วันนี้ (20 มกราคม 2559) ศาลาอาญาตัดสินคดีมาตรา 112 กำหนดโทษสูงเป็นสถิติใหม่ของศาลพลเรือน ให้จำคุก 9 ปี ลดเหลือ 6 ปี ในคดีของปิยะ ที่ถูกฟ้องว่าเป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ คดีนี้โจทก์มีเพียงภาพแคปเจอร์จากมือถือมาเป็นหลักฐาน โดยไม่มีหลักฐานอื่นๆ ทางคอมพิวเตอร์ และศาลเลือกเชื่อถือปากคำพยานคนหนึ่งที่มาแจ้งความ
อ่านรายละเอียดคดีปิยะ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/645
ปิยะ ถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน” ซึ่งมีการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ปิยะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ภายหลังปิยะยอมรับต่อศาลว่าเขาเคยสวมสิทธิเข้าใช้ชื่อพงศธร บันทอนมาก่อน แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องในคดีนี้
หลักฐานในคดีนี้ คือ ภาพคล้ายถูกถ่ายจากเฟซบุ๊ก "นายพงศธร บันทอน" ซึ่งใช้รูปของปิยะเป็นรูปประจำตัวและถูกแชร์ต่อกันบนอินเทอร์เน็ต ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ประกอบด้วยภาพย่อยสี่ภาพที่แคปเจอร์มาจากมือถือ ผู้พบเห็นภาพที่ถูกแชร์ต่อกันนำเรื่องไปกล่าวโทษต่อตำรวจในหลายท้องที่ เช่น ที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดน่าน การดำเนินคดีนี้โจทก์ไม่มีหลักฐานที่เป็นหมายเลขไอพีแอดเดรส เนื่องจากเฟซบุ๊กมีที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ จึงไม่สามารถตรวจสอบกับผู้ให้บริการได้ และเมื่อหน่วยพิสูจน์หลักฐานตรวจเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ยึดจากจำเลยแล้วก็ไม่พบร่องรอยการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าว
วันที่ 20 มกราคม 2559 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา เวลา 11.00 น. หลังก่อนหน้านี้ศาลเคยนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 แต่เลื่อนมาเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ และอยู่ระหว่างการปรึกษากับอธิบดีศาลอาญา
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่าในวันเวลาตามฟ้องมีผู้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน ข้อความที่ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์เข้าใจได้ทันทีว่ามีเจตนา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
ในคดีนี้ โจทก์มีอัจฉริยะ เรื่องรัตนพงศ์ มาเบิกความว่าพบเห็นข้อความจากเฟซบุ๊กของนายพงศธรโดยตรง และทราบว่าจำเลยเคยใช้ชื่อ Vincent Wang ซึ่งจำเลยก็รับว่าเคยใช้ชื่อดังกล่าวจริง อัจฉริยะยังเบิกความว่าสืบทราบมาว่าพงศธรมีบ้านอยู่ที่เขตดอนเมือง ซึ่งตรงกับที่พนักงานสอบสวนเบิกความว่าจำเลยเคยสวมชื่อเป็นนายพงศธร บันทอน ที่สำนักงานเขตดอนเมือง คำเบิกความของอัจฉริยะจึงสอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้มีการเปลี่ยนชื่อและสวมชื่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่อเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้อื่นสามารถทราบถึงตัวตนได้ ที่จำเลยเบิกความว่าเพิ่งพบเห็นข้อความตามฟ้องจากการที่แฟนมาบอก แต่ก็ไม่ได้นำตัวแฟนมาเบิกความต่อศาล และที่จำเลยเบิกความว่าเคยแจ้งให้ google ลบภาพนี้จากระบบค้นหาก็เป็นการแจ้งหลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้
จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) (5) ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ในฐานกฎหมายที่มีโทษหนักสุด กำหนดโทษ 9 ปี เนื่องจากการให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อทางพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี
ก่อนหน้านี้ในคดีมาตรา 112 ที่ศาลอาญาตัดสินว่าจำเลยมีความผิด จะกำหนดโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม เช่น คดีเจ้าสาวหมาป่าhttp://freedom.ilaw.or.th/th/case/558, คดี "ธเนศ"http://freedom.ilaw.or.th/case/614, คดีอัครเดชhttp://freedom.ilaw.or.th/th/case/577 และศาลนนทบุรีเพิ่งพิพากษาจำคุกชาญวิทย์ 6 ปี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 http://freedom.ilaw.or.th/th/case/660 การกำหนดโทษจำคุกในคดีของปิยะ 9 ปีต่อการกระทำ 1 กรรม จึงเป็นสถิติสูงสุดของโทษในคดีมาตรา 112 ที่ตัดสินโดยศาลพลเรือนจากการบันทึกข้อมูลของไอลอว์
อีกข้อสังเกตหนึ่งในคดีของปิยะ คือ คำเบิกความของอัจฉริยะซึ่งศาลรับฟังและนำมาเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินลงโทษจำเลย อัจฉริยะเบิกความต่อศาลว่าเขาเป็นประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งชมรมนี้มีกิจกรรมอย่างหนึ่ง คือ การติดตามตรวจสอบผู้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในกรณีของปิยะ อัจฉริยะตรวจสอบและได้ที่อยู่ที่ดอนเมืองมาโดยวิธีการที่ไม่เปิดเผย อัจฉริยะเดินทางกับสมาชิกในชมรมไปหาจำเลยตามที่อยู่ก่อนโดยหวังจะไปกระทืบ แต่เมื่อไม่เจอตัวจึงนำเรื่องไปแจ้งความต่อตำรวจปอท.
อ่านรายละเอียดเต็มๆ ในคดีปิยะได้ที่ฐานข้อมูลของไอลอว์http://freedom.ilaw.or.th/th/case/645
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น