PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

ยูเอ็นแถลงการณ์จี้รธน.ไทยผู้แทนต้องมาจากลต.

ยูเอ็น’แนะกรธ.ปรับปรุงร่างรธน.11ข้อ ย้ำผู้แทนต้องมาจากการเลือกตั้ง

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ออกแถลงการณ์ แนะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ของไทยปรับปรุง 11 ข้อ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์ทางวิชาการลงวันที่ 23 มีนาคม เสนอแนะข้อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญของไทยรวม 11 ข้อ มีใจความโดยสรุปดังนี้

1.ความแตกต่างระหว่างพลเมืองและผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง ในหัวข้อ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทย ควรปรับให้มีการรับประกันการปกป้องสิทธิทั้งของพลเมืองไทยและที่ไม่ใช่พลเมืองไทยโดยเท่าเทียมกัน

2.สิทธิความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ มาตรา 27 ของร่างฉบับปัจจุบัน ควรเพิ่มการไม่เลือกปฏิบัติให้ครอบคลุมทั้งเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา รสนิยมทางเพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สัญชาติ ชาติพันธุ์ ภูมิหลังทางสังคม ทรัพย์สิน ลักษณะทางกายภาพหรือภาวะทางสุขภาพ อายุ สถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ภาวะทุพพลภาพ สถานภาพสมรส ชาติกำเนิด หรือสถานะอื่นๆ

3.สิทธิที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางอาญาร่างมาตรา 28 และร่างมาตรา 29 ควรปรับปรุงให้ครอบคลุมสิทธิต่างๆ ตามข้อ 9 และข้อ 14 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์)

4.สิทธิความเป็นส่วนตัว ร่างมาตรา 32 ควรได้รับการปรับปรุงให้รวมบทบัญญัติที่รับประกันการคุ้มครองจากการเข้าแทรกแซงความเป็นส่วนตัวโดยพลการ

5.สิทธิในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี ร่างมาตรา 34 ควรรวมบทบัญญัติที่รับประกันให้มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซง และรวมถึงการรับประกันสิทธิในการเสาะหาและรับข้อมูลสำคัญตามที่ระบุไว้ในข้อ 19 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

6.สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและสิทธิในการรวมกลุ่ม ร่างมาตรา 42 วรรค 2 และมาตรา 44 วรรค 2 ควรปรับให้การจำกัดสิทธิในเรื่องดังกล่าวไม่เพียงต้อง “เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ” เท่านั้น แต่ต้องกระทำ “เท่าที่จำเป็น” ตามข้อ 21 และ 22 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

7.สิทธิที่จะได้รับการเยียวยา ควรคงไว้ซึ่งมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

8.สิทธิในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ อาทิ สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้แทนของพลเมืองต้องมาจากการเลือกอย่างเสรีของประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่แท้จริงและจัดขึ้นตามวาระ สมาชิกของทั้งสองสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งต้องปกป้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง

9.สิทธิชุมชน ควรคงไว้ซึ่งมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญปี 2550

10.บทบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนผ่าน ควรตัดทิ้งร่างมาตรา 257 เพื่อไม่ให้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังคงมีอยู่ต่อไปหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

11.กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลควรดำเนินการให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครอบคลุมและเปิดกว้างให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ประชาชนชาวไทย ควรมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบและการรวมกลุ่ม การจำกัดสิทธิประการใดที่ไม่สอดคล้องกับกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ควรยกเลิกโดยทันที

ไม่มีความคิดเห็น: