PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

วีรพงษ์ รามางกูร : รัฐธรรมนูญฉบับฝันเฟื่อง




เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2515 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้นบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ "ฟันปลอม" ท่านคงจะหมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นของปลอม ไม่ใช่ฉบับ "ฟันจริง" หรือไม่ใช่ฉบับประชาธิปไตยที่แท้จริง หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างที่ทราบกันทั่วไป

เมื่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ผู้คนจึงได้รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาสาระอย่างไร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวคณะกรรมาธิการไม่ค่อยได้เผยแพร่ หรือให้คำอธิบายมากนัก ผิดกับร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับก่อนๆ ที่มีการเผยแพร่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาเป็นเวลานาน

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ออกเผยแพร่ เมื่อคนส่วนใหญ่ได้ทราบเนื้อหาสาระ ก็ปรากฏว่ามีปฏิกิริยาไปในทางปฏิเสธกันอย่างกว้างขวาง สภาปฏิรูปแห่งชาติซึ่งใครๆ ก็นึกว่าเป็น "พวกเดียวกัน" กับคณะรัฐประหาร กลับมีผู้ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านตั้งแต่หมวดแรกๆ ว่าด้วยเรื่อง "หน้าที่และสิทธิของพลเมือง" กันเลยทีเดียว

ความเข้าใจของประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ "วงใน" ของ "อำนาจรัฐ" แม้จะมิได้มีการเขียนหรือพูดออกมาดังๆ แต่เท่าที่ได้สดับตรับฟังมาในสภากาแฟ ในหลายสถาน ต่างก็มีความเห็นกันว่า ที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับฝันเฟื่อง" ฉบับนี้ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณา มิใช่ว่าคณะกรรมาธิการจะไม่มีความรู้ ไม่มีสติปัญญาเพียงพอในเรื่องนิติรัฐ ในเรื่องระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา ในเรื่องโครงสร้างอำนาจ รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการเมืองไทย เพราะคณะกรรมาธิการประกอบด้วยผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ แต่ที่ร่างออกมาในลักษณะนี้ อาจจะเป็นเพราะเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

มีเจตนาหรือมีมูลเหตุในใจที่จะไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านร่างมาเพื่อให้ประชาชนรับไม่ได้ เมื่อประชาชนรับไม่ได้ สภาปฏิรูปก็ไม่อาจจะฝืนความรู้สึกของประชาชนและสื่อมวลชนได้ สภาปฏิรูปก็จำเป็นต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ก็ต้องเริ่มต้นขบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลรัฐประหารชุดนี้หรือชุดใหม่ ถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรีก็จะอยู่ต่อไปได้อีก 2-3 ปี ตามที่พระฤๅษีเกวาลันแห่งเทือกเขาหิมาลัยว่ามา แต่หัวหน้า คสช.ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ได้ออกมาปฏิเสธ บอกว่าไม่ได้มีความปรารถนาจะยืดอายุของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ยืดให้ยาวออกไปกว่าแผนที่ได้กำหนดไว้

สภาปฏิรูปแห่งชาติจึงชอบที่จะแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้กลับมาอยู่ในร่องในรอย ให้มีความเป็นสากล และให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่สังคมจะพอยอมรับได้ โดยไม่ต้องตั้งต้นใหม่



อาจจะเป็นไปได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณากันอยู่ในสภาปฏิรูปนั้น เป็นความเห็นอย่างบริสุทธิ์ของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าดูรายชื่อของคณะกรรมาธิการก็จะเห็นว่า คณะกรรมาธิการประกอบด้วยผู้ที่ไม่มีจิตวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย ส่วนมากเป็นบุคคลที่ต่อต้านระบอบรัฐสภาด้วยวาทกรรมที่เคยแสดงในที่ต่างๆ ด้วยคำว่าเผด็จการโดยรัฐสภาบ้าง ทรราชโดยฝ่ายข้างมากบ้าง ไม่ได้เอ่ยถึงการตรวจสอบโดยประชาชน ระบบการถ่วงดุล ระบบกฎหมาย ระบอบรัฐสภาโดยรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความที่คณะกรรมาธิการประกอบด้วยบุคคลที่ไม่เคยเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่เชื่อมั่นว่าประชาชนยังโง่ ประชาชนยังปกครองตนเองไม่ได้ ถ้าปล่อยให้ปกครองเองก็จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างความเสียหายให้กับชาติบ้านเมือง ประเทศไทยควรปกครองโดย "ฝ่ายข้างน้อย" ที่เป็นคนดี มีการศึกษา มีชาติตระกูล ร่างรัฐธรรมนูญจึงออกมาในรูปแบบดังกล่าว

นอกจากนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่าคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะมีข้อจำกัดในหลายๆ เรื่อง ทำให้ไม่อาจยอมรับระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบรัฐสภาได้ หรือไม่ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องการให้ระบอบรัฐสภามีการพัฒนาให้เป็นแบบสากล ต้องการให้ล้มลุกคลุกคลานอย่างที่เป็นอยู่ เพราะไม่ต้องการรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ กลัวจะเป็นเผด็จการโดยเสียงส่วนใหญ่ กลัวเผด็จการโดยรัฐสภา กลัวการปกครองโดยเสียงข้างมาก

ในสังคมที่ไม่โปร่งใส ในระบบการเมืองที่ไม่เปิดเผย จึงเป็นของธรรมดาที่ประชาชนหรือปัจเจกชนมีสิทธิที่จะระแวง สงสัยและนำเอาข้อระแวงสงสัยของตนไปซุบซิบในวงสนทนากันอยู่เสมอ โดยที่กรรมาธิการผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ทราบ
ที่แปลกประหลาดและไม่เคยปรากฏมาก่อนก็คือ เมื่อมีการพบปะกันระหว่างคณะรัฐประหารกับพรรคการเมือง ทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และพรรคอื่นๆ แทนที่ผู้แทนพรรคการเมืองจะพยายามเร่งรัดให้คลอดรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว แต่ปรากฏว่าทุกพรรคต่างเห็นพ้องต้องกันหมดว่า หากจะมีการเลือกตั้งโดยเร็วตามแผนการที่คณะรัฐประหารวางไว้ โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับฝันเฟื่องอย่างที่เห็นกันโดยทั่วไป ก็ยินดีจะรอให้มีการแก้ไขให้เป็นรัฐธรรมนูญที่จะใช้ได้จริงในอนาคต ดีกว่ารีบมีการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญฝันเฟื่องนี้

เนื่องจากความไม่เคยโปร่งใสของระบบการเมืองของเรา สิ่งที่สื่อมวลชนเสนอข่าว สิ่งที่ประชาชนรับรู้ มักจะเป็นคนละเรื่องกับความเป็นจริงเสมอ ดังนั้น จึงไม่มีใครเชื่อว่าสิ่งที่เป็นข่าวและสิ่งที่รับรู้จะเป็นความจริง ความจริงจะเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบ เพราะความจริงมักจะไม่เป็นข่าว

ถ้าหากไม่ใช้การตกลงกันเพื่อยืดเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยืดอายุของรัฐบาลทหาร เพราะมีความจำเป็นบางประการ เพราะว่าแม้จะยึดถือตามแผนเดิมหรือโรดแมป (road map) เดิม การเลือกตั้งก็ไม่ใช่ว่าจะเร็วไปกว่ากลางปี 2559 หรือปลายปี 2559 กว่าจะทำประชามติ กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลและพิธีการอื่นๆ จึงเป็นเรื่องแปลกที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าจะยืดเวลาออกไปบ้าง เพื่อแลกกับรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นปกติก็ยอม

ทำไปทำมาก็จะคล้ายๆ กับที่พระฤๅษีเกวาลันแห่งเทือกเขาหิมาลัยบอก


เพื่อนฝูงบางคนให้เหตุผลว่า พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคคือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะยังไม่พร้อมที่จะลงเลือกตั้ง เรื่องดังกล่าวก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผล พรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้ามีกรรมการบริหารพรรคอยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยก็คุยอยู่เสมอว่าเลือกตั้งเมื่อใดก็ชนะอยู่แล้ว ส่วนพรรคอื่นๆ ไม่มีความหมาย เลือกตั้งเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น การที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรค กลุ่มการเมืองทั้งหลาย รวมทั้งนักวิชาการสายที่ให้รัฐบาลนี้ยืดเวลาอยู่ต่อไปได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเชื่อ

ถ้าเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมาไม่น่าจะเป็นความจริง แล้วทำไมร่างรัฐธรรมนูญจึงออกมาในรูปแบบแปลกประหลาดพิสดารถึงขนาดไม่มีทางนำเอาไปใช้ได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะถ้าผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้วนำไปใช้ ก็คงจะเกิดการลุกขึ้นประท้วงคัดค้าน ไม่เฉพาะแต่นักการเมืองแต่กับประชาชนทั่วไปด้วย จะเกิดการลุกฮือเดินขบวนคัดค้านกันอีก ความจำเป็นที่จะต้องทำการรัฐประหารอีกก็เป็นไปได้ ถกกันไปถกกันมาก็ยังไม่มีใครสรุปได้ว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะ "ฝันเฟื่อง" อย่างนี้ทำไม ทำเพื่อให้มีการคัดค้าน ทำเพื่อไม่ให้ผ่านสภาปฏิรูป ทำเพื่อต้องการยกร่างใหม่ ทำไมจึงเป็นรัฐธรรมนูญฝันเฟื่อง

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า คณะรัฐประหารจะเอาอย่างไรกับอนาคตของประเทศซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อ

ไม่มีความคิดเห็น: