PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

“ศาลรัฐธรรมนูญ” ทำหนังสือโต้แถลงการณ์ “ศอ.รส.” ต่อจาก “ป.ป.ช.” ซัดคุกคาม – ก้าวล่วง

“ศาลรัฐธรรมนูญ” ทำหนังสือโต้แถลงการณ์ “ศอ.รส.” ต่อจาก “ป.ป.ช.” ซัดคุกคาม – ก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจของตุลาการและศาล แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ สวนใช้อำนาจเลยเถิด มีหน้าที่แค่ป้องกันความมั่นคงเท่านั้น
PIC-ศาลรธน.-22
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือชี้แจงกรณีศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยนายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรมว.ยุติธรรม ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอ.รส. และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขาธิการ ศอ.รส. ร่วมกันแถลงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและมีคำวินิจฉัยในกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถูกกล่าวหาว่าก้าวก่ายโดยแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อย่างตรงไปตรงมา และจะต้องไม่วินิจฉัยเกินเลยไปถึงขนาดว่าหากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 โดยจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรรมนูญ มาตรา 181 อีกไม่ได้นั้น
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การออกแถลงการณ์หรือการให้ข้อมูลข่าวสารของ ศอ.รส. ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานของฝ่ายบริหาร มีลักษณะเป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการหนึ่งในอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ โดย ศอ.รส. มีอำน่าจหน้าที่หลักรับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
“การแถลงการณ์ของ ศอ.รส. ข้างต้น เป็นการคาดการณ์ว่า เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีลักษณะคุกคาม ก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจของตุลาการและศาล ซึ่งมีผลเป็นการทำลายชื่อเสียง ความเชื่อถือศรัทธาของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้ ศอ.รส. เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเพื่อป้องกันภยันตรายอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น” หนังสือดังกล่าว ระบุ
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุอีกว่า การพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูย ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ดังที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ และต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หากการดำเนินงานของ ศอ.รส. กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจาณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: