PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กบฎเมษาฮาวาย มนูญ รูปขจร

 
กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย (1-3 เมษายน พ.ศ. 2524) โดย พันเอกมนูญ รูปขจร และพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้า
กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย เป็นการก่อกบฏเมื่อวันที่ 1 เมษายน - 3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือที่เรียกว่ารุ่น ยังเติร์ก ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.), พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9), พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอกบวร งามเกษม (ป.11), พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ
คณะผู้ก่อการได้เริ่มก่อการเมื่อเวลา 2.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยจับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ มีใจความว่า
เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระ ส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2
การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน โดยเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเสมือนฝันหรือเป็นการแสดง ประจวบกับเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนตรงกับวันเอพริลฟูลส์ ซึ่งตามธรรมเนียมชาวตะวันตกถือเป็นวันที่ผู้คนโกหกใส่กันได้ จึงได้อีกชื่อนึงในเชิงเหยียดหยันจากสื่อมวลชนว่า กบฏเมษาฮาวาย
ผู้ก่อการเดินทางออกนอกประเทศ พันเอกมนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหาร ในเวลาต่อมา
ภายหลังเหตุการณ์ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้าน ได้รับความไว้ใจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ได้เลื่อนเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มีความสนิทสนมกับ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และมีความผูกพันกันพอสมควร พอช่วงเดือนเมษายน 2524 หรือที่เกิดเหตุการณ์ ยึดอำนาจ "เมษาฮาวาย" เขาจึงได้นำตำรวจกองปราบฯ ร่วมกับคณะผู้ก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในขณะนั้น ผลปรากฏว่า การยึดอำนาจไม่สำเร็จ ฝ่าย "ผู้ก่อการ" พ่ายแพ้ถูกจับ และ "ร.ต.อ.เฉลิม" ก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในโทษฐาน "กบฏ"
"เมื่อปฏิวัติแพ้ ผมก็ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำบางเขน 1 เดือน และต่อมามีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก็เท่ากับว่าผมไม่มีความผิด ผู้บังคับบัญชา จึงชวนผมกลับมาเป็นตำรวจอีก แต่ผมขออนุญาต เพราะได้ตัดสินใจเลือกที่จะเดินบนเส้นทางการเมืองแล้ว"

กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ กันยา (กันยายน พ.ศ. 2528) โดย พันเอกมนูญ รูปขจร และพลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้า
การพยายามทำการปฏิวัติในวันที่ 9 กันยายน 2528 นับเป็นเหตุการณ์กบฏครั้งที่สอง (คำว่า ”การปฏิวัติ” ที่นิยมใช้ทั่วไปนั้นที่ถูกต้องคือ “การรัฐประหาร” ซึ่งถ้าล้มเหลวจะมีสภาพเป็น “กบฏ”) ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพันเอกมนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พลตรีมนูญกฤต รูปขจร) ผู้นำในการกบฏครั้งก่อนที่ถูกให้ออกจากราชการ (ดู กบฏเมษาฮาวาย) เป็นผู้นำการก่อการ ร่วมกับน้องชายนาวาอากาศโท มนัส รูปขจร ทั้งยังมีนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่ อาทิ พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวมถึงพลเรือนที่เป็นผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายประทิน ธำรงจ้อย และเจ้าของแชร์ชาร์เตอร์ นายเอกยุทธ อัญชันบุตรร่วมอยู่ในคณะผู้ก่อการด้วย โดยคณะปฏิวัติฉวยโอกาสที่นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก พลเอกอาทิตย์ กำลังเอกซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ด้วย ไปราชการต่างประเทศ โดยในวันเกิดเหตุพลเอกเปรมอยู่ที่อินโดนีเซีย ส่วนพลเอกอาทิตย์อยู่ที่สวีเดน
เหตุการณ์เริ่มขึ้นเช้ามืดราว 03.00 น. ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยกำลังทหารจากกรมอากาศโยธินได้เข้าจับกุมตัวพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศที่บ้านพักเพื่อใช้เป็นตัวประกัน และกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งพร้อมรถถังของกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ได้เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมกับได้เข้ายึด ทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ทั้งยังได้ตรึงกำลังบริเวณหน้ารัฐสภาและพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ความเสียหายหน้าสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จากการถูกระดมยิงด้วยปืนกลบนป้อมรถถังขนาด 12.7 มม. (0.50 นิ้ว)
ราว 04.00 น. ฝ่ายรัฐบาลได้รับรายงานการก่อการปฏิวัติและแจ้งให้พลเอกเปรมและพลเอกอาทิตย์ทราบ ซึ่งมีคำสั่งให้พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บางเขน เพื่อเป็นฐานบัญชาการต้านปฏิวัติ
รถถัง ยิงจากบริเวณ ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม 
ราว 07.30 น. พลเอกเทียนชัยออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงในเครือข่ายกองทัพ ให้กำลังทหารที่เคลื่อนย้ายกำลังออกมากลับเข้าที่ตั้ง ในเวลาใกล้เคียงกันฝ่ายผู้ก่อการก็ออกประกาศคณะปฏิวัติชี้แจงเหตุผลการก่อการทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ โดยระบุชื่อพลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ พร้อมออกคำสั่งคณะปฏิวัติตามมาอีกหลายฉบับ ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังประกาศย้ำคำสั่งเดิมเป็นระยะๆ
ช่วงสาย ราว 10.00 น. เกิดการปะทะกันขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และฝ่ายปฏิวัติได้เคลื่อนรถถังเข้าไปที่กองพล 1 รอ. เพื่อยึดสถานีวิทยุกองพล 1 ซึ่งรัฐบาลใช้ออกแถลงการณ์ การปะทะเป็นไปอย่างรุนแรง มีการยิงทำลายเสาอากาศเครื่องส่ง และห้องส่งกระจายเสียงจนใช้การไม่ได้
เวลา 11.00 น. พลเอกเทียนชัยกล่าวทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ย้ำให้ทหารที่เคลื่อนกำลังออกมากลับเข้าที่ตั้ง และได้ประกาศให้ปลัดกระทรวงต่างๆ มารายงานตัวที่กรมทหารราบที่ 11 ปรากฏว่ามีมารายงานตัวทั้งหมด 21 คน ในเวลาไล่เลี่ยกันกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ และ อ.ส.ม.ท. คืนมาได้ ทำให้คณะปฏิวัติไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้อีก
หลังเวลา 12.00 น. กำลังของคณะปฏิวัติเริ่มถอยร่นกลับเข้าไปในสนามเสือป่า
เวลา 12.40 น. ผู้นำแรงงานหลายคนได้ขึ้นปราศรัยโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
เวลา 13.00 น. รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ ผ่านทางช่อง 5 ขณะเดียวกันทางฝ่ายรัฐบาลก็ได้ทำการเจรจาให้ฝ่ายปฏิวัติยอมวางอาวุธ
เวลา 15.00 น. การเจรจาเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลยอมให้พันเอกมนูญเดินทางไปยังสิงคโปร์ ส่วนนาวาอากาศโทมนัสหลบหนีไปได้ (ภายหลังทั้งคู่ได้ลี้ภัยไปเยอรมนีตะวันตก) กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ชุมนุมอยู่ก็สลายตัวไป คณะปฏิวัติที่เหลือทยอยกันเข้ามารายงานตัวพร้อมกับปล่อยตัวประกัน พลอากาศเอกประพันธ์ เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นทหาร 2 ราย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 ราย ประชาชน 1 ราย ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย และมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “กบฏ” 33 ราย ซึ่งภายหลังได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2531 
แม้การทำปฏิวัติครั้งนี้ จะระบุชื่อพลเอกเสริม เป็นหัวหน้า แต่ตัวเขารวมถึงพลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกยศ ล้วนอ้างว่าถูกบีบบังคับให้เข้าร่วม (กรณีพลเอกยศ ฝ่ายรัฐบาลบางส่วนเชื่อว่าเป็นผู้นำการก่อการด้วย) ขณะที่พันเอกมนูญ นายทหาร จปร. 7 ซึ่งเป็นผู้นำการก่อการและมีชื่อเป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ ไม่ปรากฏว่ามีเพื่อนร่วมรุ่นเข้าร่วมปฏิวัติด้วย กำลังที่ใช้ปฏิวัติก็มีเพียงหน่วยทหารม้าที่พันเอกมนูญเคยเป็นผู้บังคับบัญชา และทหารอากาศของน้องชาย รวมประมาณ 500 นาย โดยขาดหน่วยทหารราบซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญของการปฏิวัติแทบทุกครั้ง ทำให้มีคำถามว่าอาจมีผู้คิดจะร่วมก่อการด้วยแต่ไม่มาตามนัดหรือไม่ โดยเป้าจะอยู่ที่นายทหารคุมกำลังสำคัญอย่างพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่มาฐานบัญชาการต้านปฏิวัติที่กรมทหารราบที่ 11 ล่าช้า และเป็นผู้ที่สนิทสนมกับกลุ่มนายทหาร จปร. 7 มาแต่เดิม พลโทพิจิตรเองได้เป็นผู้เจรจากับฝ่ายปฏิวัติและเปิดโอกาสให้พันเอกมนูญออกนอกประเทศ นอกจากนี้พลโทพิจิตรยังเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับพลเอกเปรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคณะปฏิวัติให้เชื่อมสถาบันสำคัญของประเทศได้ (คณะปฏิวัติพยายามแสดงตัวว่าเป็นผู้จงรักภักดีด้วยการนำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี พระบรมโอรสาธิราช มาติดที่หน้ารถถัง พร้อมกับธงสีเหลืองและสีฟ้า) ที่สำคัญกว่านั้นพลโทพิจิตรเป็นนายทหารที่เป็นฐานกำลังให้กับพลเอกอาทิตย์ซึ่งบาดหมางกับพลเอกเปรมมาแล้วร่วมปี ตั้งแต่การลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2527 ด้วยไม่พอใจว่าพลเอกเปรมไม่ได้ปรึกษากับทางกองทัพก่อน ความคลางแคลงใจที่เกิดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พลโทพิจิตรเปลี่ยนท่าทีโดยวางตัวออกห่างพลเอกอาทิตย์ และโน้มเอียงหาพลเอกเปรมมากขึ้น ความขัดแย้งที่คุกรุ่นระหว่างรัฐบาลกับผู้นำกองทัพลงเอยที่พลเอกเปรมประกาศในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2529 ว่าจะไม่มีการต่ออายุราชการให้พลเอกอาทิตย์อีกเป็นครั้งที่สอง และสั่งปลดพลเอกอาทิตย์จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 คงไว้แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส่วนผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทนก็คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายทหารที่ใกล้ชิดกับพลเอกเปรมและเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการปฏิวัติ 9 กันยายน พ.ศ. 2528
นอกจากผลต่อการเปลี่ยนขั้วอำนาจภายในกองทัพแล้ว การทำปฏิวัติ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ยังมีข้อน่าสนใจตรงที่มีการเคลื่อนไหวของพลเรือนที่ไม่พอใจรัฐบาลด้วย ซึ่งมาจากการแสวงหาแนวร่วมของพันเอกมนัส อย่างเช่น กลุ่มแรงงานประชาธิปไตยซึ่งผู้นำกลุ่มที่เป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยถูกให้ออกจากงานหลังเคลื่อนไหวเรื่องเงินค่าชดเชย กลุ่มนี้เคลื่อนไหวร่วมกับสหภาพแรงงานอื่นโดยชูประเด็น “ปัญหาปากท้อง” อีกทั้งมีนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ผู้ต้องหาคดีแชร์ชาร์เตอร์ ซึ่งรับผลกระทบจากการปราบปรามเงินนอกระบบและทรัสต์เถื่อนของรัฐบาลพลเอกเปรม เป็นผู้ออกทุนในการทำการปฏิวัติ โดยนายเอกยุทธยังเป็นผู้นำกำลังทหารของคณะปฏิวัติเข้ายึดรถ ขสมก. เพื่อนำมาขนส่งผู้ใช้แรงงานด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: