PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คำนูน:ปัญหา กระเปาะ ปตท.ที่ไม่กระเปาะ

ปัญหา 'กระเปาะ' ที่ไม่ใช่เรื่องกระเปาะ ๆ !

ประเด็นสำคัญที่สุดที่ควรต้องเถียงกันให้รู้เรื่องอย่างอารยะในปัญหายุทธศาสตร์ปิโตรเลียมของประเทศไทยนับจากนี้ไปก็คือ ความยากง่าย จำนวนเงินลงทุน และอัตราเสี่ยง ทั้งในขั้นตอนการสำรวจและขั้นตอนขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว สูงกว่า ต่ำกว่า หรือเท่ากัน หรือพูดง่าย ๆ ว่าเหตุผลที่อธิบายกันมาตั้งแต่เมื่อกว่า 40 ปีก่อนว่าทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศไทยไม่ใช่แหล่งใหญ่หากแต่เป็น 'กระเปาะ' ขนาดเล็ก ๆ กระจายแยกกันไป ขุดเจาะยาก ต้นทุนสูง ยังจริงอยู่หรือไม่ในวันนี้

ปัญหากระเปาะเล็กกระจายหรือไม่นี้เป็นปัญหาสมุฏฐานที่ใหญ่มาก ไม่ใช่ปัญหากระเปาะ ๆ เลย

เพราะเป็นที่มาของ 'ระบบสัมปทาน' ! 

วันเวลาผ่านมา 43 ปีนับจากปี 2514 เราใช้และฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 6 ฉบับ แต่หลักการสำคัญของการผลิตปิโตรเลียมของประเทศนี้ตามพ.ร.บ.ปิโตรเลี่ยม พ.ศ. 2514 ที่ใช้เวลาร่างกันหลายปี ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เสมือนนี่คือรัฐธรรมนูญถาวรของประเทศนี้เลยทีเดียว เพราะไม่ว่าจะพรรคไหนขึ้นมารวมทั้งพรรคทหารกี่ชุดต่อกี่ชุดต่างยังไม่เคยคิดเปลี่ยนแปลง มีแต่ทำให้เข้มข้นขึ้น

1. เป็นการให้สัมปทานในทรัพยากรปิโตรเลี่ยมของประเทศให้เป็นกรรมสิทธิของเอกชนไปเลยตลอดระยะเวลาที่ยาวนานมาก จนวันนี้ก็ยังไม่หมดเวลา

2. เป็นไปเพื่อการส่งออกสถานเดียว ถ้าจะขายในประเทศก็ให้ขายในราคาตลาดโลก

3. ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันสำเร็จรูปในราคาตลาดโลกสถานเดียว ไม่ว่าจะผลิตเองได้เพิ่มมากขึ้นเท่าไร

หัวใจของระบบสัมปทานคือการยกความเป็นเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์ทั้งหมดที่เกี่ยวปิโตรเลียม ไม่ว่าจะเป็นกรรมสิทธิ์ในข้อมูล กรรมสิทธิ์ในการจัดการผลิต และกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์การผลิต ให้แก่เอกชนผู้รับสัมปทาน 

เอกชนในที่นี้ในอดีตเป็นเอกชนต่างชาติ

แต่ในปัจจุบันเอกชนหรือบริษัทมหาชนสัญชาติไทยก็เข้ามามีส่วนร่วมในผลประโยชน์นี้อย่างมาก คงไม่ต้องเอ่ยชื่อหรอกนะ

เราเขียนกฎหมายปิโตรเลียมของเราขึ้นมาบนพื้นฐานข้อมูลที่ว่าทรัพยากรปิโตรเลียมของเราเป็นกระเปาะเล็ก สำรวจยาก ขุดเจาะยาก ต้นทุนสูง จึงต้องสร้างแรงจูงใจและหลักประกันให้บรรษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน

43 ปีผ่านไปเราให้สัมปทานไปมหาศาล

และกำลังจะให้สัมปทานรอบที่ 21 มาตั้งแต่สองสามปีก่อน

ติดแต่ภาคประชาชนมีความรู้มากขึ้น จึงมีความเห็นต่าง ว่าควรระงับไว้ก่อน และหันมาทบทวนว่าควรปรับเปลี่ยนระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (สำหรับแหล่งใหม่) และระบบจ้างผลิต (สำหรับแหล่งเก่าที่ยังเหลืออายุสัมปทานอยู่) อันจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้มากขึ้น มีเงินงบประมาณมาพัฒนาประเทศได้มากขึ้นโดยไม่ต้องกู้สถานเดียว ขณะเดียวกันประชาชนในประเทศก็อาจได้ใช้พลังงานในราคาต่ำลงบ้าง ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้ไปในตัว

ภาคประชาชนที่หาข้อมูลได้ยากลำบากได้มีข้อมูลจากเอกสารของบรรษัทน้ำมันต่างชาติสวนทางกับความเชื่อเดิม ๆ ว่าต้นทุนการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทยไม่ได้สูงกว่ามาตรฐาน และแหล่งปิโตรเลี่ยมในประเทศไทยก็ไม่ใช่กระเปาะขนาดเล็กกระจายกัน

โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย

แต่ภาครัฐก็ยังคงยืนยันในความเชื่อเดิม และโต้แย้งข้อมูลภาคประชาชน

ถ้าเถียงกันให้รู้เรื่องได้อย่างอารยะในประเด็นกระเปาะหรือไม่ ลงทุนสูงกว่าเสี่ยงกว่าหรือไม่ เราจะตกผลึกกันในประเด็นสำคัญที่สุดที่จะสามารถยกระดับทิศทางการปฏิรูปพลังงานได้อย่างก้าวกระโดด

ก่อนจะตกผลึกก็อย่าเพิ่งด่วนเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ก็แล้วกัน

ภาคประชาชนเขาเห็นว่าระบบสัมปทานเคยเป็นระบบที่ประเทศเจ้าอาณานิคมใช้กับประเทศอาณานิคมทั้งหลายในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่เมื่อประเทศเหล่านั้นได้รับเอกราชแล้วก็หันมาใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่าระบบการแบ่งปันผลิตโดยการเจรจาอย่างสันติ บริษัทต่างชาติก็ยินยอมแต่โดยดี เพราะไม่ใช่เป็นการไปยึดเอามาอย่างที่บางฝ่ายสร้างวาทกรรมให้น่าตกอกตกใจกัน

อย่าลืมว่าสำหรับประเทศไทยวันนี้ เอกชนผู้รับสัมปทานไม่ใช่มีแต่ต่างชาติ หากเป็นบริษัทมหาชนสัญชาติไทยที่คงมีความเป็นรัฐวิสาหกิจติดตัวอยู่รวมอยู่ด้วย

หากตกผลึกกันแล้วก็น่าจะเจรจากันโดยสันติเป็นตัวอย่างให้บรรษัทต่างชาติได้

นี่พูดจากใจจริง ไม่ได้เสียดสี ไม่ได้กระทบกระแทกแดกดัน

เราเป็นประเทศที่สร้างระบบเผด็จการของพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภาประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกมาแล้ว 

อย่าให้ประเทศไทยตัองเป็นประเทศกลุ่มท้าย ๆ ในโลกที่คงระบบสัมปทานไว้โดยไม่ปรับเปลี่ยนเลย

ไม่มีความคิดเห็น: