PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557

(ข้อมูล)สภาปฏิรูปแห่งชาติ สปช.

สภาปฏิรูปแห่งชาติ

สภาปฏิรูปแห่งชาติสำคัญอย่างไร

สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน สังคม และอื่นๆ เพื่อให้การปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนา อย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็วและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

จำนวนสภาปฏิรูปแห่งชาติ 
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีจำนวนไม่เกิน 250 คน จากคณะกรรมการสรรหาจังหวัด จำนวน 77 คน และคณะกรรมการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)แต่งตั้ง รวม 11 คณะ จำนวน 173 คน (ตามจำนวนที่เห็นสมควร)

คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
     - มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
     - มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
     และจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  • เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
  • เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สิน เพิ่มขึ้นผิดปกติ
  • อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง
  • เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายเกี่ยวกับการพนัน ในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
  • เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิด ลหุโทษ 

สมาชิกภาพของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง กรณีดังนี้
  • ตาย
  • ลาออก
  • ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
  • สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่กระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติให้ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ และจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะพ้นจากตำแหน่ง 
  • ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมเกินจำนวนที่กำหนดตามข้อบังคับ
  • ร่างรัฐธรรมนูญตกไป หรือไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด

ที่มาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 

คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการคัดเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอชื่อจังหวัดละ 5 คน แล้วพิจารณาเหลือ จังหวัดละ 1 คน รวมจำนวน 77 คน ที่เหลือคัดเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิฯ (11 คณะ) เสนอให้ ซึ่งรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 250 คน

อำนาจหน้าที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ 
  • ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ เสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก
  • พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น
  • สภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่เสนอผู้ที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน
  • ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ประกอบด้วย
    • ประธานกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ จำนวน 1 คน
    • สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 20 คน
    • สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 5 คน
    • คณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 5 คน
    • และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 5 คน
  • สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเรื่องใดไม่ถูกต้อง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละบุคคลสามารถเสนอแก้ไขได้ แต่ไม่ผูกพันคณะกรรมาธิการในการพิจารณาแก้ไข
  • ลงมติในการพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำหน้าที่รับผิดชอบงานเลขานุการและงานธุรการ

ไม่มีความคิดเห็น: