PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

บิ๊กตู่ แสดงวิสัยทัศน์ บน เวทีผู้นำ G20 ที่จีนหนุนแนวทางปฏิรูป ผู้นำ

บิ๊กตู่ แสดงวิสัยทัศน์ บน เวทีผู้นำ G20 ที่จีนหนุนแนวทางปฏิรูป ผู้นำ เผย สอดคล้องยุทธศาสตร์ไทย ยันต้อง"ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"และStronger Together ยันไทย เลือกตั้งปี 60

(4ก.ย.)พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 (G20) วาระที่ 1 หัวข้อ “การประสานนโยบายและแนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (Strengthening Policy Coordination and Breaking a New Path for Growth)
พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนที่เชิญไทยในฐานะประธาน G77 เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ซึ่งตรงกับเป้าหมายของการประชุมที่ให้ความสำคัญกับวาระการพัฒนา และบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง G20 และ G77 ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของไทยเช่นกัน
พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมจีนและสหรัฐฯ ที่แสดงบทบาทนำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกโดยบรรลุข้อตกลงในการรับรองข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS)
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเผชิญกับความท้าทายในหลากมิติ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันมากขึ้น โดย "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ด้วยการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่เพื่อเป็น “ยานยนต์แห่งศตวรรษที่ 21” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ (New Path of Growth)ต้องกล้าคิดนอกกรอบและก้าวข้ามเส้นแบ่งในรูปแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างหุ้นส่วนระดับโลก ที่ไม่จำกัดรูปแบบของความร่วมมือทั้งเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี โดยเฉพาะการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นวาระที่ไทยเน้นย้ำในฐานะประธานกลุ่ม G77

ในการผลักดันความร่วมมือใหม่เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ต้องลงมือทำใน 3 ส่วน ดังนี้
1.การประสานนโยบายและความร่วมมือเพื่อให้โอกาสและทางเลือกและไม่ปิดกั้นประเทศกำลังพัฒนา ที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก จะมีการเชื่อมโยง มีความสมดุล และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งพื้นที่สำหรับรัฐบาลใช้มาตรการที่เหมาะสมในการบริหารเศรษฐกิจของตนด้วย

2.การให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภายใน ได้แก่
1) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการปฏิรูประบบการศึกษาทุกระดับชั้นและการพัฒนาทักษะกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน
2) พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ ในทุกระดับการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนสร้างนวัตกรรม โดย G20 ควรร่วมกับ G77 แสวงหาจุดแข็งและศักยภาพของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าร่วมกัน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาสินค้าจากทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายของ G77 สร้างแบรนด์ของภูมิภาค ขยายโอกาสตลาดสินค้าและตลาดแรงงานใหม่ ๆ ในกลุ่ม G77 ที่จะสามารถช่วยนำโลกออกจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในปัจจุบัน

3).สนับสนุนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกลไกประชารัฐ ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากภายใน ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน ลดความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคม

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาภายในประเทศซึ่งอยู่ภายใต้ Roadmap ที่กำหนดไว้ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2560 เพื่อการเป็นรัฐประชาธิปไตยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทั้งนี้ ไทยสนับสนุนวาระการปฏิรูปของ G20 (G20 Structural Reform Priorities) ซึ่งเน้นการสร้างการเติบโตที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทยเช่นกัน

ในฐานะตัวแทนของ G77 นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ G20 ร่วมมือร่วมใจ โดยอาศัยประสบการณ์ และทรัพยากร ที่มีอยู่ เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ใหม่ที่จะนำพาโลกไปสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ อย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังคำกล่าวที่ว่า แข็งแกร่งไปด้วยกัน (Stronger Together)

ไม่มีความคิดเห็น: