PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อุกฤษออกแถลงการณ์ แนะ′ปู-ครม.′รอคำวินิจฉัยกลางศาล รธน.

วันที่ 8 พฤษภาคม นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) อดีตประธานรัฐสภา แถลงการณ์ ประธาน คอ.นธ.เรื่อง แนวทางปฏิบัติภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นที่ร่วมประชุมและมีมติสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 กรณีมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวและวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีอื่นที่ร่วมประชุมและมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 มีส่วนโดยอ้อมในการก้าวก่ายและแทรกแซงอันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญด้วย นายกฯและรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้  ในส่วนรัฐมนตรีอื่นที่ไม่ส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมและมีมติให้แต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้นั้น
              
ประเด็นดังกล่าว เคยทำจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณชนแล้ว เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2557 โดยเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องดังกล่าวนี้ไว้พิจารณาตั้งแต่ต้น เพราะในเมื่อนายกฯและครม.ทั้งคณะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อมีการยุบสภา จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยอีก และการย้ายนายถวิลเป็นการใช้อำนาจบริหารตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน มิใช่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซง และมีความเห็นต่อไปว่า 

ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่มีผลทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปโดยอัตโนมัติตามคำวินิจฉัยเพราะความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์จะสิ้นสุดลงหรือรัฐมนตรีทั้งคณะจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีแล้วเท่านั้น ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า นายกฯและรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

 แต่ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องและมีคำวินิจฉัยออกมาดังกล่าวก็ขอเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าจะต้องดำเนินการหรือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไปอย่างไรเพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ความเสมอภาค และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล กับทั้ง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายของประเทศ อันจะนำไปสู่สังคมที่มีความเป็นปกติสุข ดังนี้
                
1.ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะได้ดำเนินการต่อไปอย่างไร ในเบื้องต้นควรที่จะต้องรอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”เสียก่อน
               
2.เมื่อคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วคณะรัฐมนตรีควรที่จะนำคำวินิจฉัยนั้นหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของคณะรัฐมนตรีว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้มีการพิจารณาและวินิจฉัยโดยเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ เพียงใด และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ หรือไม่ 

เนื่องจากตุลาการที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาและทำคำวินิจฉัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัยและที่สำคัญการพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าวได้กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญรองรับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคหก ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ
                
3.ระหว่างที่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง หมดอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่มีเจตนารมณ์ให้มีความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ให้มีช่องว่างแห่งการใช้อำนาจมหาชน
              
4.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วเพื่อที่จะได้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต่อไปอันเป็นการยุติบทบาทหรือยุติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดเดิมตามที่หลายฝ่ายต้องการ ในการเลือกตั้งดังกล่าวควรที่จะมีการทำประชามติไปในคราวเดียวกันว่าคณะรัฐมนตรีชุดเดิมจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: