PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

อำนาจ ตามม.44 เทียบ ม.17จอมพลสฤษดิ์

มาตรา 44 โคลนนิ่งเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ
ภายใต้การบังคับของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้นอกจากจะมีปัญหาในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และเรื่องของการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตย แต่ความน่าวิตกกังวลของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คืออำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจไร้ขีดจำกัด สามารถกระทำการใดใดได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตามมาตรา 44 ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกฎหมายในยุคเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ
มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีความว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”
ซึ่งเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติในการกระทำการใดใด หรือสั่งการอะไรก็ได้ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งในอดีตก็เคยมีปรากฏตัวบทบัญญัติที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ในยุคที่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ในมาตรา 17
มาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มีความว่า “ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ
จะเห็นได้ว่ามาตรา 17 ในธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร 2502 มีลักษณะการให้อำนาจเช่นเดียวกับ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และการใช้ในกฎหมายที่มีลักษณะเช่นนี้ล้วนแต่เป็นการใช้อำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบ โดยในยุคที่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร 2502 ได้มีการใช้อำนาจในการ ประหารชีวิตทันที สำหรับข้อกล่าวหาวางเพลิง โดยอ้างว่าเป็นการก่อความไม่สงบในประเทศ การใช้อำนาจตามมาตรา 17 ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น แต่ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวล้วนแต่เป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพอย่างสิ้นเชิง การใช้อำนาจมาตรา 17 ประหารชีวิตผู้ถูกกล่าวหาคดีวางเพลิง โดยผู้ต้องหาไม่มีโอกาสขึ้นศาล พิสูจน์ความบริสุทธิ์ หรือได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจมาตรา 17 ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ก็เช่นกัน ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ถูกจับกุม คุมขังเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการพิสูจน์ความผิดให้แน่ชัดตามกระบวนการ ดังนั้นในอีก 55 ปีต่อมา พ.ศ. 2557 กลับมีการเขียนรัฐธรรมนูญ ให้มีมาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติในลักษณะเดียวกัน จึงถือเป็นการย้อนยุคเอากฎหมายเผด็จการทหารในยุคครึ่งศตวรรษก่อนกลับมาใช้ และยังไม่สามารถตอบได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จะใช้อำนาจล้นฟ้าตามมาตรา 44 นี้อย่างไร ในเมื่ออำนาจที่มี สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้แต่การประหารชีวิตโดยไม่ต้องไต่สวนก็สามารถกระทำได้

ไม่มีความคิดเห็น: