PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

"ลิขิต ธีรเวคิน" วิพากษ์ศาลรธน. "ผู้วินิจฉัยแบบนี้นั้นจะรับผิดชอบทางใจหรือทางจิตวิญญาณหรือไม่"

วันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16:45:00 น.


หมายเหตุ ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ สัมภาษณ์ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน นักรัฐศาสตร์อาวุโสและราชบัณฑิต หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

-วิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่ผูกผันกับทุกองค์กรเป็นประเด็นที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนแต่ประเด็นก็คือ คำตัดสินนั้นต้องมีความชัดเจน มีหลักเกณฑ์ ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ที่ว่า คำตัดสินต้องสอดคล้องอยู่กับหลักความเป็นสากลหรือหลักความยุติธรรม มิเช่นนั้น คำตัดสินนั้นๆ จะไม่มีน้ำหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งไว้ว่า กฎหมายนั้นมีไว้ซึ่งการดำรงความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อการรักษากฎหมายเอง และการตีความกฎหมายนั้นมันต้องใช้สมองตีความมองหลายๆด้าน แล้วต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ใช่ตีความเถรตรง...

ประเด็นก็คือว่า ในเบื้องต้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องมาเป็นคดีนั้น ศาลทำถูกหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว นายกรัฐมนตรีนั้นหลุดจากความเป็นนายกฯ แล้วก็มาเป็นรักษาการนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญม.181 ที่บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่

ในประเด็นนี้ เมื่อนายกฯประกาศยุบสภาแล้ว การจะถอดถอนนายกฯ ซึ่งไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เป็นเพียงนายกฯ ชั่วคราวที่รอการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดรัฐบาลใหม่นั้น ทำได้หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนั้นบอกว่า สามารถปฏิบัติได้ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าปฏิบัติได้ ก็ไม่สามารถมีใครขัดได้เลย เพราะว่าองค์กรนี้สูงสุด

และที่สำคัญก็คือ โดยหลักแล้วการใช้กฎหมายนั้นต้องมีตัวกฎหมายใหญ่กำกับอยู่ เช่น การใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง ก็ต้องมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและแพ่ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิ่งนี้ รัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติให้ผ่านกฎหมายนี้ภายใน 1 ปี แต่ตอนนี้ก็ 7 ปีมาแล้ว กฎหมายเหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น พอไม่มีกฎหมายนี้ก็ทำให้ศาลสามารถตีความได้อย่างไม่มีขอบเขต กลายเป็นว่า ไม่มีกฎหมายมากำหนดการใช้กฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลฯ แล้วแต่จะตีความ ซึ่งในประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า คำตัดสินของศาลฯ นั้นขาดน้ำหนักแล้ว

การวินิจฉัยออกมาว่านายกฯ และรัฐมนตรี 9 คน ต้องพ้นจากตำแหน่ง ถ้ามีหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ แต่ประเด็นก็คือว่า กรณีนี้ เลขาฯ สมช.ที่ถูกโยกย้ายก็เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ในสมัยรัฐบาลอื่น ซึ่งรัฐบาลนั้นก็ต้องให้คนอื่นออกไปจากตำแหน่งเลขาฯ สมช.เหมือนกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้โดยสรุปก็คือ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะมีอำนาจ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะมีผลผูกผันกับทุกองค์กร แต่อย่าลืมว่า หลักการสากลนั้นมีอยู่ว่า อะไรก็ตามแต่ที่มีการกระทำขึ้น ต้องมีความถูกต้องตามหลักกฎหมาย (Legality) และความชอบธรรมทางการเมือง (Legitimacy) จะมีแต่ความถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้ ซึ่งเมื่อขาดสองหลักการนี้เมื่อใด จะไม่มีธรรมแห่งอำนาจ (moral authority) ประเด็นก็คือว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบนี้นั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเมื่อบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอำนาจ แต่ในเมื่อประชาชนนั้นไม่เห็นด้วย ก็ไม่รู้ที่จะใช้อำนาจอะไรไม่คัดค้านศาล เพราะศาลเป็นองค์กรสูงสุด

ประเด็นเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมาย (Legality) นั้น เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักวิชาการ ซึ่งเมื่อมีการถกเถียงกันว่ากฎหมายนั้นมีอำนาจหรือไม่ มีความถูกต้องหรือไม่ มีคงเส้นคงวาหรือไม่ ตั้งแต่เรื่องของคุณสมัคร สุนทรเวช และอีกในหลายๆ กรณี ซึ่งในประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า กฎหมายนั้นไม่มีความคงเส้นคงวา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความชอบธรรม

ซึ่งเมื่อบุคคลที่ใช้กฎหมายเป็นที่สงสัย ความชอบธรรมทางการเมืองเป็นที่สงสัย ธรรมแห่งอำนาจจะไม่มี ถึงแม้ว่าผลของอำนาจนั้นจะผูกพันกับทุกองค์กร แต่ความชอบธรรมนั้นไม่ผูกพันคนที่จะคิด จะจับคนไปติดคุกนั้นย่อมได้ แต่จะติดคุกความคิด ความคิดเสรี ความคิดที่เป็นธรรมนั้นไม่ได้

พูดตรงๆ ว่า การตัดสินอะไรก็ตามที่คนไม่สามารถยอมรับได้ เพราะว่าผิดหลักการนั้น ถ้านำไปสู่ผลในทางเสีย ถึงแม้ไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่จะต้องรับผิดชอบทางคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ซึ่งถ้าหากว่าเกิดปัญหาหนักเกิดขึ้น จนนำไปสู่การสูญเสียอย่างมหาศาล อยากจะตั้งคำถามต่อว่า ผู้วินิจฉัยแบบนี้นั้นจะรับผิดชอบทางใจหรือทางจิตวิญญาณหรือไม่ แล้วมันจะหลอกหลอนไปตลอดชีวิต กฎหมายเอาอะไรไม่ได้ แต่กฎแห่งกรรมเอาเรื่องได้

-การเมืองต่อจากนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในเมื่อกปปส. ก็ยังเดินหน้าชุมนุมต่อไป

ปัญหาเกิดขึ้นนั้นมันเป็นเรื่องปกติในสังคม แต่จะต้องมีกลไกที่จะนำไปสู่ข้อยุติ ซึ่งเมื่อใดที่หาข้อยุติไม่ได้ มนุษย์ก็จะข้ามแดนจากการมีเหตุผล เข้าไปสู่สภาวะตามธรรมชาติ นั่นก็คือการใช้กำลัง แล้วผลสุดท้าย บ้านเมืองจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งนี่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย ทุกวันนี้ ความไม่คงเส้นคงวา ความไม่เป็นธรรม ความต้องการที่จะปกปักรักษาอำนาจของตนเองนั้น ทำให้คนตาบอดหมด

ในขณะนี้ คนไทยใช้สมองข้างขวา ใช้แต่อารมณ์ มากกว่าสมองข้างซ้ายที่ใช้เหตุผลรวมไปถึงนักวิชาการหลายๆคนที่ขาดจริยธรรม ขายจิตวิญญาณทั้งความเป็นนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ คนพวกนี้ทรยศต่อวิชาชีพและจรรยาชีพของตัวเอง

-คิดว่าการเลือกตั้งจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อทางฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ยังคงเดินหน้าชุมนุมอยู่

ในเรื่องของการเลือกตั้งนั้น ถ้าตีความกันตามศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ หมายถึงแค่เอาคนมาขวางที่คูหาหนึ่งเขต ก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว นี่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องมีกันแล้วระบบการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีระบบการเลือกตั้ง แล้วจะใช้ระบบอะไรกัน ถ้าไม่มีระบบการเลือตั้งก็ต้องกลับไปสู่สภาวะธรรมชาติกันหรือไม่

คำถามนี้เราต้องกลับมาถามกันว่า เราต้องการให้ประเทศเราเดินต่อไปข้างหน้า ทนอยู่กันหน่อย อย่างน้อยส่วนหนึ่งก็กล่อมแกล้มกันไป แต่อยู่กันด้วยสันติ หรือต้องการให้ประเทศพังทลายเหมือนกับในซีเรีย ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เราต้องการกันเช่นนี้หรือไม่ แล้วใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ ประชาชนคนที่อยู่ตรงกลางนั้น ต้องมาคอยรับผลของความไม่ได้เรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ใครจะรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง จุดที่ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันโดยธรรมชาติในการป้องกันตัวเอง ลองจิตนาการดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

-ต่อจากนี้ไป อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลรักษาการควรทำและไม่ควรทำ

รัฐบาลรักษาการ ก็ต้องรักษาการอย่างเดียว และจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพราะนี่คือวิถีทางเดียวที่เหลืออยู่ ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ก็คือต้องรัฐประหาร แล้วรัฐประหารเสร็จจะเกิดอะไรขึ้นนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าอยากให้บ้านเมืองสงบก็จัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วใครจะแพ้ จะชนะก็ว่ากันไป

ส่วนใครจะมีการกำหนดให้เกิดข้อสัญญาระหว่างรณรงค์เลือกตั้งว่าจะอยู่แค่6 เดือน แล้วจะมีการปฏิรูปอย่างรวด จากนั้นก็จะลาออก แบบนี้ก็ทำได้เช่นกัน เหมือนกับกรณีที่นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ก็เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญเพียงบางมาตรา แล้วก็ลาออกและยุบสภาไป เพราะฉะนั้นมีทางเดียว คือ 1.เลือกตั้ง 2.รัฐประหาร 3. เสนอมาตรา 7 ขอนายกฯ คนกลาง ซึ่งอยากจะตั้งคำถามต่อว่า เป็นคนกลางบนพื้นฐานของอะไร รัฐธรรมนูญมาตราใด

ตอนนี้เรากำลังเขาสู่สภาวะทางตันทางการเมือง (Political coup d’etat) กันอยู่ ยังไม่รู้ตัวอีกหรือว่าเรากำลังยืนอยู่บนปากเหว ตนเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เสียภาษี ทำหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีสิทธิไปเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แล้วคุณมีสิทธิอะไรมาปล้นเสียงผม ปล้นเสียงคน 20 ล้านคน วันหนึ่งคนไทยจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ตรงนี้ เพราะไม่สามารถมีใครเอาสิทธิ์นี้ไปได้

-สถานะของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้องตีความกันคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้นเข้าใจ"ความเป็นนายกรัฐมนตรี" ไม่ถูกต้อง 

ถ้ายึดตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอังกฤษแล้ว นายกรัฐมนตรี คือ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรี โดยถือว่านายกรัฐมนตรีนั้นเป็น "คนที่หนึ่งในผู้ที่เท่าๆ กัน" (First among equals) ทำหน้าที่คอยประสานงานในการบริหารประเทศ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารประเทศ แต่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการผ่านมติของคณะรัฐมนตรี

ดังนั้น เมื่อ "ความเป็นนายกรัฐมนตรี" ของนางสาวยิ่งลักษณ์ได้สิ้นสุดลง จึงเป็นปัญหาที่ต้องตีความกันว่า "ความเป็นรัฐมนตรี" ที่หมายถึงรัฐมนตรีที่ยืนอยู่ตรงหัวแถวเป็นหัวหน้าของรัฐบาล หรือหมายรวมถึงความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกะลาโหมนั้น สิ้นสุดลงไปด้วยหรือไม่

ตามความเข้าใจของผม เมื่อคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ความเป็นรัฐมนตรีก็น่าจะต้องสิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: