PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นปรองดองหรือไล่ล่า

สื่อต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลคสช. ว่าอ้างความปรองดอง ขณะที่ไล่ล่าจับกุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่เว้นวัน
The Economist รายงานว่าหลังจากที่คสช.ได้ทำการรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองในไทยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2014 เพื่อหยุดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสัญญาว่าจะนำประเทศไทยกลับคืนสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยภายในระยะเวลาอันสั้น แต่หลังจากที่คสช.บริหารบ้านเมืองเกือบ 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นในไทยเมื่อไร
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คสช.เพิ่งนำเสนอและอธิบายแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อนักการทูตและผู้สื่อข่าวต่างชาติ ซึ่ง The Economist นิตยสารวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเมืองโลกของอังกฤษ มองว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อๆไปต้องปฏิบัติตามแนวทางที่คสช.วางไว้อย่างเคร่งครัด เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าทหารจะยังไม่ถอนตัวจากอำนาจการบริหารประเทศไปไหน
แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตต้องดำเนินโยบายภายใต้การควบคุมดูแลของ คณะกรรมมาธิการที่แต่งตั้งโดยกองทัพ และผู้นำเหล่าทัพที่นั่งอยู่ในวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจเข้ามาแทรกแซงการบริหารประเทศทันที หากพบว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไดดำเนินนโยบายของตัวเองที่นอกลู่นอกทางจากที่รัฐบาลคสช.กำหนดแนวทางไว้ 
แม้ไทยจะเคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หลายปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตกลับเฉื่อยชาลงอย่างเห็นได้ชัด จนธนาคารโลกรายงานในเดือนที่ผ่านมาว่า กัมพูชา, มาเลเซีย และเวียดนามดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่า โดยที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยถูกควบคุมโดยบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ขณะที่รัฐบาลก็ทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจแค่เฉพาะในกรุงเทพ และเมืองใหญ่ๆ ทำให้คุณภาพชีวิตระหว่างคนเมืองและต่างจังหวัดมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น 
รัฐบาลคสช.รู้ปัญหาข้อนี้ดี แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนได้ สภาพเศรษฐกิจในยุครัฐบาลคสช.จึงอยู่ในสภาพตกต่ำฝืดเคือง ค่าครองชีพพุ่งสูง ทำให้รายรับของประชาชนไม่พอกับรายจ่าย ส่วนสภาพการเมืองก็อยู่ในสภาวะที่เรียกได้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและไร้เสถียรภาพ จากการที่รัฐบาลคสช.ไล่จับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคสช.ให้เห็นเป็นรายวัน
แม้เดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลคสช.ได้เชิญกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ รวมทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าแผนการปรองดองของรัฐบาลคสช.จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ในเมื่อยังคงมีการไล่ล่าจับกุมผู้ใกล้ชิดและให้การสนับสนุน ดร. ทักษิณ ชินวัตร อยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้กรมสรรพากรขยายเวลาเรียกเก็บภาษีจาก ดร. ทักษิณ ชินวัตร จากการขายหุ้นชินคอร์ปเป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาทก่อนคดีจะขาดอายุความในวันที่ 31 มีนาคมนี้ หากไม่ดำเนินการและปล่อยให้คดีหมดอายุความ ผู้เกี่ยวข้องและกรมสรรพากร อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 
สื่อต่างประเทศมองว่าปัญหาการสร้างความปรองดองในไทยนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดที่กองทัพไทยเชื่อมั่นว่าตัวเองทำหน้าที่เป็นเหมือนกรรมการยุติความขัดแย้ง ด้วยการก่อรัฐประหารหลายสิบครั้งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาเพื่อปกป้องประเทศชาติ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของอาการป่วยไข้ที่ไทยกำลังเผชิญ
ที่มา : http://news.voicetv.co.th/world/473886.html

ไม่มีความคิดเห็น: