PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คดี ยิ่งลักษณ์

ยืดไปเรื่อยๆเหมือนคดี ปรส . อิอิอิ
ยื่นฟ้อง 'ปู' ฟันจำนำข้าว ศาลนัดชี้ชะตา 19 มี.ค.
อัยการหอบสำนวน 20 ลัง ยื่นฟ้อง'ยิ่งลักษณ์'ทุจริตจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 19 มี.ค.นี้ ทนายยัน 'ปู' กำหนดมาศาลนัดแรกพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง นายอเนก คำชุ่ม และนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งได้นัดให้มารายงานตัวในวันนี้เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการ เพื่อระบุสาเหตุที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เดินทางมาศาล พร้อมขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายกิตตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือเพื่อแจ้งต่ออัยการถึงสาเหตุที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เดินทางมารายงานตัว เนื่องจากเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในสถานะผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวเป็นเรื่องของอัยการสูงสุดที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องและนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ทางน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยืนยันว่า พร้อมที่จะเดินทางมาศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและขอใช้สิทธิ์ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งทางทีมทนายความมั่นใจในความบริสุทธิ์ เพราะมีพยานหลักฐานที่จะหักล้างข้อกล่าวหาของอัยการได้ ส่วนการเดินทางออกนอกประเทศในขณะนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่มีกำหนดเดินทางไปไหน และที่ผ่านมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยตลอด แต่หากจะเดินทางไปไหนก็คงจะต้องขออนุญาตทางคสช.ก่อน เพราะช่วงนี้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก อย่างไรก็ตามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้หนักใจและพร้อมสู้ทุกประเด็นโดยมอบหมายให้ทีมทนายความต่อสู้อย่างเต็มที่ ส่วนประเด็นที่ทาง ป.ป.ช.ยังไม่สอบสวน รวมถึงหนังสือขอความเป็นธรรมที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากอัยการสูงสุดก็จะนำมาเป็นประเด็นต่อสู้ในศาลด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทางป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้กระทรวงคลังฟ้องแพ่ง เพื่อให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการเป็นเงิน 6 แสนล้านบาทถือเป็นการกดดันหรือไม่ นายนรวิชญ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะหารือกันภายในสัปดาห์หน้าว่ารายละเอียดในหนังสือที่ทางป.ป.ช.ยื่นต่อกระทรวงการคลังมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมทำหนังสือโต้แย้งมติของป.ป.ช. ส่งไปยังกระทรวงการคลังต่อไป
จากนั้นเวลา 10.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีสอบสวนพร้อมคณะทำงานอัยการ ได้นำเอกสารหลักฐานในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 20 ลัง ใส่ในรถเข็น 3 คัน มายื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยไมได้นำตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์มา
ด้านนายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาฯว่า เมื่ออัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาจะเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายในเวลาไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันยื่นฟ้องเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกากว่า 170 คน เป็นผู้คัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษา จำนวน 9 ท่าน โดยวิธีลงคะแนนลับ เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกองค์คณะผู้พิพากษาเสร็จสิ้นแล้วประธานศาลฎีกาก็จะประกาศรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่ เพื่อให้คู่ความทราบและมีโอกาสคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก ต่อมาองค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ก็จะทำการเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนโดยใช้วิธีลงคะแนนลับเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาจะร่วมกันพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ว่า เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ โดยเบื้องต้นนายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา พร้อมด้วยองค์คณะ จำนวน 3 คน ได้พิจารณาสำนวนก่อนที่จะนัดฟังคำสั่งว่า จะประทับรับฟ้องคดีหรือไม่ ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. แต่ศาลอาจจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้ก่อนวันดังกล่าวก็ได้
"หากองค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคำฟ้องที่ครบองค์ประกอบและชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีมติประทับรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้เพื่อพิจารณา พร้อมทั้งกำหนดวันพิจารณาคดีครั้งแรก โดยศาลจะส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยให้มาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อให้การต่อสู้คดี ซึ่งในวันดังกล่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องเดินทางมาศาล และกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ส่วนเรื่องการปล่อยชั่วคราวหากโจทก์นำตัวจำเลยมาศาลวันนี้ผู้พิพากษาประจำแผนกฯ จะเป็นผู้พิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยต่อไป" นายธีรทัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า อายุความของคดีดังกล่าวมีกำหนดเท่าไหร่ นายธีรทัย กล่าวว่า คดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกฟ้องมานั้นมีอายุความ 15 ปีนับจากวันที่ได้กระทำตามฟ้องโดยในการพิจารณาคดีนั้นหากตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรกแล้ว ศาลฎีกาฯ มีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้โดยที่ตัวจำเลยเองไม่ต้องร้องขอเพราะถือว่าตัวเข้าสู่อำนาจของศาลแล้ว เนื่องจากเป็นระบบไต่สวน เมื่อถามว่า ในวันพิจารณาคดีครั้งแรกหากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เดินทางมาศาลจะพิจารณาออกหมายจับหรือไม่ นายธีรทัย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจขององค์คณะว่าจะมีคำสั่งอย่างไร
ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุดนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูลอธิบดีอัยการสำนักงานคดีสอบสวน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยงรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าวภายหลังยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาฯ
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องดำเนินคดีตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนกรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ในวันนี้อัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000 -20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, มาตรา 123/1 ระวางโทษจำคำ1-10 ปี ปรับ 20,000 -200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมนำเอกสารหลักฐานจำนวนมากตามที่คณะทำงานทั้งสองฝ่ายได้รวบรวมมาโดยได้ตรวจสอบและเรียบเรียงให้สอดคล้องกับคำฟ้องตลอดจนจัดทำสำเนาให้ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว
นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นฟ้องในวันนี้แม้จำเลยจะมิได้เดินทางมาศาลฎีกาฯแต่อัยการสูงสุดยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ในการฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ ได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2543 ข้อ 8 วรรคสอง ที่ระบุว่า หากโจทก์นำตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้องให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวหากไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้อง สำหรับขั้นตอนของทางอัยการนั้นหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาจำนวน 6 คน โดยมีนายชุติชัย เป็นหัวหน้าคณะเพื่อรับผิดชอบในการว่าความคดีนี้ในชั้นศาล ซึ่งสำนวนคำฟ้องจะใช้ของป.ป.ช.เป็นหลักโดยศาลจะใช้ระบบไต่สวน และหากเห็นว่าพยานหลักฐานใดยังไม่สมบูรณ์หรือมีข้อสงสัยใดๆศาลฎีกาฯ ก็สามารถออกหมายเรียกให้พยานมาไต่สวนเพิ่มเติมได้
“ทางอัยการยืนยันว่าพยานหลักฐานในสำนวนนี้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วซึ่งคณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างจัดเตรียมบัญชีพยานมากกว่า 10 ปาก ไต่สวนในชั้นศาลเพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร มีการทุจริตตรงไหนส่วนใดบ้าง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไรซึ่งสอดคล้องกับพยานหลักฐานของทาง ป.ป.ช. และยืนยันว่าอัยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมรอบคอบ รวดเร็ว โปรงใส และสามารถตรวจสอบได้” นายสุรศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในคำฟ้องทางอัยการได้คัดค้านการประกันตัว หรือ กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ นายชุติชัย กล่าวว่า ทางอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัว หรือ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด แต่ขณะนี้ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลการเดินทางออกนอกประเทศต้องสอบถามไปทางคสช.ว่า จะอนุญาตหรือไม่ แต่เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลแล้ว หากต้องการเดินทางออกนอกประเทศก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล


ไม่มีความคิดเห็น: