภา 53 สื่อกระแสหลักไม่ได้ถูกปิดหูปิดตา สื่อ “รวมหัว” กับรัฐบาลต่างหาก รวมหัวด้วยความสมัครใจ ด้วยความกระเหี้ยนกระหือรือ “ออกใบอนุญาตฆ่า” นักวิชาการสื่อจะไม่วิจัยบทบาทสื่อในช่วงพฤษภา 53 หน่อยหรือครับ ว่าต่างจากสื่อรวันดาตรงไหน
สื่อมีความสามารถในการตรวจสอบกิจการสาธารณะน้อยลง ข้อนี้สำคัญมาก เพราะสื่อและนักวิชาการสื่อมองไม่เห็นความผิดของสื่อเอง
Photo courtesy of Don Addis
ถามข้อแรก รัฐบาลนี้ซื้อสื่อหมดแล้วหรือ ผมก็เห็นสื่อกระแสหลักยังด่ารัฐบาลโครมๆ บางฉบับด่าอย่างคลุ้มคลั่ง แต่ทำไมไม่มีผล ก็เพราะสังคมไม่เชื่อสื่อแล้วสิครับ ไปดูโพลล์ก็ได้ โพลล์หลายสำนัก ชี้ว่าประชาชนเริ่มเชื่อถือสื่อน้อยลง และมองออกว่าสื่อคือ “ผู้เล่น” ไม่ได้เป็นกลางอย่างที่เชื่อกันมา
สื่อทำลายเครดิตตัวเองตั้งแต่หนุนรัฐประหาร บิดเบือนหลักการประชาธิปไตย เชียร์ตุลาการภิวัตน์ เลือกข้างไม่ลืมหูลืมตา แล้วด่าทอคนเห็นต่างชั่วเลวไปหมด สื่อคลั่งเสียขนาดนี้ คิดว่าประชาชนโง่หรือ ไม่ใช่แค่เสื้อแดงหรอก แต่ผู้คนทั่วไปในสังคมก็ตระหนัก
รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามา สื่อก็มีภาพลบติดตัว “จ้องล้มรัฐบาล” แน่นอน ดูเหมือนสังคมปรักปรำ แต่บทบาทสื่อ 5 ปีจะให้ผู้คนคิดอย่างไร ครั้นมาดูการทำหน้าที่ หลายๆ เรื่องตลอด 2 ปี สื่อก็โจมตีรัฐบาลอย่างไร้เหตุผล จนไปกลบเรื่องที่มีเหตุผล เรื่องที่รัฐบาลมันฉ้อฉล หรือบริหารเฮงซวย หลายๆ เรื่องสื่อให้น้ำหนักเว่อร์ เกินจริง และพยายามสร้างประเด็นไปสู่การล้มรัฐบาลมากไป
ยกตัวอย่างระบบน้ำ 3.5 แสนล้าน ปัญหาอยู่ตรงไหน อยู่ที่การตัดสินใจโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม อยู่ที่ท่าทีขุนนางของ “พญาปลอด” แน่นอนว่าถ้าประมูลไปอย่างนี้ก็มีช่องให้ทุจริต แต่สื่อตีปี๊บล่วงหน้า คำนวณเสร็จสรรพว่าทุจริตแสนล้าน (มีสูตรสำเร็จของ ม.หอการค้า ใช้คำนวณได้ทุกโครงการ) สื่อไม่ได้มุ่งวิจารณ์ตามเนื้อผ้าอย่างเดียว มีอะไรหยิบฉวยเป็นเครื่องมือได้ สื่อเอาหมด เพื่อล้มโครงการ เพื่อล้มรัฐบาล
ฉะนั้นพอ NGO เกาหลีแถลงข่าว สื่อก็เอามาพาดหัวสะเทือนขวัญ เควอเตอร์ใกล้เจ๊ง หนังสือพิมพ์บางฉบับเอากราฟตัวเลขหนี้ของเควอเตอร์ไปลง ชี้ว่าหนี้พุ่งสูง แต่ตัวเลขข้างๆ Asset ก็พุ่งสูงเช่นกัน คิดว่าชาวบ้านอ่านกราฟไม่ออกหรือครับ ผลออกมาคือสื่อหงายท้อง
ยกตัวอย่างจำนำข้าว ปัญหาอยู่ตรงไหน อยู่ตรงคิดใหญ่เกินตัวแล้วจมไม่ลง คิดว่าซื้อข้าวมาตุนแล้วราคาตลาดโลกจะสูงขึ้น และมองข้ามช่องโหว่ที่ทุจริตได้ง่ายตั้งแต่โรงสี อำเภอ จังหวัด ถึงกระทรวง
แต่สื่อก็ใช้สูตรสำเร็จ “ทักษิณทำทุกอย่างเพื่อโกง” นโยบายนี้คิดมาเพื่อโกงแสนล้าน เท่านั้นไม่พอ แทนที่จะวิจารณ์จำนำข้าว กลับไปโจมตี “ข้าวไทย” เล่นข่าวอเมริกาตีกลับข้าวไทยโดยไม่ตรวจสอบ หรือเล่นงานข้าวเน่า ข้าวปนสารเคมี หนูกินแล้วตายใน 5 นาที สุดท้ายต้องขอขมาเขาไปทั่ว เสียหายไหมครับ
มีหลายเรื่องที่สื่อทำตัวน่าหัวเราะ น่าสังเวช เช่น เมื่อก่อนสื่อเป็นปากเสียงของคนจน แต่พอรัฐบาลนี้ขึ้นค่าแรง 300 บาท ก็ด่าสาดเสียเทเสีย ว่าทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ นายทุนล่มจม เออ เป็นกระบอกเสียงนายทุนไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ทั้งที่ควรพูดว่า 300 บาทถูกต้องแล้ว แต่รัฐบาลไม่ดูแลผลกระทบราคาสินค้า
เมื่อก่อนสื่อด่าทักษิณอุ้มฆ่าจนปัญหาภาคใต้บานปลาย แต่พอทักษิณเป็นตัวตั้งตัวตี ให้มาเลเซียเป็นตัวกลางเปิดเจรจากับ BRN สื่อก็ชักดิ้นชักงอ โจมตีการเจรจาแบบมี agenda แช่งให้เจรจาล้มเหลว เดือนรอมฎอน พอมีการยิงกัน ครูตาย เด็กตาย สื่อแทบจะไชโยโห่ร้อง เห็นไหม เจรจาล้มเหลว กลายเป็น “สื่อสายเหยี่ยว” ไปโดยไม่รู้ตัว
นี่ต่างหากคือปัญหาที่ทำให้สื่อไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาล สื่อหมดเครดิต ภาคประชาสังคมที่เคยตรวจสอบรัฐบาลร่วมกันก็หมดเครดิต พูดอะไรสังคมไม่ฟัง เสื้อแดงต่อต้าน โอเค บางเรื่องเสื้อแดงก็ดันทุรัง แต่เคยคิดโน้มน้าวจูงใจเขาไหม สื่อทำร้ายเขามาอย่างไร ทบทวนตัวเองบ้าง อย่างที่ปกป้องม็อบสวนยางปิดถนนตอนนี้ ท่าทีเหมือนตอนเสื้อแดงยึดราชประสงค์ไหม
สื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแต่ละเรื่อง ไม่สามารถคุมสติตัวเองได้ ไม่สามารถตีกรอบให้อยู่ในเนื้อผ้า แต่จะชักใบไปล้มรัฐบาลทุกที ไม่ใช่แค่ล้มรัฐบาล หวังล้มระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เชียร์ม็อบแช่แข็ง กองทัพประชาชน จนออกนอกหน้า แล้วก็หน้าม้าน
สื่อไม่ได้คุกคามแค่รัฐบาล สื่อคุกคามระบอบประชาธิปไตยด้วย ผมไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนี้ดีเด่อะไร บริหารแย่ ทุจริตโกงกินก็เยอะ  แต่สื่อกำลังปลุกความเกลียดชังแบบเดิมๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยทหารหรือด้วยศาล ไม่ใช่ด้วยคะแนนนิยมด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งสังคมไม่เอากับสื่อแล้ว
ปัญหาของสื่อ ลึกๆ แล้วคือสื่อมีทั้งอัตตา “ข้าพเจ้าถูกต้องแต่ผู้เดียว” และหวงแหนสถานะ “ผู้ชี้นำสังคม” ยังอยากเป็นตะเกียงไม่ยอมเป็นแค่กระจก ยังคิดว่าตัวเองควรมีบทบาทเหมือนกุหลาบ สายประดิษฐ์, อิศรา อมันตกุล แต่บรรพชนสื่อเหล่านั้นคือปัญญาชนแห่งยุคสมัย เขาจึงชี้นำสังคมได้ สื่อปัจจุบันสติปัญญาไปไม่ถึง โลกาภิวัตน์เปิดให้นักวิชาการ ผู้รู้จริงในเรื่องต่างๆ ซึ่งมีมากมาย สื่อสารถึงประชาชนโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสื่อ บทบาทตะเกียงของสื่อควรจบได้แล้ว พร้อมกับสถานะอัน “ทรงเกียรติ” หรือมีอิทธิพลเหนือคนธรรมดาสามัญ

                                                                                                                                ใบตองแห้ง
 25 ก.ย.56
- See more at: http://mediainsideout.net/local/2013/09/152#sthash.Kp5qMcBy.dpuf

ไม่มีความคิดเห็น: