PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

โฆษก คสช. แจง รายงานสิทธิมนุษยชน ของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย



โฆษก คสช. กะแล้ว !! รายงานสิทธิมนุษยชน ของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย ออกมาแบบนี้ ยันจำเป็นต้องใช้ กม.พิเศษ ดูแลสถานการณ์ในช่วงยังไม่ปกติ จนท.ใช้อย่างระวัง ยันไม่ละเมิดสิทธิ์ แต่รักษาสิทธิคนส่วนใหญ่ เผยคนเสียประโยชน์ เท่านั้นที่กระทบ
พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึง รายงานสิทธิมนุษยชน ของสหรัฐอเมริกา ที่แสดงความเป็นห่วงต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลทหาร ม.44 การคุมตัว นักการเมือง และการห้ามแสดงออก แสดงความเห็นต่างๆ ว่า.อาจเป็นเพียงความกังวลในเชิงความรู้สึก ไม่ต่างจากในหลายๆครั้งที่ผ่านมา ซึ่งในแง่ของภาพการปฏิบัติจริงของ จนท. นั้น ยังไม่พบมีเสียงสะท้อนในเชิงลบใดๆจากประชาชน
โฆษก คสช.กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ คสช.ได้เสริมมาตราพิเศษเพื่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพนั้น ด้วยเพราะสถานการณ์อยู่ในช่วงเวลาพิเศษ หรือบ้านเมืองยังไม่เป็นปกติ และเพื่อให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นไปตามความคาดหวังของ ประชาชน
"มั่นใจว่า แม้เจ้าหน้าที่จะมีกฎหมายพิเศษไว้เสริมประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน แต่ก็จะใช้ตามความจำเป็นอย่างระมัดระวังตามความจำเป็น และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยพยายามใช้กฎหมายปกติก่อนเป็นหลักเสมอมา"
ทั้งนี้ เห็นมีแต่ความกังวลของกลุ่มที่เห็นต่าง พยายามนำจุดนี้มาเป็นประเด็นข้ออ้างในการทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. เพราะในทางพฤตินัย หรือในทางการปฏิบัติจริงๆ. ยังไม่พบมีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งพี่น้องประชาชนเองก็ไม่มีสัญญาณในเรื่องความกังวล กลับมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต และก็ไม่ได้ไปทำร้ายก้าวล่วงคนธรรมดาทั่วไปในสังคมแต่อย่างใด
"นอกจากคนที่ชอบทำผิดกฎหมาย หรือบางคนที่เสียผลประโยชน์เท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบจึงพยายามที่จะปฎิเสธ"
สำหรับการเรียกบรรดานักการเมืองเข้าปรับทัศนคติ นั้น เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ให้ความร่วมมือ และทำในสิ่งที่สวนทางกับความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศ อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ คสช.ทำ หรือการมองในมุมที่แตกต่างกัน จึงมีการเรียกเชิญมาปรับความเข้าใจ และขอความร่วมมือกัน
"ไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อยู่ที่มุมในการตีความ เพราะการบังคับใช้กฎหมายในมุมหนึ่งคือการดูแลไม่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นไม่ว่าจะโดยทางวาจา จิตใจ หรือร่างกาย ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ปล่อยละเลยไม่ทำหน้าที่ ก็จะเกิดการละเมิดสิทธิของกันและกัน เราใช้กฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของคนส่วนใหญ่เท่านั้นเอง"
"การ ที่ต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังไม่เข้าใจ ก็คงจะต้องทำความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ โดยใช้ช่องทางต่างๆที่มีอยู่"
แม้ว่าจะมีความกังวลของต่างชาติเข้ามาเป็นช่วงๆก็ตาม มั่นใจสามารถชี้แจงได้ทุกอย่างดำเนินการไปตามแนวทางที่สร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากการรับฟังข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรืออาจรับฟังข้อมูลมาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ จึงนำไปสู่การความกังวลเกินกว่าสภาพของความเป็นจริง

ไม่มีความคิดเห็น: