PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

"ฉันคือรัฐ" โดย วีรพงษ์ รามางกูร

9เมษายน 2558 มติชน

ฉันคือรัฐ หรือ "L"Etat, c"est moi" เป็นวาทะของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จักรพรรดิองค์สำคัญของฝรั่งเศส ที่มีพระบรมเดชานุภาพที่สุดในยุโรปเมื่อประมาณ 350 ปีเศษ ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ของกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกให้แพร่ขยายไปทั่วโลก รวมทั้งทวีปเอเชีย จึงทรงชักชวนสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงเข้ารีตเป็นคริสต์โรมันคาทอลิกด้วย

วาทะของพระองค์ที่ว่า "รัฐ, คือฉันเอง" หรือ "ฉันคือรัฐ" เป็นวาทะที่ตำรารัฐศาสตร์ทั่วโลกยกเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพของการปกครองโดยคนคนเดียวหรือ "Rule of man" เพราะบุคคลคนเดียวเป็นผู้มีและใช้อำนาจรัฐ เพราะผู้ปกครองเป็นรัฐเสียเอง ผู้อยู่ใต้ปกครองไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร คำสั่งของผู้ปกครองเป็นกฎหมาย

สิ่งที่จะยับยั้งชั่งใจในระบอบการปกครองโดยคนคนเดียวก็คือ ศีลธรรม ความรู้สึกชั่วดี จริยธรรม แต่ก็เป็นการยับยั้งชั่งใจของผู้ปกครองเอง มิได้ผูกมัดจำกัดตายตัวว่าผู้ปกครองจะต้องยึดถือปฏิบัติ

ต่อมานักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส มองเตสกิเออ Montesquieu กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐของผู้ปกครองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยต้องแยกออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อำนาจทั้ง 3 นี้ควรจะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด

เพื่อให้อำนาจทั้ง 3 นี้ตรวจสอบและถ่วงดุลหรือ "check and balance" ซึ่งกันและกัน หากอำนาจทั้ง 3 หรือ 2 ใน 3 อำนาจนี้ไปตกอยู่ในมือของผู้หนึ่งผู้ใดหรือแม้แต่กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็ไม่มีอะไรจะเป็นหลักประกันว่าผู้ปกครองผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นจะไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ กฎหมายก็จะเป็นเพียงเครื่องมือที่ผู้ปกครองผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นใช้ให้เป็นไปตามความต้องการของตน หรือเป็นการปกครองโดยกฎหมาย "Rule by law" ที่ตนหรือคณะของตนเป็นผู้ออกกฎหมายนั้น โดยปราศจากการมีส่วนร่วมและการเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่

ระบอบการปกครองโดยคนคนเดียวหรือกลุ่มหรือคณะเดียวจึงเสื่อมความนิยมและสูญสลายไป เพราะนานวันเข้าผู้ปกครองย่อมมีโอกาสทำความผิดพลาดได้ บางครั้งก็ไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้ เช่น กรณีการเกิดการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส ในรัสเซีย กรณีแพ้สงครามของญี่ปุ่น เป็นต้น

ประกอบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกลางเมืองในอังกฤษ ที่กองทัพพระเจ้าชาร์ลที่ 1 แพ้กองทัพของสภาผู้แทนราษฎร ที่นำโดย โอลีเวอร์ คอมเวล ทำให้ผู้คนเริ่มมีความคิดว่า อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจรัฐที่ผู้ปกครองอ้างเพื่อความชอบธรรมในการมีและใช้อำนาจนั้น ว่าเป็นอำนาจของสวรรค์หรือของพระเจ้าตามคติความเชื่อของศาสนาหลายศาสนา และพระเจ้าได้ประทานอำนาจเด็ดขาดนั้นให้กับผู้ปกครอง พระเจ้าหลุยส์ที่ 4 จึงตรัสได้ว่า "ฉันคือรัฐ"

วาทะของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งได้ตรัสมาเป็นเวลากว่า 3 ศตวรรษ หาได้เป็นวาทะที่ล้าสมัยไม่ ทุกวันนี้เผด็จการทหารหรือเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ยังใช้บริบทของวาทะอันนี้ในการอธิบาย หรือในการให้เหตุผลในการจะกระทำหรือไม่กระทำในสิ่งใด ที่อาจจะไม่ชอบด้วยหลักการของนิติธรรม หรือการดำรงอยู่ของนิติรัฐได้อยู่เสมอ เพราะเมื่ออ้างวาทะอันนี้แล้วก็เป็นที่เข้าใจกัน


เมื่อมีการทำปฏิวัติรัฐประหารได้สำเร็จ ก็ได้รับการรับรองจากศาลฎีกาและกระบวนการยุติธรรม ว่าคำสั่งหรือประกาศของหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือหัวหน้าคณะรัฐประหาร ย่อมถือว่าเป็นกฎหมาย การยกเลิกแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังเมื่อมีรัฐสภาแล้วต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ แม้ว่าการปฏิวัติรัฐประหารย่อมเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เป็นความผิดโดยธรรมชาติ หรือ "natural crime" จึงเป็นความผิดที่ไม่อาจจะยกเลิกได้โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ความเห็นเช่นนี้เคยนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2517 ว่าการนิรโทษกรรมสำหรับความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญย่อมทำไม่ได้ แต่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อมีการรัฐประหารรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ถูกล้มล้าง สมดังภาษิตกฎหมายที่ว่า "ท่ามกลางอาวุธ..เสียงของกฎหมายย่อมเงียบลง" หรือตามวาทะของเหมาเจ๋อตุง ที่ว่า "อำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน"

ดังนั้น "รัฐ" จึงเคยเป็นของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลผิน ชุณหะวัณ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และปัจจุบันเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่มีชื่อดังกล่าวข้างต้น ครั้งหนึ่งสามารถกล่าวแบบเดียวกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในศตวรรษที่ 17 ว่า "ฉันคือรัฐ" ได้อย่างไม่ขัดเขิน

การปฏิวัติรัฐประหาร หลังจากปี 2500 เป็นต้นมา ความเป็น "รัฐ" อย่างสมบูรณ์แบบของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร จะสิ้นสุดลงเมื่อมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวหรือรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับต่อ แม้จะคงอำนาจเด็ดขาดใช้ในมาตรา 17 ในกรณีรัฐธรรมนูญของจอมพลสฤษดิ์ หรือมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองก็จะไม่ออกกฎหมายเป็นคำสั่งหรือประกาศ แต่จะออกเป็นพระราชบัญญัติโดยสภานิติบัญญัติที่ตนเป็นผู้แต่งตั้ง สภานิติบัญญัติเช่นว่าก็คงจะไม่สามารถมีมติเป็นอย่างอื่นได้

แต่ที่น่าสังเกตในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 44 ยังคงอำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเรื่องสำคัญๆ ไว้อยู่นั้นเอง ความจริงการคงอำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหารไว้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เป็นที่ตกอกตกใจของบรรดาชาวต่างประเทศที่มีผลประโยชน์อยู่ในประเทศไทย แต่กรณีที่มีการประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

การสถาปนาตนขึ้นเป็น "รัฐ" ย่อมสร้างความหวั่นไหวให้กับทุกคน เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องประกันว่าจะมีการปฏิบัติตามหลักกฎหมาย "rule of law" ไม่ปกครองตามอำเภอใจ เป็นการปกครองโดยมีกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วมและยินยอมในการตรากฎหมายนั้นๆ เป็นกฎหมายที่มีความยุติธรรม ผู้ปกครองปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายที่มีพื้นฐานดังกล่าว


การที่คณะรัฐประหารยังคงรักษาอำนาจ "รัฐ" ไว้ตามความในมาตรา 44 ซึ่งมีอำนาจกว้างขวางกว่ากฎอัยการศึกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการอธิบายเพิ่มเติมว่าจะใช้ในการกระทำที่ "สร้างสรรค์" เช่น กรณีการแก้กฎหมายและองค์กรการบินพลเรือน ซึ่งโดยปกติก็สามารถทำได้อยู่แล้วโดยการตราเป็น "พระราชกำหนด" หากต้องการความรวดเร็วจริงๆ

คณะรัฐมนตรีก็สามารถประชุมลับและด่วนได้อยู่แล้ว การคงอำนาจ "รัฐ" ไว้กับคนคนเดียวในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงน่าจะมีเหตุผลพิเศษที่ไม่มีใครทราบ นอกจากผู้ร่างและผู้ประกาศใช้

การใช้อำนาจของผู้เป็น "รัฐ" ในเรื่องที่สร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเข้าใจ หลังจากได้ฟังคำอธิบายไม่ว่าจากผู้ประกาศใช้หรือผู้ร่าง

ใครเข้าใจช่วยอธิบายทีว่า การกระทำที่สร้างสรรค์มีอะไรบ้าง



(มติชนรายวัน 9 เมษายน 2558)

ไม่มีความคิดเห็น: