PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : สืบชาติพันธุ์"อุยกูร์" มุสลิมเชื้อสาย"เติร์ก"

วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 11:12:17 น.





จรัญ มะลูลีม
 


ศราวุฒิ อารีย์ ภาพจาก www.siamintelligence.com



http://www.matichon.co.th/online/2015/07/14365877621436587848l.jpg

กลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไปแล้ว กรณีกลุ่มผู้ประท้วงชาวอุยกูร์บุกทำลายทรัพย์สินที่สถานกงสุลไทย ประเทศตุรกี จากการที่ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังจีน

หนึ่งในคำถามมากมายที่ชัดเจนที่สุด คงไม่พ้นเรื่องที่ว่า การส่งกลับไปยังจีนนั้น เหตุใดจึงนำมาซึ่งความกราดเกรี้ยวเช่นนี้ หรือความสัมพันธ์ระหว่างชาวอุยกูร์กับจีนนั้นเป็นอย่างไร เหตุใดจึงต้องหลบหนี

http://www.matichon.co.th/online/2015/07/14365877621436587852l.jpg

จรัญ มะลูลีม นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษา กล่าวว่า ชาวอุยกูร์เป็นชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อย มีอยู่มากในซินเจียงตั้งแต่ดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะอยู่รัฐซินเจียงซึ่งกว้างขวาง มีแถวซีอาน แถวยูนนานอยู่บ้าง เป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ลงรอยกับรัฐบาลจีนบ่อยครั้ง เขารู้สึกว่าเขาเป็นชนชั้นสอง ในแง่ศาสนาก็ปฏิบัติศาสนกิจได้ไม่เต็มที่ ทางการส่งชาวฮั่นไปมีบทบาทในดินแดนนั้น เดือนรอมฎอนเวลาไปทำงานก็ไม่อาจถือศีลอดได้ งานการของคนอุยกูร์ก็ถูกแย่งไปบ้าง จนเขาเปิดศึกกันมาหลายรอบ อุยกูร์เคยเอามีดไล่แทงพวกฮั่นมาแล้ว

"ชาวอุยกูร์จากตุรกีเข้ามาอยู่ในจีนตั้งนานแล้ว เดินทางไปมาหาสู่กัน มีมาจากเติร์กเมนิสถานของเอเชียกลางก็เยอะ ในปัจจุบันอุยกูร์ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในตุรกีจำนวนมาก และขณะนี้ตุรกีเป็นหัวหอกของประเทศมุสลิม เช่น เขาเสนอเอาโอไอซีไปช่วยโรฮีนจา ช่วยชาวยะไข่ทั้งพุทธและมุสลิมที่มีปัญหากันแต่พม่าก็ไม่ยอม และในเวทีระดับประเทศ ผู้นำโอไอซีที่เป็นผู้นำโลกมุสลิมคนก่อนก็เป็นชาวตุรกี คือ เอ็กเมเล็ดดิน อิห์ซาโนกลู ที่เคยมาไทยช่วยเรื่องภาคใต้ ตุรกีปัจจุบันให้ค่ากับชนกลุ่มน้อยมุสลิมอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ ผู้นำของเขาเข้มแข็งเรื่องนี้มากในระยะหลัง น่าจะพูดได้ว่าตุรกีเป็นผู้นำของโลกมุสลิมได้ด้วย"

ส่วนเหตุที่เข้ามาไทย จรัญเผยว่า ที่ผ่านมาเขาอยากไปตุรกีแต่ผ่านมาประเทศไทยก่อน เดือนรอมฎอนเขาอยู่ไทยจะได้ปฏิบัติศาสนกิจ แต่ไทยก็รีบส่งเขาไปจีน และเขาคงคิดว่าจะได้ไปตุรกีมากกว่า เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อสืบสัญชาติแล้วจะได้ไปตุรกี ที่มาไทยคงเป็นเพราะความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ไปตุรกีทีเดียวคงลำบาก เขามาต่อรองก่อน ในที่สุดไทยก็ส่งไปตุรกีจำนวนมากก่อนจะส่งไปจีน แต่จีนอยากให้ไทยส่งไปทางจีนหมดเลย 

"นี่เป็นปัญหาระหว่างสิทธิมนุษยชนกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยเองถูกจีนขอร้องก็คงกระอักกระอ่วน เลยเลือกสองแนวทาง ชีวิตของเขาในจีนเป็น Force Acumination ถูกบังคับให้ผสมกลมกลืนกับคนพื้นถิ่นโดยที่เขาไม่พอใจให้ผสมกลมกลืน ในเวลาเดียวกันก็ปฏิบัติศาสนกิจได้บ้างแต่ไม่เต็มที่ อย่างเรื่องคลุมฮิญาบ เป็นเหตุผลที่เขากดดันและเดินทาง การมาไทยเขาดีใจมากเพราะมีความหวังว่าจะได้กลับไปตุรกี จริงๆ เลือกได้เขาคงไปมาเลเซียก่อน"

"จีนมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยหลายกรณี เขาปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยค่อนข้างแรง ระยะหลังเมื่อเข้ามามีธุรกิจกับโลกมุสลิมอาจเบาลง แต่ก็ยังแรงอยู่ เขาอ้างว่าคนเหล่านี้กระทำความผิดในประเทศและหลบหนีมา แต่ความจริงอาจไม่ใช่แบบนั้น ลองนึกดูว่าคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด กลับไปแล้วอะไรจะเกิดขึ้น คนที่เป็นเชื้อสายเดียวกันในตุรกีเขาจึงได้โกรธเคืองมาก เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าส่งตัวไปแล้วคนพวกนี้จะเจอกับอะไร แต่ไทยเองก็จะไปขัดใจจีนโดยตรงไม่ได้"

นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษาบอกว่า โลกมุสลิมคงไม่พอใจไทยเท่าที่ควร ในแวดวงนักสิทธิมนุษยชนน่าจะมีการต้านพักหนึ่ง การที่คนลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นการแสดงออกให้รู้ว่าไทยไม่น่าทำแบบนี้ แต่ถ้ามองในแง่ไทยซึ่งตอนนี้เรากำลังจะซื้ออะไรกับจีนก็อยู่ในภาวะที่ไปทางไหนก็ลำบาก ทางหนึ่งจีนอาจไม่พอใจไทยลึกๆ เพราะไม่ได้ส่งกลับทั้งหมด ขณะที่กลุ่มใหญ่สืบได้ว่ามีเชื้อสายตุรกีจึงส่งไปตุรกี อีกฝ่ายก็บอกว่าจากการสืบสัญชาติแล้วเป็นจีนก็เลยส่งให้จีน เท่ากับบังคับให้กลับไปหาความลำบาก ซึ่งน่าจะเผชิญมาตรการด้านความมั่นคงหรือการลงโทษ เรื่องจีนค่อนข้างลึกลับกับการตอบโต้กับคนที่เป็นปรปักษ์กับรัฐ ถ้าเขาตีความว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ

"ตอนนี้เริ่มมีการตอบโต้ มีการพูดถึงเยอะมาก โลกมุสลิมตื่นตัวในเรื่องนี้ แต่คงไม่ได้ตอบโต้ไทยถึงขั้นมีการตัดความสัมพันธ์ แต่มีความรู้สึกในฐานะที่ส่งคนมุสลิมไปพบชะตากรรมที่ยากลำบาก ปฏิกิริยาของโลกมุสลิมมีแน่นอน โดยเฉพาะเดือนนี้เป็นเดือนรอมฎอน เดือนศักดิ์สิทธิ์ของโลกมุสลิม"


"ในแง่มนุษยธรรมไทยทำผิดพลาด แต่ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยอาจยึดถือความสัมพันธ์ที่มีต่อจีน หลายคนมองว่าไทยรู้อยู่แก่ใจว่าเขาจะกลับไปเจออะไรก็ยังส่งไปอีก ตอนนี้โลกคงเรียกร้องชาวจีนว่าอย่าทำรุนแรงกับคนที่กลับไป ไทยก็ไปแก้ปัญหาว่าให้คนไทยที่อยู่ในตุรกีระมัดระวังจะตกเป็นเหยื่อ"
 จรัญกล่าว

http://www.matichon.co.th/online/2015/07/14365877621436587855l.jpg

 (ภาพจาก http://www.siamintelligence.com/lessons-from-egypt/)

ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ชาวอุยกูร์เป็นมุสลิมและเป็นคนเชื้อสายเติร์ก ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับชาวเติร์กทั่วไปทั้งในเอเชียกลางและในตุรกี ขณะที่ซินเจียงในปัจจุบันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่เรียกว่าเอเชียกลาง และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมที่มีการค้าระหว่างประเทศจีนกับอาหรับ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่รุ่งเรืองอย่างยิ่ง

"เติร์กเป็นกลุ่มคนนักรบ กล้าหาญ สิ่งที่เป็นประจักษ์พยานชัดเจนคือชาวเติร์กก่อตั้งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของอิสลามอย่างจักรวรรดิออตโตมันในศตวรรษที่ 12-13ซึ่งออตโตมันพิชิตดินแดนต่างๆ ได้ครึ่งค่อนโลก และปกครองอยู่ราวๆ 600 กว่าปีจนล่มสลายในปี 1923 จนถูกโค่นล้มและกลายเป็นตุรกีในปัจจุบัน" ศราวุฒิกล่าว และว่า ชาวเติร์กนั้นเคยเข้าไปโค่นล้มอาณาจักรโรมันได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มชนที่ยิ่งใหญ่ของโลก จึงมีความภูมิใจในชาติพันธุ์อยู่สูง เห็นได้จากเมื่อชาวอุยกูร์หลบหนีเข้ามาในไทย จะบอกว่าเป็นชาวเติร์ก ไม่ใช่จีน

กับเรื่องพื้นที่ซินเจียง ศราวุฒิกล่าวว่า พื้นที่ส่วนนั้นเป็นส่วนที่จีนมองว่าเป็นภัยความมั่นคงอยู่แล้ว จากการที่มีกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ที่มาที่ไปนั้นหนีไม่พ้นการที่ประเทศจีนไปละเมิดสิทธิผู้คนในบริเวณนั้น แม้จะผนวกรวมซินเจียงมาเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ แต่การปกครองที่เข้าไม่ถึง ไม่เข้าใจศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงมีการนำชาวจีนฮั่นเข้าไปอาศัยอยู่เพื่อกลืนกินคนในพื้นที่ จึงสร้างความโกรธแค้นจนนำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐของอุยกูร์อย่างต่อเนื่อง

"อย่างหลังเหตุการณ์ 11กันยายน จีนมองว่าตรงนี้เป็นภัยคุกคามสำคัญ พยายามผูกโยงความมั่นคงของซินเจียงกับขบวนการอัลกออิดะฮ์ สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงในชาวอุยกูร์ ใช้นโยบายปราบปรามอย่างหนัก จึงจะเห็นว่าหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ชาวอุยกูร์ทะลักออกมามาก ไปอยู่ตามประเทศต่างๆ"


กับการส่งชาวอุยกูร์ซึ่งหนีเข้าไทยกลับไปยังจีนนั้น รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษามองว่า คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นไปได้ว่าจีนก็อาจมองในลักษณะเป็นขบวนการเชื่อมโยงกับอำนาจต่อต้านรัฐ และอาจถูกเข้าคุก ทรมาน หรือกระทั่งโดนสังหาร 

"ไทยควรระมัดระวัง ควรติดตามประเด็นนี้ให้ดี คุยกับจีนว่าเมื่อส่งกลับไปแล้ว ขอให้เราเข้าไปตรวจสอบได้ไหมว่ารัฐบาลจีนปฏิบัติกับคนเหล่านี้อย่างไร จีนคงสัญญาว่าจะปฏิบัติด้วยอย่างยุติธรรม สร้างงานสร้างอาชีพ ก็ถือโอกาสนี้ไปตรวจสอบ เผยแพร่ข้อมูลต่อประชาคมโลก เพื่อองค์กรระหว่างประเทศหรือสิทธิจะได้สบายใจและไม่มีปัญหากับเรื่องนี้อีก" ศราวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: