PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กรณี ธรรมกาย ท้าทาย “มาตรา 44” ท้าทาย “คสช.”

ความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งของกรณี “ธรรมกาย” มิได้อยู่ที่การตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อเป็นอาวุธและเป็น“เครื่องมือ” ในการจัดการ
หากแต่อยู่ที่ว่า “ได้ผล” หรือไม่
คำว่า “ได้ผล” นี้หากประเมินจากพื้นฐานและความล้มเหลวจากปฏิบัติการ 2 ครั้งเมื่อเดือนมิถุนายนและเมื่อเดือนธันวาคม 2559
ก็ต้องถือว่า “สำเร็จ”
เพราะเมื่อ 2 ครั้งก่อน การบุกเข้าไปภายในวัดพระธรรมกายดำเนินไปได้แต่ด้วยความทุลักทุเลอย่างยิ่ง
ทั้งสามารถเข้าไปได้เพียง “บางส่วน”
แต่ปฏิบัติการครั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สามารถเข้าไปได้ทั้งโซน A โซน B และโซน C แทบไม่เหลือพื้นที่ใดที่ไม่สามารถเข้าไปไม่ได้
แต่หากว่า “ได้ผล” คือสามารถจับกุมพระเทพญาณมหามุนีหรือไม่
คำตอบไม่ว่าจะเป็นคำแถลงในวันที่ 17 ไม่ว่าจะเป็นคำแถลงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ก็คือ ไร้ร่องรอยของพระเทพญาณมหามุนี
ตรงนี้ต่างหากที่ได้กลายเป็น “คำถาม”
คำถามแรกสุดย่อมพุ่งเป้าไปยังประเด็นอันเกี่ยวกับ “การข่าว” ไม่ว่าจะเป็นการข่าวของดีเอสไอ ไม่ว่าจะเป็นการข่าวของตำรวจ
หรือแม้กระทั่งการข่าวของ “ทหาร”
เป็นอันว่า ที่ดีเอสไอเสนอเป็นเป้าหมายใน “หมายค้น” ไม่มีความแจ่มชัด เสมอเป็นเพียงการคาดคะเนว่าน่าจะอยู่ที่ใด
แต่ไม่มี “ฐาน” ความเป็นจริงอย่างจริงแท้
เป็นอันว่า ที่ดีเอสไออ้างว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปเสาะหาข่าวภายในวัดพระธรรมกาย ก็อาจจะใช่
แต่ประเด็นอยู่ที่ “ประสิทธิภาพ” และ “ความแม่นยำ”
ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “ดีเอสไอ” ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “ตำรวจ” ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “ทหาร” ต้องยอมรับในความสำคัญของ “การข่าว”
เพราะ “การข่าว” คือองค์ประกอบ 1 ในการกำหนด “แผน”
ตลอด 2 วันของการลุยเข้าไปในพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ตลอด 2 วันของการเจาะทะลวงเข้าไปแต่ละอาคาร แต่ละห้อง จึงดำเนินไปอย่างชนิดที่เรียกว่า
“มะงุมมะงาหรา”
คำถามต่อมาก็สืบเนื่องจากกรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในกรณีของ “วัดพระธรรมกาย” เมื่อเริ่มต้นก็คำนึงแต่ในด้านของความเฉียบขาด
ขณะเดียวกัน ก็มองข้าม “ผลสะเทือน” จาก “มาตรา 44”
มาตรา 44 คือความต่อเนื่องจากมาตรา 17 อันดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502 ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
และก็ต่อเนื่องมาถึงยุค จอมพลถนอม กิตติขจร
ความรับรู้ของคนในยุคหลัง คือ ความเด็ดขาด เพราะว่าได้ให้อำนาจเป็นทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อยู่ในตัวคนเดียว
แม้กระทั่ง “ประหาร” ก็สามารถทำได้
จินตภาพแรกของการใช้มาตรา 44 ต่อกรณีวัดพระธรรมกาย คือความคิดรวบยอดว่าปัญหานี้ร้ายแรงเกินกว่าจะใช้อำนาจตามปกติได้
จึงเกิดความคาดหวังว่าทุกอย่างจะ “สัมฤทธิ์”
นั่นหมายถึงว่า ปัญหาอันเนื่องแต่วัดพระธรรมกายจะต้องยุติ ขณะเดียวกัน ปัญหาอันเนื่องแต่พระเทพญาณมหามุนี จะต้องจบสิ้น
นั่นก็คือ สามารถนำตัวพระเทพญาณมหามุนีไปขึ้นศาลได้
แต่แล้วก็ปรากฏจากคำแถลงตลอด 3-4 วันจากดีเอสไอ ปรากฏว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าพระเทพญาณมหามุนีอยู่ที่ใด
ตราบใดที่ยังไม่สามารถจับตัวพระเทพญาณมหามุนีได้ ตราบนั้นปัญหาของวัดพระธรรมกายก็ยังดำรงอยู่
คำถามนี้ไม่ได้พุ่งไปยัง “ดีเอสไอ” ไม่ได้พุ่งไปยัง “ตำรวจ” เท่านั้น หากแต่ยังเลยเถิดไปยัง “คสช.” ไปยัง“รัฐบาล”
และไปอยู่ที่ “มาตรา 44” อย่างมิอาจปฏิเสธได้

ไม่มีความคิดเห็น: