PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สดับปกรณ์

สดับปกรณ์
ภายหลังที่ตระเตรียมพระบรมศพหรือพระศพเจ้านายเรียบร้อยแล้ว จึงมาถึงขั้นตอนในส่วนของพิธีสงฆ์ ซึ่งจะสวดสดับปกรณ์ หรือสวดพระอภิธรรมทำนองหลวง 7 คัมภีร์ อันเป็นบทสวดที่ใช้ในพระราชพิธีของราชสำนัก เพื่อเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่ดวงพระวิญญาณเจ้านายที่ล่วงลับ
ความหมายของคำสดับปกรณ์ที่เป็นคำกริยา ยังสัมพันธ์กับพิธีกรรมของราษฎรสามัญชนที่กระทำคือ บังสุกุล ซึ่งเป็นการบำเพ็ญกุศลถวายแก่ผู้เสียชีวิต และมีการทอดผ้าถวายพระภิกษุสงฆ์เรียกว่า ผ้าบังสุกุล แต่การเรียกแตกต่างกันระหว่างพิธีของเจ้านายและพิธีของราษฎรทั้งที่สาระของพิธีมีลักษณะเดียวกันไม่ถูกต้อง ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จถึงที่มาของการบังสุกุลและสดับปรณ์ ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงมีพระวินิจฉัยถึงที่มาและอักขรวิธีของคำสดับปกรณ์ไว้ในสาส์นสมเด็จด้วยเช่นกัน
จึงสามารถสรุปได้ว่า ด้วยเหตุจากที่มาของคำทั้งสองต่างกัน คือ "บังสุกุล" หมายถึง การบำเพ็ญกุศลด้วยการชักผ้าหรือทอดผ้าบังสุกุล ส่วน "สดับปกรณ์" หมายถึง การสวดพระธรรมเจ็ดคัมภีร์เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับ โดยอาศัยเหตุการณ์ตามพุทธประวัติเป็นการบำเพ็ญกุศล แต่กระนั้นก็ยังมีความนิยมในการเรียกพิธี ทั้งการทอดผ้า และการสวดพระอภิธรรมของเจ้านายว่า "สดับปกรณ์"
นอกจากนี้ ยังมีการบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อครบ 7 วัน 15 วัน 50 วัน และ 100 วัน พิธีกรรมจะปฏิบัติเหมือนกันคือ มีการสวดมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และสดับปกรณ์ การบำเพ็ญพระราชกุศลตามระยะเวลาดังกล่าว เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลต่อไปทุก 7 วันจนพระราชทานเพลิง แบบแผนในลักษณะเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากพิธีกงเต๊กของจีนและญวน
การบำเพ็ญพระราชกุศลที่ได้รับอิทธิพลมาจากพิธีกงเต๊กของจีนและญวน ในจำนวนรอบวันดังกล่าวมีคำเรียกในภาษามคธ ดังนี้
การพระราชกุศล 7 วัน เรียกว่า การพระราชกุศลสัตตมวาร (สัตตม แปลว่า ที่ 7)
การพระราชกุศล 15 วัน เรียกว่า การพระราชกุศลปัณรสมวาร (ปัณรสม แปลว่า ที่ 15)
การพระราชกุศล 50 วัน เรียกว่า การพระราชกุศลปัญญาสมวาร (ปัญญาสม แปลว่า ที่ 50)
การพระราชกุศล 100 วัน เรียกว่า การพระราชกุศลสตมวาร (สตม แปลว่า ที่ 100)
เมื่อบำเพ็ญพระราชกุศลตามจำนวน 100 วันแล้ว เรียกว่า "การปิดพระศพ" ซึ่งไม่ต้องบำเพ็ญพระราชกุศลทุกวัน โดยหลังจากนั้นจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำทุกๆ 7 วันหรือไม่ ก็แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
(ที่มาเนื้อหา : หนังสือ "ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย" โดย นนทพร อยู่มั่งมี และธัชชัย ยอดพิชัย สำนักพิมพ์มติชน
ที่มาพระฉายาลักษณ์ : สำนักพระราชวัง)

ไม่มีความคิดเห็น: