PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

"หนึ่งปี สนช.: การพิจารณากฎหมายในสภา"

หนึ่งปีที่ผ่าน มีร่างกฎหมายที่ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของสนช. 130 ฉบับ (ไม่รวม พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2557 และ พ.ศ.2558) เป็นกฎหมายที่เสนอโดย ครม.มากที่สุดคือ 105 ฉบับ โดย คสช. 21 ฉบับ สมาชิก สนช. 3 ฉบับ และประธาน ป.ป.ช. 1 ฉบับ

ขณะที่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาแล้วจำนวน 108 ฉบับ ถูกเสนอโดย 23 หน่วยงาน กระทรวงการคลังเสนอมากที่สุดอย่างน้อย 18 ฉบับ รองลงมาคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างน้อย 9 ฉบับ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงคมนาคมเสนอกฎหมายไปอย่างน้อย 7 ฉบับ

ในบรรดากฎหมายทั้ง 108 ฉบับ เป็น "กฎหมายในประเด็นเทคนิค" ที่ไม่ได้มีเนื้อหาใหม่มากนัก แต่มุ่งเน้นการปรับปรุงในประเด็นที่กฎหมายเดิมอาจล้าสมัยไปแล้ว โดยไม่กระทบต่อสิทธิหน้าที่ของประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐมากนัก ซึ่งมีอยู่ 14 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63) เป็นต้น

เป็น "กฎหมายที่แก้ไขจากกฎหมายเดิม" มีจำนวน 77 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์, พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เป็นต้น

และเป็น "กฎหมายที่ออกใหม่" ที่ประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายในประเด็นนี้มาก่อน จำนวน 17 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์, พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก, พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เป็นต้น

ในแง่กระบวนการออกกฎหมาย พบว่า จากการประชุมเต็มคณะรวมทั้งสิ้น 80 ครั้ง สามารถออกกฎหมายได้ 108 ฉบับ เฉลี่ยแล้วการประชุม 1 ครั้ง จะผ่านกฎหมายได้ 1.35 ฉบับ และหากคิดจากการทำงานที่ผ่านมา 12 เดือน เท่ากับ สนช. ผ่านกฎหมายเฉลี่ยเดือนละ 9 ฉบับ โดยที่ไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดที่เมื่อ สนช. รับหลักการในวาระที่ 1 แล้วต่อมาถูกโหวตให้ตกไปเลยแม้แต่ฉบับเดียว

เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการออกฎหมายของ สนช. พบว่า ร่างกฎหมายที่พิจารณานานที่สุดคือ ร่างพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน การพิจารณานับตั้งแต่เข้าวาระแรกจนผ่านวาระที่ 3 ใช้เวลาไป 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน ส่วนร่างกฎหมายที่พิจารณาเร็วที่สุด พิจารณา 3 วาระรวดภายใน 1 วัน มีจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63), ร่าง พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (องค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการยุติธรรม) ซึ่งยังไม่รวมถึงการแก้เพิ่มเติมไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ผ่านสามวาระรวดเช่นเดียวกัน

กระบวนการพิจารณากฎหมายของ สนช. เป็นไปอย่างรวดเร็ว และยังเป็นที่รับรู้ของประชาชนไม่มากนัก ทำให้มีกฎหมายหลายฉบับส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งมีกฎหมายมากกว่า 10 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาในขณะที่ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคม เช่น พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น
ติดตามเพิ่มเติมที่นี่
+รายงานหนึ่งปี สนช. 1/3 : การพิจารณากฎหมายในสภา
http://ilaw.or.th/node/3800
+รายงานหนึ่งปี สนช. 2/3: การแต่งตั้ง-ถอดถอน
http://ilaw.or.th/node/3798
+รายงานหนึ่งปี สนช. 3/3: การใช้งบประมาณพิจารณากฎหมาย
http://ilaw.or.th/node/3799

ไม่มีความคิดเห็น: