PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จุดยืน “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” กับตำแหน่ง “นายกฯคนนอก”

จุดยืน “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” กับตำแหน่ง “นายกฯคนนอก”

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม 2557 เวลา 10:55 น.
เขียนโดย
isranews
"รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดไว้ว่า นายกฯ และรัฐมนตรีต้องพ้นจาก ส.ส.ด้วย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้กำหนดไว้เช่นนั้น ทำให้นายกฯ จะทำหน้าที่ทั้งบริหารและนิติบัญญัติในบุคคลเดียวกัน ซึ่งตนรับไม่ได้"
surachai
พลันที่ “สมาชิกวุฒิสภา” (ส.ว.) มีมติเลือก “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” ส.ส.สรรหา นั่งตำแหน่ง “ประธานวุฒิสภา” คนใหม่ ทุกถนนสายการเมืองจับตาไปไปยังการทำงานของ “สุรชัย” ทันที
“คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการกปปส. ออกมาเรียกร้องให้ “สุรชัย” เสนอชื่อ “นายกฯคนใหม่” ทันที โดยยึดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอรายงาน-สกู๊ป เรื่อง “แง้มแฟ้มประชุม สสร.50 ทำไม “นายกฯ” ต้องเป็น “ส.ส.” ?” โดยมีความเห็นของ “สุรชัย” เกี่ยวกับ การแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรีคนนอก” โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ไว้อย่างชัดเจน
เมื่อ “สุรชัย” ขึ้นมาเป็น “ผู้นำสภาสูง” จึงขอนำข้อมูลดังกล่าวมานำเสนอใหม่อีกครั้ง เพื่ออ่านใจลึกๆของชายชื่อ “สุรชัย”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไปค้นรายงานการประชุมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ครั้งที่ 32/2550 วันอาทิตย์ที่ 24 มิ.ย.2550 เพื่อดูว่าเหตุใด ส.ส.ร.ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงกำหนดว่า “นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.”
โดยการประชุมของ ส.ส.ร.วันดังกล่าว เป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ภายหลังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจาณาในมาตรา 167 (หรือ มาตรา 171 ในปัจจุบัน) ที่บัญญัติไว้ว่า
“มาตรา 167 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม มาตรา 168
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้”
ซึ่งผลปรากฏว่ามี ส.ส.ร.อภิปรายโต้แย้งกันอย่างดุเดือด เนื่องจาก “ศรีราชา เจริญพานิช” ส.ส.ร. ขอสงวนคำแปรญัตติให้ตัดมาตรา 167 วรรคสอง ที่ว่า "นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม มาตรา 168" ออกทั้งหมด !
โดยศรีราชาให้เหตุผลว่า ตนไม่ได้ต้องการจะเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ เพียงแต่ต้องการเปิดช่องไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกล้มหรือถูกฉีก เหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ล็อกไว้ว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ซึ่งเป็นข้อจำกัด และทำให้เกิดปัญหา
“การที่เขียนปิดกั้นไว้เช่นนั้น ก็จะมีผลอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 นะครับ ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยที่จะให้มีการเสนอให้นายกฯ นั้นมาจากมาตรา 7 อย่างนี้เป็นต้น แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ สุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการปฏิวัติ รัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญเหล่านั้นทิ้ง”
ศรีราชากล่าวอีกว่าเมื่อเลือกตั้งเสร็จ ส.ส.ทุกคนควรจะมีสิทธิในการเสนอความเห็นว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ คนมาจากคนที่เขาว่าเป็นคนดีที่สุด ฉะนั้นการเขียนไว้ว่า นายกฯต้องมาจาก ส.ส.นั้น เป็นการจำกัดสิทธิของ ส.ส.อย่างหนึ่ง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเราควรจะเปิดกว้างนะครับ ตนพูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าจะเปิดช่องให้ คมช.หรืออดีตนายกฯ ที่จะมีนอมินีกลับมา แต่การร่างรัฐธรรมนูญควรจะคำนึงถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไกลๆ ยาวๆ ด้วย
“เราไม่ได้ต้องการนายกฯ คนนอกครับ แต่เราต้องการเพียงตัดวรรคนี้ออกไป เพื่อจะให้มีโอกาสกว้างขึ้น และให้มีทางออกที่ไม่ต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกนะครับ” ศรีราชากล่าว
เมื่อศรีราชากล่าวจบ ปรากฏว่ามี ส.ส.ร.ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนจำนวนหนึ่ง
โดยความเห็นที่น่าสนใจมากที่สุดมากจาก “สุรชัย” ระบุว่า 1.รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดไว้ว่า นายกฯ และรัฐมนตรีต้องพ้นจาก ส.ส.ด้วย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้กำหนดไว้เช่นนั้น ทำให้นายกฯ จะทำหน้าที่ทั้งบริหารและนิติบัญญัติในบุคคลเดียวกัน ซึ่งตนรับไม่ได้
2.ถ้าเราต้องการสื่อความหมายว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เพราะต้องมาจากการเลือกตั้ง เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทย ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี ไม่มีการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง การเขียนให้นายกฯ มาจาก ส.ส. ตนเห็นว่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี
3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีความเป็นได้สูงว่าจะทำให้หลายพรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะไม่สามารถตกลงเรื่องตัวหัวหน้าพรรคที่จะมาทำหน้าที่นายกฯ ได้ แล้วเรไปปิดกั้นไม่ให้เชิญคนนอกที่มีความรู้ ความสามารถ ประชาชนยอมรับมาทำหน้าที่เป็นนายกฯ อย่างนั้นหรือ
และ 4.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการออกแบบกลไกในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเข้มข้นกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ฉะนั้นจึงไม่มีความแตกต่างอะไรเลย ระหว่างการเชิญคนนอกที่มีความรู้ ความสามารถ ประชาชนยอมรับ มาเป็นผู้นำในตำแหน่งนายกฯ ซึ่งท้ายสุดก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคที่ผ่านการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของประชาชน
ทั้งหมดคือความเห็นของ “สุรชัย” เมื่อวันวาน กับสถานการณ์ปัจจุบันที่ “กปปส.” เรียกร้องให้มี “นายกฯคนนอก” ซึ่งสอดคล้อง-สอดรับ กันเหลือเกิน

ไม่มีความคิดเห็น: