PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ณรงค์ชัย อัครเศรณี โพสเฟนบุ๊ค กรณีการเสนอชื่อนายกฯคนนอก

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี โพสเฟนบุ๊ค ว่า 
- สวัสดีวันอังคารที่ 23 ส.ค. 2559 ครับ
- อย่างที่ผมได้อธิบายแล้วว่า ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ขบวนการที่นำไปสู่การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คือการแต่งตั้งนั้นต้องโดยพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอยู่แล้ว แต่ขบวนการที่จะให้ได้ชื่อมา เพื่อจะนำชื่อกราบบังคมทูล และรับสนองพระบรมราชโองการ เป็นประเด็นที่มีการดำเนินการต่างกันใน รธน. แต่ละฉบับ
- ที่ รธน. 2559 พยายามกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร แล้วหลังจากการลงประชามติ 7 ส.ค. ยังมีข้อเห็นต่างอีก เรื่องนี้มีประวัติที่มา สนใจติดตามอ่านได้ครับ
- ร่างรธน. 2559 ที่ประชาชนมีมติรับไปเมื่อ 7 ส.ค. นั้น ขบวนการให้ ส.ส. เสนอชื่อ นรม. คือ จากชื่อที่ประกาศไปล่วงหน้า แล้วลงคะแนน เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ กันในสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส. เป็นประธานรัฐสภา แต่มีบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เขียนไว้ว่า ถ้าทำไม่สำเร็จ จะด้วยเหตุใดก็ตาม แล้ว ส.ส.เกินครึ่งเห็นควรจะให้มีประชุมทั้งสภา เพื่อตัดสิน คือให้ ส.ว. มีส่วนด้วย แล้วจำนวนสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 ลงคะแนนให้เสนอชื่อบุคคล ซึ่งอาจไม่ได้มีชื่ออยู่ในรายชื่อของ ส.ส. ก็ทำได้ จากนั้นสภาผู้แทนก็ดำเนินการต่อไป
- ขบวนการนี้ ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง มากกว่าการจัดตั้ง เพราะ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง ส.ว. มาจากการจัดตั้ง
- ทีนี้ เมื่อมีคำถามพ่วง ที่บอกว่าในห้าปีข้างหน้า นับจากวันที่มีรัฐสภาชุดแรก (คือ ส.ส. + ส.ว.) “ให้ที่ประชุมรัฐสภา เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ซึ่งก็คือให้ ส.ส. กับ ส.ว. ลงคะแนน คือ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ด้วยกัน แต่ไม่ได้รวมเรื่องขบวนการเสนอชื่อ ผมเองเข้าใจอย่างนี้ ตีความอย่างนี้ ก็ได้มีการออกเสียงกันไป และฝ่ายเห็นด้วยก็มากกว่า
- จากการรับคำถามพ่วง ก็น่าจะแปลว่า ส.ส. และ ส.ว. ออกเสียงลงคะแนนในการเลือก นรม. พร้อมกัน จากชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ตามมาตรา 88 ถ้าไม่มีข้อยุติ ก็ไปมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล ที่ให้อำนาจ ส.ส. + ส.ว. จำนวน 2 ใน 3 อาจเสนอชื่อบุคคลที่ไม่อยู่ในรายชื่อของพรรคการเมืองก็ได้ คือมีการเสนอชื่อกันในที่ประชุมรัฐสภา ไม่ได้บอกว่าใครเสนอได้ ไม่ได้ เมื่อได้ชื่อแล้ว ก็เข้าขบวนการลงคะแนน เห็นชอบ / ไม่เห็นชอบ แปลว่าถ้ามีการเสนอชื่อคนนอก ก็ต้องมาทำในรอบนี้ คือรอบสอง
- ถ้าจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ในอดีต ที่ผมเคยเขียนเล่าไปแล้ว มี รธน. 2521 ที่ให้น้ำหนักการจัดตั้งมากกว่าเลือกตั้ง คือตอนนั้น ส.ว. เป็นประธานรัฐสภา จึงเป็นผู้นำเสนอชื่อ นรม. ขึ้นทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ไม่ได้เขียนเรื่องขบวนการที่ให้ได้มาซึ่งชื่อ คือในทางปฏิบัติ ประธานรัฐสภาก็คงหารือที่ประชุม แล้วตอนนั้น ส.ว. ถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย หลังจากการเลือกตั้งตาม รธน. 2521 ท่านประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภา คือ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ท่านก็กราบบังคมทูลเสนอชื่อ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
- เรื่องการเสนอชื่อใครเป็น นรม. ด้วยขบวนการอย่างไร สำคัญมาก เพราะเคยเกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2535 หลังจากพฤษภาทมิฬ ที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา จะต้องนำชื่อบุคคลขึ้นกราบบังคมทูล ให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็น นรม. แล้วเกิดการผิดคาดขึ้น คือ ดร.อาทิตย์ เป็นรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม มี นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค พรรคสามัคคีธรรมมีคะแนนเสียงมาก เสนอชื่อ นรม.ได้ จะเสนอชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ ก็คงจะมีปัญหา จึงมาเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมกับพรรคสามัคคีธรรม โดย พล.อ.อ.สมบุญ ก็จัดเตรียมการรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว แต่เหตุการณ์กลับพลิกอย่างไม่มีใครคาดถึง คือ ดร.อาทิตย์ กราบบังคมทูลเสนอชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็น นรม. ซึ่งพอประกาศชื่อตอนกลางคืน มีคนเฮกันจำนวนมาก ผมเองจำเหตุการณ์คืนนั้น คือวันที่ 10 มิ.ย. 2535 ได้อย่างดี ดร.อาทิตย์ได้รับการยกย่องจากสื่อว่า เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย ทั้งๆที่กราบบังคมทูลบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.
- เรื่องการเสนอชื่อ และเห็นชอบ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งบริหารทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ คือ ส.ส.จะไม่ชอบให้คนนอกมามีตำแหน่งบริหาร ส.ส. เรียกคนนอก ว่าข้าวนอกนา ผมเองมีประสพการณ์ข้าวนอกนาหลายครั้ง ที่สำคัญคือ ครั้งรัฐบาลชวน 1 (2535 - 2538) พรรคความหวังใหม่เข้าร่วมรัฐบาล เชิญผมเป็น รมช.อุตสาหกรรม ถึงขั้นตัดชุดขาว เตรียมเข้าเฝ้าฯแล้ว เกิดการประท้วงโดย ส.ส. กลุ่มหนึ่งที่โรงแรมราชศุภมิตร ที่หลานหลวง (รร.ปริ๊นเซส ปัจจุบัน) พล.อ.ชวลิต ให้คนต่อสายพูดกับผม โดยบอกว่า “อาจารย์ เขาไม่ยอม” ผมก็เรียนตอบท่านว่า ผมขอถอนตัว
- อีกครั้ง ปี 2539 พรรคความหวังใหม่ โดย พล.อ.ชวลิต จัดตั้งรัฐบาล ท่านเชิญ ดร.อำนวยและคณะ เข้าเป็น ครม.เศรษฐกิจ 4 คน แต่ ส.ส. ยอมให้สามคน ผมจึงได้ไปว่าการกระทรวงพาณิชย์ แทนที่จะเป็น คุณวิโรจน์ ภู่ตระกูล ที่ขอถอนตัวไป จากกรณีที่ ส.ส. ยอมให้คนนอก 3 คน ซึ่งมีนอกจากผม คือ ดร.อำนวย วีรวรรณ และ คุณสมภพ อมาตยกุล
- จากปัญหาเรื่องเสนอชื่อและเห็นชอบตำแหน่งบริหารนี้ จึงทำให้ รธน. 2540 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อ นรม. และ นรม. เป็น ส.ส. ไม่ใช่คนนอก การเห็นชอบก็ดำเนินการกันในสภาผู้แทนราษฎร
- ร่าง รธน. 2559 เขียนเผื่อทางเลือก / ทางออก เอาไว้ด้วย โดยให้น้ำหนัก ส.ส. มากกว่า ส.ว. ในการเสนอชื่อและเห็นชอบ แต่เมื่อผลของการลงประชามติ รับคำถามพ่วง ว่าในห้าปีหลังจากมีการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ให้ ส.ว.ร่วมการเห็นชอบตั้งแต่ต้น ตามรายชื่อที่ประกาศ แต่มติต้องมีเกิน 375 เสียง (ส.ส. + ส.ว. 750 คน) แทนที่จะเป็น 250 เสียง แล้วถ้ายังไม่สำเร็จ เปิดช่องให้มีการเสนอชื่อคนนอกกันได้ ทั้งโดย ส.ส. และ ส.ว. แต่ตรงนี้ต้องมีเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา คือไม่ต่ำกว่า 500 เสียง ซึ่งจะให้ได้ 500 เสียง นรม.คนนอกก็ต้องมีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สนับสนุนอย่างเต็มที่
- สรุปคือ จากร่าง รธน. 2559 + คำถามพ่วงที่ผ่านประชามติแล้ว เราจะมีการเมืองที่ ส.ส. และ ส.ว. จะต้องพึ่งกันและกัน
- สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น: