PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปริศนาราคารถไฟไทยจีน:สามารถราชพลสทธิ์

ปริศนาค่าก่อสร้างรถไฟไทย-จีน

ถึงเวลานี้โครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนมีประเด็นซึ่งเป็นที่สนใจของสาธารณชนหลายประเด็น หนึ่งในนั้นก็คือค่าก่อสร้างที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเดิมเมื่อประมาณ 1 ปีเศษที่ผ่านมาค่าก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท แต่ถึงวันนี้กระโดดขึ้นเป็น 530,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาจากการออกแบบของจีน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จึงเป็นปริศนาที่ประชาชนคนไทยอยากรู้

รถไฟไทย-จีนในส่วนที่อยู่ในประเทศไทยมีเส้นทางจากกรุงเทพฯ – หนองคาย และจากแก่งคอย – มาบตาพุด คิดเป็นระยะทางยาวรวม 873 กิโลเมตร วิ่งบนทางรถไฟกว้าง 1.435 เมตร (ทางรถไฟในปัจจุบันกว้าง 1 เมตร) ด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงไม่ถือว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ต้องวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดตั้งแต่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ รถไฟไทย-จีนจึงถูกจัดอยู่ในประเภทรถไฟความเร็วปานกลาง หากค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 530,000 ล้านบาทดังกล่าวข้างต้นจริง จะทำให้ค่าก่อสร้างต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร เท่ากับ 607.1 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นค่าก่อสร้างที่สูงมาก 

ผมได้เปรียบเทียบกับค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย (เส้นทางเดียวกับรถไฟไทย-จีน) ซึ่งทำการออกแบบเบื้องต้นโดยจีนในนามของ The Third Railway Survey and Design Institute Group Corporation เมื่อเดือนตุลาคม 2555 พบว่ามีค่าก่อสร้างต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร เท่ากับ 388.2 ล้านบาทเท่านั้น หรือค่าก่อสร้างรถไฟไทย-จีนในปี 2558 ซึ่งออกแบบโดยจีนเช่นเดียวกันแพงกว่าค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคายในปี 2555 ถึง 218.9 ล้านบาทต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 56%

การออกแบบเบื้องต้นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคายโดยจีนในปี 2555 มีปัจจัยซึ่งมีผลกระทบต่อค่าก่อสร้าง ดังนี้

1. ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ความเร็วสูงขึ้นทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้น)
2. ระยะทางบนระดับพื้นดินคิดเป็น 73.7% ของระยะทางทั้งหมด (ระยะทางบนพื้นดินมากทำให้ค่าก่อสร้างถูกลง)
3. ระยะทางที่เป็นทางยกระดับคิดเป็น 22.8% ของระยะทางทั้งหมด (ระยะทางยกระดับมากทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้น)
4. ระยะทางที่เป็นอุโมงค์คิดเป็น 3.5% ของระยะทางทั้งหมด (ระยะทางที่เป็นอุโมงค์มากทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้น)
5. จำนวนสถานี 7 สถานี ประกอบด้วยสถานีบางซื่อ อยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย (จำนวนสถานีมากทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้น)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าเหตุใดรถไฟไทย-จีนซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงแพงกว่ารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึง 56% ทั้งๆที่ ทั้งสองโครงการนี้ออกแบบโดยจีน ในช่วงระยะเวลาที่ต่างกันเพียง 3 ปีเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: