PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประยุทธบอกโกงยอมรับผิดอภัยโทษ


09062558 โกงยอมรับผิดได้อภัยโทษ

พูดไม่หมด กล่าวไม่ครบ จะผิดพลาด
โกงยอมรับผิด ติดคุก คลายเงินที่อมไปคืนชาติ 500,000 ล้าน จึ่งจะพิจารณา
อ้อ ...... ต้องกล่าวขออภัยทั่วไทย ที่พี่และตัวเอง ได้ทำไป
จะไม่ทำอีกแล้ว หากทำอีกต้องตกนรก ทั้งตระกูล

"บิ๊กตู่" เปิดงานปราบโกง ลั่นใครยอมรับผิดก็หลุดจากโทษเพราะมีการอภัยโทษ แต่ต้องรับโทษก่อน ไม่มียกโทษ ฮึ่ม! อย่าใช้วิธีการใดๆ กดดัน ทำผิดต้องกล้ารับผิด สับจำนำข้าว-รถคันแรก ตัวฉุดเศรษฐกิจทรุด ครวญปราบทุจริตสีเทาก็ถูกบ่นทำเศรษฐกิจแย่ เพราะธุรกิจสีเทามีเงินหมุนเวียนถึงเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท

ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริตสร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง" โดยมีคณะรัฐมนตรี, ข้าราชการ, เอกอัครราชทูต, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์การระหว่างประเทศ, ภาคประชาสังคมและเยาวชนเข้าร่วมงาน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันนับเป็นเรื่องสำคัญและมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรับเงิน, การละเมิดระเบียบราชการ, หาประโยชน์ส่วนตัว, รบกวนเวลา, การแซงคิว ตนไม่มั่นใจจะแก้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็แก้ได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะปัญหาอยู่ที่คน คาดหวังเยาวชนที่มาในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตและเป็นความหวัง พวกเราต้องประคับประคอง อำนวยความสะดวกให้เด็กเหล่านี้โตขึ้นไปให้ได้

นายกฯ กล่าวว่า การทุจริตมีผลเสียหายต่อการประกอบการทุกเรื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ไม่มีกฎหมายฉบับไหนที่ระบุว่าต้องมีการจ่ายค่าอำนวยความสะดวก หากพบว่ามีการทุจริตขอให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรม วันนี้โลกเจริญพัฒนาอย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีก้าวไกล แต่จิตใจมนุษย์ยังอยู่ที่เดิม เราต้องลดช่องว่างระหว่างคนรวยมาก รวยปานกลางและคนจน ต้องนำแนวทางความพอเพียงมาใช้ วันนี้เรามีคนรวยเยอะ ติดอันดับโลกหลายคน แต่คนที่จนแบบไม่มีตัวตนก็เยอะเช่นกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า 2 ปีที่ผ่านมามีการบริหารผิดพลาดเกี่ยวกับข้าว ไม่โปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพ จากที่ TDRI ประเมินมาทำให้ขาดทุนประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการแต่ต้องเสียค่าบริหารจัดการอื่นๆ เช่น ค่ารักษา ปรับปรุง รวมแล้วเป็นราคาตันละกว่า 20,000 บาท แต่เราก็ขายได้เพียงแค่ราคาตลาดเท่านั้น ก็ต้องไปว่ามาว่าใครผิดถูก 

"ทุกวันนี้หากใครยอมรับผิดก็หลุดจากโทษได้เพราะมีการอภัยโทษ แต่ต้องรับโทษก่อน ไม่มียกโทษ ต้องให้รู้ว่าใครผิดถูกและนำสู่กระบวนการยุติธรรมตัดสิน จึงไปสู่การอภัยโทษ อย่าใช้วิธีการใดๆ กดดัน ทำผิดก็ต้องกล้ารับผิด"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องธุรกิจสีเทาก็เช่นกัน เมื่อมีคนโกงก็ต้องนำเงินเหล่านี้ออกมาใช้จ่าย พอวันนี้หยุดทั้งหมด บ่อน, รถผิดกฎหมาย, ขายของผิดที่ ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำเวลานี้ โดยเงินหมุนเวียนจากธุรกิจสีเทาประมาณเดือนละ 2 หมื่นล้านจากการวิจัย ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินผิดทั้งหมด 

"เมื่อผมเข้ามาแก้ปัญหาทำให้เงินตรงนี้ลดลง แล้วก็มาโทษว่าผมทำให้เศรษฐกิจแย่ลง แต่ผมก็ต้องทำ ผมไม่ต้องการคะแนนเสียง แต่ต้องการความเข้าใจ ไม่ได้ต้องการให้คนมาต่อต้าน ผมรู้หมดว่าใครจะนำประท้วง"

ซัดรถคันแรก

เขากล่าวว่าเรื่องรถยนต์ก็เช่นกัน กำลังซื้อลดลงเพราะดีมานด์เทียม ทุกคนต้องการเงินแสนเพื่อนำไปดาวน์ลดคันแรก รถยังผ่อนไม่ได้ บางคนก็ขับรถไม่เป็น ทำให้ตลาดรถมือสองตกลงไปอีก แล้วกลับมาโทษตนว่าทำให้ทุกอย่างแย่ลง 

"ระบบโซเชียลมีเดียทำให้คนไม่มีโอกาสแก้ตัวหากทำผิด ต้องมีการสร้างความเข้าใจของสื่อ บางคนอยากเป็นพระเอก สร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เป็นโรคจิตหรือเปล่า คนพวกนี้ไม่กล้าจริง ถ้ากล้าจริงมาหาผมนี่"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้เลือกข้าง ที่มีแต่คนบางกลุ่มติดคุกเพราะคนเหล่านี้ทำความผิด แต่อีกพวกที่ทำความผิดแต่รับผิดมอบตัว ซึ่งต่างกับอีกพวกไม่ยอมรับผิด ถ้าผิดคือผิด อย่าไปยุ่งกับเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เอามวลชนมาล้อม ตนยืนอยู่ข้างประเทศไทย สิบปีที่แล้วตนไม่เห็นว่าประเทศไทยจะมีความขัดแย้ง ตนไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรหรือใคร ผิดกฎหมายหรือไม่

"โทร.ไปหาพี่ๆ เขาก็ไม่คุยด้วยเพราะกลัวสั่งงาน ทุกท่านทำงานกันไม่หยุด ทุกกระทรวง ผมเป็นคนไปเชิญท่านมา ต้องทำให้ดี เพราะชาตินี้หรือชาติหน้าไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว ทั้งหมดที่เป็นทหารอยู่กับทุกรัฐบาลมาแล้ว ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากทุกคน อย่าคิดว่าเราจะวิเศษ หากท่านทำได้นั่นคือประสบความสำเร็จ"

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า วันนี้เรามีทั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.), คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.), ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และองค์กรภาคเอกชน ร่วมมือกันทั้งหมด มีคณะทำงานถึง 3-4 ระดับ ส่วนของกลุ่มยุติธรรมมีรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับ 3-4 หน่วยงาน ทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งต้องคุยกันทำงานร่วมกัน ถ้าต่างคนต่างทำก็รวนไปหมด จัดลำดับไม่ได้ ทำไม่เสร็จซักอัน วันนี้ต้องทำเท่าที่ทำได้และมีหลักฐานชัดเจนก่อน บ้านเมืองก็ต้องเป็นอย่างนั้น อย่าทำงานอะไรด้วยความรู้สึกอย่างเดียว ควรให้โอกาสเขาบ้าง ถ้ามันไม่ใช่แล้วรับผิดชอบแทนเขาได้หรือไม่ แต่ถ้าผิดก็ว่าไปเลย สาเหตุของการทุจริตทั้งหมดนั้นสามารถแก้ได้ด้วยใจ ต้องแก้ให้ได้ 

อย่าโทษ ขรก.

นายกฯ กล่าวถึงปัญหาข้าราชการทุจริตคอร์รัปชันว่า วันนี้มีทุกภาค ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อย่ามาโทษภาคราชการอย่างเดียว ฉะนั้นจะลงโทษทั้งคู่ ถือเป็นการสมยอม แต่จะโทษข้าราชการอย่างเดียวไม่ได้ ตนก็เป็นข้าราชการ คนดีๆ ก็มีอยู่ วันนี้ชอบพูดนักทหาร ตำรวจ ข้าราชการ แล้วคนดีๆ เขาอยู่ไหน ลูกเต้าเขาอยู่ไหน ครอบครัวเขาอยู่ที่ไหน มันเลวทั้งหมดหรืออย่างไร เขียนให้ดีบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า รายชื่อข้าราชการทุจริตถึงมือหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "ถึงนานแล้ว แล้วทำไมจะให้ฆ่าทั้งหมดทั้งร้อยกว่าคนเลยหรืออย่างไร ก็กำลังดำเนินการอยู่ บุคคลใดอยู่ในตำแหน่งหน้าที่หลักก็เอาออกมาและสอบสวนลงโทษ

เมื่อถามว่าทั้งหมด 152 รายชื่อใช่หรือไม่ เขาตอบว่าการดำเนินการตรวจสอบ 152 รายชื่อ มีขั้นตอนในการทำงาน แต่การตรวจสอบมันง่ายนักหรือไง ทำไมจะต้องไปเร่งกฎหมายว่าต้องเสร็จวันนู้น วันนี้ มันได้อะไรขึ้นมา ความเสียหายที่เกิดอยู่ได้อะไรจากตรงนี้หรือไม่ คนผิดก็เอาเข้าคุกตรวจสอบไป ถ้าถูกก็เอาออกมา มันไม่เห็นจะเป็นจะตายอะไรหนักหนา ต้องทำอย่างไรให้คนอยู่ทำงานได้ รัฐบาลที่แล้วทำไมไม่ไปไล่เขาทำบ้าง แต่ทำไมเหลือมาถึงวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีตอบคำถามผู้สื่อข่าวนั้น ได้แสดงความหงุดหงิดในทุกคำถาม และตอบเพียงสั้นๆ ก่อนจะตัดบทให้เป็นคำถามต่อไป

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืชที่แพงเกินจริง กรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินช่วงปี 2554 ว่า ถ้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยก็มาพิจารณาทางวินัยได้ทันที แต่ถ้าเรื่องใดบุคคลใดที่หน่วยเกี่ยวข้องส่งมาเป็นรายชื่อ ยังไม่ได้ดำเนินการ ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วแต่ระดับ เช่น ข้าราชการระดับสูงซี 10 ขึ้นไป จะต้องเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการ ถ้าต่ำกว่านั้นกระทรวงมหาดไทยสามารถตั้งสอบสวนเองได้

"ขณะนี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้รายงานมายังผมว่าสอบสวนไปถึงใคร มีเสร็จเพียงชุดที่แล้ว และลงโทษไปตามมติของอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย"

ไม่พบ 'บิ๊ก ขรก.' โกง!

เขาบอกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้ 2 สมาชิก สนช.ที่เคยเป็นอดีตผู้ว่าราชการ จ.มุกดาหาร และ จ.เลยลาออก โดยอ้างว่าเข้าไปเกี่ยวของกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืชดังกล่าวนั้น หลังจากเกษียณจากตำแหน่งผู้ว่าฯ แล้ว ถ้า สตง.ยังไม่ได้ดำเนินการภายใน 180 วัน ก็ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ดำเนินการพิจารณาเพื่อไต่สวนลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาได้

เมื่อถามย้ำถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ สนช.ที่เป็นอดีตผู้ว่าฯ ทั้ง 2 รายลาออก รมว.มหาดไทย ตอบว่า เรื่องดังกล่าวมันเกิดมาตั้งแต่ปี 2555 ในส่วนของเราก็ดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมด ขณะที่มีการเรียกร้องให้ลาออกนั้นคงต้องไปถามนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.

"มีข้าราชการระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทุจริตก็ดำเนินการแล้ว แต่ในระดับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยังไม่มีการตรวจสอบพบการทุจริตแต่อย่างใด" รมว.มหาดไทยกล่าว 

ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีหลายคำร้องเข้ามา อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ที่ไต่สวนเรื่องดังกล่าวอยู่ ขอไปสอบถามในรายละเอียดก่อน

ส่วนการถอดถอน 2 อดีตผู้ว่าฯ ที่เป็น สนช.นั้น กรรมการ ป.ป.ช.ผู้นี้ระบุว่า มีกระบวนการอยู่ว่าสนช.ต้องเข้าชื่อกัน 1 ใน 4 ยื่นมาที่ ป.ป.ช. หรือประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 20,000 คนเข้าชื่อและร้องมา ป.ป.ช.ถึงจะทำได้ หากไม่มีก็ทำไม่ได้ หรืออีกทางหนึ่งต้องดำเนินคดีอาญาไปจนจบเสียก่อน แล้ว ป.ป.ช.จึงจะส่งให้ สนช.ดำเนินการถอดถอนได้ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า กรณีอาญากับกรณีถอดถอนนั้นไม่เหมือนกัน เพราะการถอดถอนในกฎหมายระบุเพียงว่า มีพฤติการณ์ส่อว่าทุจริต ส่อว่าประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปรกติ

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการสนองนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันว่า ถือเป็นวาระแห่งชาติที่กองทัพบกดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้สั่งการว่าในทางปฏิบัติทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามระเบียบ ถูกต้อง โปร่งใส และได้เน้นย้ำในหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ว่าถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องสนองตอบให้ได้ โดย ทบ.ต้องทำเป็นตัวอย่าง เชื่อว่าทุกคนเข้าใจและทำทุกอย่างให้เรียบร้อย สุจริต ยุติธรรม ในส่วนราชการที่ทหารเข้าไปสนับสนุนก็เข้าใจว่าคงมองเรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ.

ไม่มีความคิดเห็น: