PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ข่าววิเคราะห์ ทำไมคว่ำรัฐธรรมนูญ ใครบ้าง


07092558 ข่าววิเคราะห์ ทำไมคว่ำรัฐธรรมนูญ ใครบ้าง
แล้วโปรดกลับไปอ่าน บทความพิเศษของผมเมื่อเช้าวันนี้
'ขุนศึก'ผนึก'นักเลือกตั้ง' คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 07 กันยายน 2558, 10:50
เป็นไปตามความคาดหวังของ “สปช.” สายทหารสังกัด “บ้านพี่ใหญ่” เมื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 135 คน โหวต “ไม่เป็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป ในขณะที่ สปช.ก็สิ้นสุดสถานภาพทันที
สัญญาณ “คว่ำรัฐธรรมนูญ” มีความชัดเจนขึ้น หลังจาก “นายทหาร” 2 คน สังกัด “บ้านพี่ใหญ่” ร่วมกับ “อดีตนายทหาร” ที่เป็น สนช. เดินสายขอเสียง “คว่ำ” จากสมาชิก สปช. กลุ่มจังหวัด โดยมีรายงานข่าวว่า ได้มีการนัดสังสรรค์กันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านซอยรางน้ำ
ที่น่าสนใจ ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ความเห็นในเฟซบุ๊คส่วนตัว Paisal Puechmongkol ก่อนวันลงมติ 1 วันดังนี้
“ด่วนมาก เสียงส่วนใหญ่ของ สปช. เวลานี้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้วครับ”
โดย “ไพศาล” ได้ร่ายถึงเหตุผลว่า “
1.เป็นไปตามโรดแมป
2.ตามความปรารถนาของประชาชนและพรรคการเมืองที่มีเสียงทางเดียวกัน แม้สำเนียงต่างกัน
3.หลีกเลี่ยงความขัดแย้งรอบใหม่และเคลียร์ระเบิดให้หมดก่อน
4.ไม่เสี่ยงเรื่องร่างไม่สมบูรณ์
5.ห่วงกระทบเศรษฐกิจช่วงพีคการท่องเที่ยว
6.ไม่ต้องเสียเงินงบประมาณลงประชามติ3,300ล้าน ภาคประชาชนคงสมใจ
นายกตู่จะได้ช่วยชาติปฎิรูปไปอีกระยะ”
ทันทีที่การลงมติของ สปช.จบลง “ไพศาล” ได้ข้อความว่า “ประชาชนไชโยโห่ฮิ้วกันลั่นบ้านสนั่นเมืองที่ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ พากันไปฉลองตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าเต็มไปหมด เป็นการประกาศชัยของประชาชนที่ต้องการให้นายกตู่ปฏิรูปบ้านเมืองไปนานๆ”
ไม่ต้องแปลความ นั่นหมายถึงการคว่ำเพื่อต่ออายุ คสช.ให้ปฏิรูปบ้านเมือง ตามคำเรียกร้องของกลุ่มคนที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบทักษิณ เมื่อสองปีที่แล้ว
3 กลุ่มโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ
เมื่อคลี่คะแนนโหวต 135 เสียงออกมา ก็จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม สำหรับ สปช.สายที่ไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ
กลุ่มแรก คือ สมาชิก สปช.ที่เป็นนายทหารและนายตำรวจ นำโดย พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ,พล.อ.พอพล มณีรินทร์ สองนายทหารที่เป็นน้องรัก “บิ๊กป้อม” และ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เพื่อนรักของ “บิ๊กตู่” และแกนนำพรรคชาติพัฒนา
จะว่าไปแล้ว สปช.สายทหาร-ตำรวจ มีไม่เกิน 20 คน ฉะนั้น แกนหลักในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงพุ่งเป้าไปที่ “กลุ่ม สปช.จังหวัด” ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนมากที่สุด
เหนืออื่นใด สปช.จังหวัดในภาคอีสาน และภาคใต้ จำนวนหนึ่งมีความใกล้ชิด “นักเลือกตั้ง” ที่มีความสนิทสนมกับ “บิ๊ก คสช.”
กลุ่มที่สอง เป็นสายนักวิชาการ ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่เห็นว่าหลายมาตราในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มีความไม่เป็นประชาธิปไตย
กลุ่มที่สาม ถือว่าเป็น “เสียงชี้ขาด” คือ “กลุ่ม สปช.จังหวัด” ที่มีถึง 60 เสียง โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิก สปช.อีสาน 2 คน อย่าง เอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น กับ ทิวา การกระสัง สปช.บุรีรัมย์ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเลี้ยงสังสรรค์ขอบคุณ สปช.ภาคอีสาน ณ โรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพฯ
“เอกราช-ทิวา” ประกาศตัวชัดเจนว่า อยู่ในฝ่ายคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับให้ข่าวผ่านสื่อก่อนถึงวันลงมติว่า กลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีเสียงอยู่ 140 เสียง และ สปช.สายจังหวัด โหวตไม่รับร่างด้วยจำนวนมาก
ผ่า 60 เสียงไม่รับร่างฯ
เมื่อส่องเข้าไปในจำนวนเสียงโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า สปช.จังหวัดเกือบทุกภาค แสดงตัวไม่เห็นชอบ โดยเฉพาะในภาคอีสาน และภาคเหนือ
อย่าง วีระศักดิ์ ภูครองหิน กาฬสินธุ์ เอกราช ช่างเหลา ขอนแก่น จิรวัฒน์ เวียงด้าน นครพนม กษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด นครราชสีมา ทิวา การกระสัง บุรีรัมย์ กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม พรชัย มุ่งเจริญพร สุรินทร์ ชัยพร ทองประเสริฐ อำนาจเจริญ ฯลฯ
ปฏิเสธไม่ว่า สปช.สายอีสาน หลายคนมีสายสัมพันธ์กับ “พรรคการเมืองขนาดกลาง” ที่อยู่คนละขั้วกับพรรคเพื่อไทย บางคนเคยเป็น “แนวร่วมคนเสื้อแดง” แต่ภายหลังได้พลิกขั้วมาอยู่กับนักการเมืองใหญ่ที่ใกล้ชิดทหาร
ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ “กลุ่ม สปช.จังหวัด” สายอีสาน จะเป็นแกนหลักในการระดม สปช.จากภาคเหนือ และภาคกลาง ให้มาร่วมสังสรรค์กันมากกว่า 40 คน ก่อนหน้าวันโหวตร่างรัฐธรรมนูญ
สปช.สายใต้ “คว่ำยกภาค”
แม้ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ จะเปิดโรงแรมแถลงข่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” ดีพอที่จะผ่านไปให้ประชาชนลงประชามติ แต่ ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา กลับเห็นต่าง และเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำใน สปช.
มินับ ท่าทีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากปล่อยผ่านไป จะก่อให้ความขัดแย้งอย่างรุนแรง
ว่ากันว่า พรรคประชาธิปัตย์ กับ กปปส. เห็นต่างกัน แต่มิได้แตกแยก ซึ่งลึกๆแล้ว “สุเทพ” ยังต้องการเห็น “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
เมื่อพิจารณารายนาม สปช. 14 จังหวัดภาคใต้ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่โหวตคว่ำ และมีเพียงคนเดียวที่งดออกเสียง อาทิ โกวิท ศรีไพโรจน์ สุราษฎร์ธานี, พล.อ.จริพันธ์ เกษมศานติ์สุข กระบี่ ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา ชุมพร สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ ตรัง ชาลี เอียดสกุล พัทลุง ประเสริฐ ชิตพงศ์ สงขลา ฯลฯ
นับจากนี้ ก็ต้องจับตาดูว่า สปช. 135 คนที่โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ จะได้รับโบนัสเป็น “สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ตามที่มีแหล่งข่าวใน สปช.เคยนำมาแฉเรื่องเค้ก 200 ก้อน
เหนืออื่นใด โฉมหน้า “21 อรหันต์” ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นใคร? ซึ่งชื่อชั้นคนเหล่านี้ก็จะให้คำตอบได้ว่า หนทางข้างหน้าของ คสช.และการร่างรัฐธรรรมนูญใหม่จะเป็นเช่นใด

ไม่มีความคิดเห็น: