PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สื่อควรตระหนัก ภาษานอกหรือจะสู้ภาษาไทยดั้งเดิม

โพสโดย: journalism108 เมื่อ 2 ส.ค. 2556, 14:47

ปัจจุบันภาษาต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการสื่อสารมากขึ้น จนบางทีเราอาจหลงลืมการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ใช้ภาษาไทยปนอังกฤษหรือใช้สำนวนต่างประเทศ ไม่เพียงแต่บุคคลทั่วไปเท่านั้นด้านสื่อมวลชนเองก็มีการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน
อาจารย์อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การใช้ภาษาของสื่อมวลชนปัจจุบันถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านภาษาในยุคโลกไร้พรหมแดน การใช้ภาษาจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สื่อจึงไม่ได้ตระหนักเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้องเท่าที่ควร ในเรื่องของคำศัพท์บางคำซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ยังไม่มีการบัญญัติหรือเป็นศัพท์เฉพาะ กรณีนี้อาจต้องมีการยกเว้น ฉะนั้นศัพท์คำใดที่เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป หรือเป็นคำศัพท์ที่ใช้สื่อความหมายได้ดีกว่าก็สามารถนำมาใช้ได้การใช้ภาษาไทยปนภาษาอังกฤษของสื่อ จะส่งผลต่อวัฒนธรรมการใช้ภาษาของคนในสังคม โดยเฉพาะสื่อออนไลน์เพราะควบคุมการแสดงความคิดเห็นและการใช้ภาษาได้ยากเนื่องจากมีลักษณะครอบคลุมกว้างขวาง สื่อลักษณะนี้ผู้ใช้สามารถเป็นได้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารในบุคคลเดียวกัน ต้องเริ่มจากการตระหนักถึงการใช้ภาษาจากตัวเราเองก่อน
ด้านอาจารย์จิรพร รักษาพล หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การใช้ภาษาที่ถูกต้องควรใช้ในลักษณะภาษาเดียว แต่ปัจจุบันมีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศจนบางครั้งเรามีการใช้ภาษาปนกันอย่างไทยคำ อังกฤษคำ อาจารย์จิรพร ยังกล่าวต่อว่า ความรู้ด้านภาษาของบุคคลที่จะมาเป็นสื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสื่อมีอิทธิพลต่อสังคม หากสื่อรู้จักเลือกใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมและเป็นแบบอย่างที่ดีทางสังคม แต่ปัจจุบันสื่อส่วนใหญ่ใช้ภาษาไม่เหมาะสม โดยเฉพาะคำแสลง จึงมองว่าการทำลายภาษาไทยส่วนหนึ่งมาจากการใช้ภาษาของสื่อมวลชน“ปัจจุบันคนในสังคมนิยมใช้ภาษาที่ง่าย และตัดทอนคำให้สั้นลง เกิดการกร่อนคำทั้งการพูด การเขียน โดยไม่สนใจว่าภาษาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร  หากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย การแก้ไขให้ถูกต้องจึงค่อนข้างยาก” อาจารย์จิรพร กล่าวนักสื่อสารจำเป็นต้องใช้ภาษาไทย ถ้าหากยังคงไม่มีจิตสำนึกในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง สื่อจะเป็นตัวทำลายภาษาได้รวดเร็วและง่ายที่สุด อาจารย์จิรพร กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนนายศักดา จิวัธยากูล บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น กล่าวว่าการใช้ภาษาของสื่อมวลชนในกรณีส่งสารไปถึงผู้รับสาร อาจมีความจำเป็นที่สื่อต้องใช้ภาษาในลักษณะนั้น แต่ไม่ควรมากเกินไปจนผู้รับสารไม่เข้าใจหรือเข้าใจได้ยาก ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงความสามารถของผู้รับสารในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันการที่สื่อใช้คำทับศัพท์หรือภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ มักเกิดขึ้นบ่อย เพราะเนื้อหาบางอย่างจำเป็นต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ 
นายศักดา กล่าว “ต้องยอมรับว่าในอดีตการใช้ภาษาไทยของสื่อให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพการใช้ภาษาที่ถูกต้องมากกว่าปัจจุบัน โดยใช้ภาษาที่มีลักษณะแยกชัดเจนเป็นหลักเกณฑ์ในการนำเสนอข่าว เรื่องความถูกต้องในการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียน โดยเน้นเนื้อหาที่เข้มข้นและรัดกุม แต่อย่างไรก็ตามสื่อปัจจุบันมีจุดเด่นในด้านความรวดเร็ว ทั้งการรับสารและการส่งสาร แต่จุดอ่อนที่มีมากขึ้นคือความถูกต้องของภาษานั้นเอง” นายศักดา กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันการใช้ภาษาไทยปนภาษาอังกฤษส่งผลเสียต่อวัฒนธรรมด้านภาษาไทย ส่อความรุนแรง ส่อเสียด และเร้าอารมณ์ผู้อ่าน ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควร นอกจากนี้การใช้ภาษาไทยในสังคมออนไลน์ พบว่าเป็นภาษาที่ผิดไปจากรูปแบบดั้งเดิม ดังนั้นต้องแยกระหว่างการใช้ภาษาในพื้นที่สาธารณะกับภาษาที่ใช้ในสังคมออนไลน์ เพราะภาษาในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการสนทนาผ่านช่องทางส่วนบุคคล จึงไม่ถือว่าเป็นทางการ อยากฝากเรื่องความถูกต้อง ไม่บิดเบือนข้อมูลและไม่ว่าจะเป็นภาษาใด หากสามารถสื่อสารไปถึงมวลชนได้อย่างเข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์ถือว่ามีความสมบูรณ์ทั้งสิ้น บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น กล่าวทิ้งท้าย 
ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์รังสิต ฉบับ 64 ประจำวันที่ 30 สิงหาคม- 5 กันยายน 2555 หน้าที่ 10-11
ประกอบการเรียนรายวิชา : JRN450 การผลิตหนังสือพิมพ์ (Newspaper Production)
Tags: 
- See more at: http://www.jr-rsu.net/article/250#sthash.uTS88Qgt.dpuf

ไม่มีความคิดเห็น: