PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กสาวชาวปากีสถานวัย17ปี คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2014

ปากกระบอกปืนหรือจะเปลี่ยนความมุ่งหมายและความมุ่งมั่นของเรา
มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กสาวชาวปากีสถานวัย17ปี คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2014 นับเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
มาลาลา ซึ่งรอดชีวิตจากการถูกกลุ่มตอลิบานยิงที่ศีรษะบนรถโรงเรียนเมื่อปี 2012 กลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักสิทธิมนุษยชนรุ่นเยาว์ที่เรียกร้องสิทธิ์ในการศึกษาเล่าเรียนสำหรับเด็กผู้หญิง และเป็นแบบอย่างให้เยาวชนทั่วโลกได้เห็นว่า พวกเขาสามารถมีส่วนยกระดับสถานภาพของตนเองได้อย่างไร
คณะกรรมการโนเบลสันติภาพกล่าวถึงเธอว่า “เธอยืนหยัดทำสิ่งเหล่านี้แม้จะตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง ด้วยการต่อสู้อย่างกล้าหาญนี้ เธอจึงกลายเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องสิทธิทางการศึกษาของเด็กหญิง”
12 กรกฎาคม 2556 มาลาลาได้รับเชิญจากสหประชาชาติให้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสภาเยาวชนระหว่างประเทศประจำปี 2556 ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ
การกล่าวถ้อยแถลงของนาวสาวมาลาลาในครั้งนี้มีขึ้นตรงกับวันเกิดอายุ 16 ของเธอ และวันนี้ได้รับการประกาศจากสหประชาชาติให้เป็น “วันมาลาลา” เพื่อระลึกถึงเป้าหมายทางการศึกษาสำหรับเด็กทุกคน นอกจากนี้ ในโอกาสเดียวกัน เธอได้มอบหนังสือร้องเรียน ซึ่งลงชื่อโดยประชาชน 4 ล้านคน แก่นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนเด็ก 57 ล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่ได้รับการศึกษา โดยหนังสือร้องเรียนดังกล่าวเรียกร้องผู้นำทั่วโลกให้สนับสนุนเงินทุนในการจ้างครูใหม่ สร้างโรงเรียนใหม่ และซื้อหนังสือ รวมทั้งยุติการใช้แรงงานเด็ก การแต่งงานก่อนวัยอันควร และการค้าเด็ก
มาลาลากล่าวว่าการศึกษาเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นและเรียกร้องนักการเมืองเร่งดำเนินการให้สิทธิในการศึกษาแก่เยาชนทุกคน พร้อมกันนี้ เธอยังได้เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกให้การศึกษาภาคบังคับฟรีแก่พลเมืองเยาวชนของตน ต่อต้านการก่อการร้ายและความรุนแรง รวมทั้งปกป้องพลเมืองเยาวชนของตนให้ปลอดภัยจากการทารุณกรรมต่างๆ นอกจากนี้ เธอยังประกาศว่าเธอกำลังเรียกร้องสิทธิให้แก่สตรี เนื่องจากเห็นว่าสตรีเป็นเพศที่ถูกกดขี่มากที่สุดและการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายไม่อาจทำให้เธอล้มเลิกอุดมการณ์ดังกล่าวได้ โดยในการกล่าวถ้อยแถลงครั้งนี้ เธอยืนยันว่าไม่ได้เพื่อต่อต้านหรือแก้แค้นบุคคลกลุ่มใดเป็นพิเศษ
มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กสาวปากีสถานวัย 15 ปีที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางการศึกษาจากกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงตอลิบาน จนนิตยสารไทม์ได้จัดให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก เธอเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อการศึกษาของสตรี
มาลาลา เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 ณ เมืองมินโกราเขตสวัด จังหวัดไคเบอร์ปัคตุนควา พ่อของเธอนายไซอุดดิน เป็นเจ้าของโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่ง ในช่วงต้นปี 2550 อิทธิพลของกลุ่มนักรบติดอาวุธหัวรุนแรงตาลิบานได้ขยายเติบโตขึ้น มัวลานา ฟาสลูลลาห์ ผู้นำกลุ่มฏอลิบานอาศัยผลประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาทำการรวมอำนาจในเขตสวัด การสอนกฎหมายศาสนาอิสลามผ่านทางวิทยุกระจายเสียง FM ของนายมัวลานานั้นป็นที่แพร่หลายอย่างมากในช่วงเวลานั้น
ในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 พื้นที่เขตสวัดก็กลายเป็นแหล่งก่อการร้าย ตาลิบานเริ่มรณรงค์ล้มล้างสถาบันของรัฐ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายคือโรงเรียนสตรีโดยอ้างว่าเป็นการขัดต่อการสอนของศาสนาอิสลามที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ โรงเรียนสตรีไม่ต่ำกว่าร้อยโรงเรียนได้ถูกเผาทำลายพร้อมกับการข่มขู่ทั้งนักเรียนและครู แต่ทว่าโรงเรียนที่มาลาลาศึกษาอยู่ยังคงทำการเปิดการเรียนการสอนอยู่ถึงแม้จะถูกข่มขู่อยู่ตลอดเวลาก็ตาม
เมื่อมาลาลาอายุได้ 11 ปี เธอได้ปรากฏสู่สาธารณะครั้งแรก โดยนายไซอุดดิน ได้พาลูกสาวไปเข้าร่วมงานชุมนุมที่อำเภอเมือง เปชวาร์ เพื่อร่วมต่อต้านการโจมตีโรงเรียนสตรีของฏอลิบาน มาลาลาได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “ฏอลิบานอาจหาญอย่างไรในการระงับสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาของฉัน” ซึ่งในการกล่าวต่อหน้าผู้ชุมนุมนี้เธอได้รับเสียงสนับสนุนเป็นอย่างดี
มาลาลาเริ่มมีชื่อเสียงผ่านบล๊อคที่เธอเขียนให้แก่ บีบีซี โดยใช้นามแฝงที่ชื่อว่า “กุล มาไค ” เธอเริ่มลงข้อความตั้งแต่ต้นปี 2552 โดยได้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่ถูกฏอลิบานควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของสตรี เช่น ห้ามผู้หญิงแต่งกายสีฉูดฉาด ห้ามผู้หญิงเดินตลาด และห้ามนักเรียนหญิงไปโรงเรียน เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกเมื่อได้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ที่ต่อต้านฏอลิบาน ซึ่งมีผู้ฟังมากถึง 25 ล้านคน
ในเดือน พ.ค. 2552 นิตยสารนิวยอร์คไทม์ ได้ถ่ายสารคดีเกี่ยวกับเธอ โดยได้ถ่ายทำจริงในระหว่างที่กองทัพปากีสถานได้เข้าทำการสู้รบในสงครามครั้งที่สองแห่งสวัด ซึ่งทำให้มาลาลาเป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น มาลาลากับชาวปากีสถานนับล้านได้หลบหนีออกจากหุบเขาสวัด จากเหตุความวุ่นวายในครั้งนี้ ทำให้มาลาลาและครอบครัวแยกจากกัน การต่อสู้ดำเนินไปในที่แห่งนี้นานหลายเดือน จนถึงเดือนสิงหาคม พวกเขาได้กลับมาที่สวัดอีกครั้งเมื่อกองทัพทหารปากีสถานได้ประกาศว่าเขตสวัดอยู่ในความสงบแล้ว ในตอนนั้นเองพ่อของมาลาลาได้เปิดเผยว่ามาลาลานั้นเองที่เป็นคนเขียนบล็อคให้แก่ BBC ส่งผลให้พวกฏอลิบานมุ่งเป้าคุกคามคนในครอบครัวเธอตั้งแต่นั้นมา
หลังสงครามสงบ มาลาลาได้ทำหน้าที่เป็นประธานของสภาเด็กแห่งเขตสวัด เพื่อเรียกร้องให้มีอิสรภาพทางการศึกษาทั้งในปากีสถานและในเวทีโลก จนเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555มาลาลา ยูซาฟไซถูกลอบยิงจากมือปืนฏอลิบานขณะเธอนั่งรถโรงเรียนกลับบ้าน โดยมีมือปืนสวมหน้ากากได้หยุดรถโรงเรียนของมาลาลา มีผู้บาดเจ็บจากการลอบยิงครั้งนี้ 3 คน ส่วนมาลาลาโดนกระสุนสองนัด นัดหนึ่งที่ศีรษะ และอีกนัดหนึ่งที่ต้นลำคอ ทำให้เธออยู่ในสภาพบาดเจ็บสาหัสอยู่หลายวันจนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2555 กลุ่มผู้นำศาสนา 50 คนในปากีสถานได้ออกแถลงการณ์ฟัตวา แสดงความไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ลอบยิงครั้งนี้ แต่ได้รับตอบกลับจากพวกฏอลิบานว่าพวกเขาตั้งใจจะฆ่ามาลาลาและบิดาของเธอให้ได้จริงๆ วันที่ 15 ตุลาคมเธอได้ถูกย้ายไปรักษาตัว ที่ประเทศอังกฤษ
ด้วยความมุ่งมั่นของมาลาลา ทำให้นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และปัจจุบันเป็นทูตพิเศษสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษาของโลก ได้รณรงค์ส่งเสริมการศึกษาเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอในหัวข้อที่ชื่อว่า “I am Malala” โดยส่งเสริมการศึกษาในประเทศปากีสถานด้วยกองทุนสากลและเป็นการริเริ่มโครงการภายในประเทศอีกด้วย นายบราวน์ชี้ให้เห็นว่ามี 32 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นนักเรียนหญิงที่ไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งนักเรียนหญิงเหล่านี้อยู่ในประเทศปากีสถานถึงร้อยละ 10 หรือประมาณ 3.2 ล้านคน บราวน์ประกาศให้ความช่วยเหลือโดยร่วมมือวางแผนกับรัฐบาลปากีสถาน องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรสากลอื่นๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาทั้งหมดภายในปี 2558 และเพื่อเป็นการยกย่องแก่มาลาลา
นอกจากนี้องค์กร Vital Voices Global Partnership ซึ่งก่อตั้งโดยนางฮิลลารี่ คลินตัน ได้จัดตั้งกองทุนมาลาลาขึ้น เพื่อให้เงินช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักเรียนหญิงตามวิสัยทัศน์ของมาลาลา โดยเป้าหมายแรกของเธอคือให้การศึกษาแก่เด็กหญิง 40 คนในเขตบ้านเกิดของเธออย่างลับๆ ในสถานศึกษาที่ปลอดภัย ด้วยจำนวนเงิน 45,000 เหรียญสหรัฐฯ มาลาลายังมีเป้าหมายที่จะขยายกองทุนนี้เพื่อช่วยเหลือเด็กไปทั่วโลก โดยได้กล่าวเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันบริจาคกองทุนมาลาลาโดยขยายการช่วยเหลือจาก 40 คนให้กลายเป็น 40 ล้านคน ซึ่งกองทุนก็ได้รับเงินทุนก้อนโตจากนายอาซิฟ อาลี ซาดารี ประธานาธิบดีของปากีสถานด้วยจำนวนเงิน 10,000,000 เหรียญสหรัฐฯ กองทุนนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากดาราฮอลลีวูดชั้นนำอย่าง แองเจลีนา โจลี ด้วยยอดเงินบริจาค 200,000 เหรียญสหรัฐฯอีกด้วย
จากการเรียกร้องถึงอิสรภาพในการศึกษาอย่างไม่ย้อท้อ ทำให้เธอได้รับรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ รางวัลสิทธิมนุษยชนเพื่ออิสรภาพของผู้หญิงนานาชาติ ( Simone de Beauvoir Prize, International Human Rights Prize for Women's Freedom, 2013) และรางวัลเยาวชนเพื่อสันติภาพแห่งชาติ (National Youth Peace Prize, 2011) ซึ่งมาลาลาถือเป็นคนแรกของปากีสถานที่ได้รับรางวัลนี้
นิตยสาร TIME ได้ประกาศมาลาลาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอันดับสองแห่งปี 2555 รองจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ปัจจุบันเธอกำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนสตรีเอดจ์บาสตัน ในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น: