PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประธานสหพันธ์ พงส.แห่งชาติก้มหน้ายอมรับ!? เจอ ม.44 “บิ๊กตู่”ปิดปาก ยัน-สู้ต่อแต่เปลี่ยนวิธี


   สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ “จ๋อย” แต่ยังสู้ต่อ ขณะที่สมาคมพนักงานสอบสวน”หนุนรัฐ”มาแรงเผยเหตุตำรวจกลุ่มสอบสวนต้องการย้ายสังกัดเพราะทนสภาพลูกเมียน้อยไม่ไหว ยิ่งหมดระบบ “เลื่อนไหล”เจอระบบ “ค่านิยม นรต.”ปิดอนาคตอันสดใสแน่นอน
       
       คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2559 เรื่องการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยเฉพาะข้อ 1.ให้บรรดาการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 จนถึงวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย...นั่นหมายความว่าเจตนารมย์ก็เพื่อให้คำสั่งต่างๆที่เคยออกไปแล้วสามารถบังคับใช้ต่อไปและไม่เปิดโอกาสให้มีใครนำไปฟ้องร้อง
       
       ที่สำคัญคือจะไม่มีตำแหน่งของข้าราชการตำรวจบางตำแหน่งอีกต่อไปนั่นคือกลุ่มพนักงานสอบสวนเช่นระดับ ผบก.ใช้คำว่าผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ระดับรองผบก.ใช้คำว่าผู้เชี่ยวชาญ ระดับ ผกก.ใช้คำว่าผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับรองผกก.ใช้คำว่าผู้ชำนาญพิเศษ ระดับสารวัตร ใช้คำว่าผู้ชำนาญการและรองสารวัตร ใช้คำว่าพนักงานสอบสวน กลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ “เสียเปรียบ”เพราะตกค่านิยมรุ่นนักเรียนนายร้อย อีกทั้งงานหนักแต่ไม่มีระบบเลื่อนไหลการันตีอีกแล้ว ทั้งหมดจะมาเริ่มต้น “ย้อนยุค”เฉกเช่นเมื่อราว 20 ปีก่อนคือเป็นข้าราชการตำรวจเหมือนกันทั้งหมดโดยรายละเอียดต่างๆที่ยังไม่ชัดเจนในระหว่างนี้ขึ้นกับคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่จะร่างกฎระเบียบต่างๆขึ้นมาใหม่
       เหตุใดเมื่อ 20 ปีก่อนกรมตำรวจ หรือสำนักงานตรวจแห่งชาติ จึงแยกสายสอบสวนให้เป็นหน่วยงานเฉพาะและใช้ระบบเลื่อนไหลเพื่อความเจริญก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติงาน
       
       ปัจจัยแรกคือพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องเชี่ยวชาญข้อกฏหมายโดยตรงในอดีตที่ผ่านมาตำรวจในส่วนนี้มักเป็นผู้จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ จะมีนักเรียนนายร้อยตำรวจบ้างแต่เป็นส่วนน้อยเพราะค่านิยมการทำงานในลักษณะสืบสวน ปราบปราม เป็นความวัฒนะธรรมความชอบและเมื่อจบภาระหน้าที่ “ปิดคดี”ด้วยการจับกุมผู้ร้าย หรือรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นแล้ว “ภาระ”ต่อไปในการสอบสวนพยาน หรือการเสาะหาหลักฐานความเชื่อมโยงซึ่งมีรายละเอียดมากรวมทั้งต้องอาศัยความรู้ความช่ำชองทางกฏหมายจึงถือเป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรม และ”ปลายทาง”ของผลงานตำรวจนั่นคือการนำผู้ถูกกล่าวหาขึ้นสู่การพิจารณาของศาล
       
       งานของพนักงานสอบสวนแม้ดูเหมือนว่าไม่เสี่ยงเช่นตำรวจสายปราบปรามแต่ในข้อเท็จจริงแล้ว “ความเสี่ยง”ของตำรวจกลุ่มนี้อยู่ที่ความผิดพลาดในการสอบสวนต่างๆจากที่เป็นฝ่ายใช้ข้อกฎหมายนำพยานหลักฐานมัดตัวผู้ถูกกล่าวหา หากเลินเล่อก็อาจกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง อีกทั้งเส้นทางความก้าวหน้า ค่าตอบแทนที่มีปัญหาจึงเกิดปรากฏการณ์สมองไหล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขาดแคลนพนักงานสอบสวนมีไม่เพียงพอจึงแก้ปัญหาด้วยการแยกกลุ่มงานออกจากฝ่ายสืบสวน ปราบปรามและงานจราจร โดยใช้ระบบเลื่อนไหล กับเงินประจำตำแหน่งเป็นแรงจูงใจ รอบหลายปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยมีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทุกครั้งเนื่องจากผู้มีอำนาจทุกยุค ทุกสมัยมักใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง หรือจัดการกับฝ่ายตรงข้ามจนเกิดกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ มีข้อเสนอให้ลดอำนาจ หน้าที่ซึ่งครอบจักรวาลไปหมดแต่ในการปฏิบัติงานกลับล้มเหลวและมักมีข้ออ้างถึงกำลังพล รวมทั้งงบประมาณสนับสนุน
       
       1 ในสายงานที่ถูกเรียกร้องให้ปฏิรูปอย่างเร่งด่วนคือฝ่ายสอบสวน และมิใช่เพียงกระแสภายนอกเท่านั้นแม้แต่ตำรวจส่วนหนึ่งก็ยังต้องการหลุดพ้นไปจากต้นสังกัดทั้งนี้ให้ดูจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานสอบสวนทั่วประเทศที่ใช้ชื่อ “สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ”นำโดย พ.ต.อ.ภรภัทร เพ็ชรพยาบาล พงส.ผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.บางปู จ.สมุทรปราการ กับเพื่อนสมาชิกราว 3 พันนาย
       
       นอกจากจะรวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่างๆต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาล แล้วหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 6/2559 มีการตอบโต้จากสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ อย่างทันทีทันควันโดย พ.ต.อ.ภรภัทร เพ็ชรพยาบาล ในฐานะประธานสหพันธ์ฯระบุว่าการออกคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้รู้สึกว่าท่านไม่ฟังให้ครบทุกฝ่ายก่อนตัดสินใจ
       
       "ไม่ทราบว่าท่านคิดอะไร แต่รู้สึกว่าท่านรับฟังแต่คนใก้ลชิด!!??" พ.ต.อ.ภรภัทรกล่าว และวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมจนมีสื่อนำไปพาดหัว “พนักงานสอบสวนโวย บิ๊กตู่ งัด ม.44 สกัด”ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เต้นผางและเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาพล.ต.ต.ธรรมนูญ ไตรทิพยพงศ์ ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวน พ.ต.อ.ภรภัทร เพ็ชรพยาบาล ซึ่งเข้าข่ายกระทำผิดวินัยกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2559 โดยท้ายคำสั่งให้ลงมือตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน
       
       จากคำสั่งนายกรัฐมนตรี ไปจนถึง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ที่ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯเอาผิดทางวินัยแก่ประธานสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ทำให้เห็นว่าการปฏิรูปตำรวจไทยน่าจะเป็นเพียงวาทะกรรมที่สวยหรูเท่านั้น เพราะผู้มีอำนาจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังผูกแน่นอาศัยประโยชน์ถ้อยทีถ้อยอาศัยชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ บรรยากาศของสมาชิกสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ที่เคยคึกคักวันนี้กลับมีแต่ความเงียบเหงา นายตำรวจสายสอบสวนทุกคนที่เกี่ยวข้องและออกมาเคลื่อนไหวไม่รู้ว่าวันข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น กิจกรรมต่างๆที่เคยเดินหน้าโดยไม่สะดุดอาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบเพื่อไม่ตกเป็นเป้า และเพื่อความอยู่รอด การเคลื่อนไหวทั่วไปจึงเป็นเพียงการส่งข้อความระบายความรู้สึก
       
       แม้แต่พ.ต.อ.ภรภัทร เพ็ชรพยายาล เมื่อทีมข่าวอาชญากรรม MGR ออนไลน์สอบถามเรื่องราวต่างๆได้คำตอบเพียงว่าคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ส่วนการต่อสู้ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบเพื่อความอยู่รอดเพราะ ม.44ของนายกฯมิใช่เพียงอำนาจแต่ยังเป็นกฏหมายด้วย ในขณะที่สหพันธ์พนักงานสอบสวนฯกำลังเจอมรสุมลูกใหญ่ มีกระแสข่าวอีกทางระบุว่ากลับเป็นโอกาสให้กลุ่มพนักงานสอบสวนอีกชุดหนึ่งเติบโต-ขยายวงขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นตำรวจสายอนุรักษ์ที่ยังคงต้องการให้ตำรวจสายสอบสวนอยู่ใน “มดลูก”ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อไปนั่นคือ “สมาคมพนักงานสอบสวน”อันมี พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ อดีตนายตำรวจคนดังนั่งเป็นประธานฯ
       
       ประวัติ พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ เคยเป็น ผบช.กำลังพล ,รองผบ.ตร., ก.ตร.ผู้ทรงคณวุฒิ และประธาน ปปช.ช่วงที่เป็นผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล นั้นพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.เคยทำหน้าที่นายเวรฯและในปัจจุบันยังอยู่ฐานะที่ปรึกษาของ ผบ.ตร.อีกด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น: