PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

เบื้องหน้าเบื้องหลังซื้อเรือดำน้ำ

ในขณะที่ทางรัฐบาลทั้งนายกรัฐมนตรีและ “ลูกพี่ใหญ่” ซึ่งก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ออกมายืนยันชัดเจนว่าโครงการเรือดำน้ำจีน เป็นโครงการที่จำเป็น คุ้มค่า โดยเน้นย้ำว่าการพิจารณาเลือกเรือดำน้ำจากจีนเป็นการพิจารณาโดยกองทัพเรือเอง ในขณะเดียวกับที่กองทัพเรือได้ออกมาเดินสายชี้แจงทางสื่อต่างๆ อย่างไรก็ตามจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการชี้แจงจากทางกองทัพเรืออย่างเป็นทางการในรายละเอียดเชิงเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นแต่อย่างไร

 submarine01042017

จนกระทั่งในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาทาง Facebook 'ThaiArmedForce.com' ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านเทคโนโลยีทางการทหารที่มีชื่อเสียงและค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือได้นำข้อมูลที่ดูเหมือนเป็นบทสัมภาษณ์จาก “แหล่งข่าว inside ทัพเรือ” ภายใต้ชื่อ 'S26T คือทางเลือกทางยุทธศาสตร์' ที่ออกมาระบุข้อมูลรายละเอียด และเหตุผลเบื้องลึกว่ากองทัพเรือเดินทางมาถึงจุดที่เลือกเรือดำน้ำจีนได้อย่างไร
http://thaiarmedforce.com/83-taf-editorial/editorial/855-tafeditorial15

แหล่งข่าวรับ “ทัพเรือตั้งโต๊ะประมูลบังหน้าทั้งที่เป็นใบสั่ง”

“กองทัพเรือรู้ว่าเมื่อมีสัญญาณมาแบบนี้ ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าดึงดันเหมือนเดิม สุดท้ายก็คงชวดอีก จึงคิดว่าอะไรที่พอรับได้ก็รับ อะไรที่รับไม่ได้ก็ต้องพยายามเจรจาให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง”

การเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับ Inside ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันข้อมูลว่ามีใบสั่งจากภายนอกมายังกองทัพเรือให้พิจารณาเรือดำน้ำจีน “เป็นพิเศษ” เพราะตั้งแต่ข่าวการจัดหาเรือดำน้ำเริ่มเป็นที่สนใจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการจัดหาจากประเทศจีนทั้งที่ผ่านมามีปัญหาด้านประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพไทยมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นรถถัง เรือรบ หรือแม้แต่อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ KS-1C ที่กองทัพอากาศเพิ่งจัดหาเข้าประจำการ ทาง รมว.กห. ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันหลายครั้งว่า "ไม่ใช่เป็นผู้กดดันให้กองทัพเรือเลือกซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน" 

นอกจากนั้นแหล่งข่าวก็ยังยอมรับว่า “หลายๆ อย่างที่กองทัพเรือได้มาในโครงการนี้นั้น ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก เพราะสิ่งที่จีนเสนอมาในครั้งแรกก็ไม่ได้มีอะไรมากและไม่ได้ตามที่ควรจะเป็นทั้งหมด” ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าเกณฑ์การคัดเลือกของคณะกรรมการที่กองทัพเรือตั้งขึ้นเพื่อเลือกแบบเรือดำน้ำในตอนแรกใช้อะไรในการพิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นจนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเรือดำน้ำจีน 

เมื่อตรรกะการจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกองทัพกลายเป็น “ปริมาณคือคุณภาพ”

แหล่งข่าวได้ระบุอีกว่าเหตุผลที่กองทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน (หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือเหตุผลที่กองทัพเรือและรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับเรือดำน้ำจีน) คือจำนวนที่ทางบริษัทจีนเสนอมาเป็นจำนวน 3 ลำ ในขณะที่เอกสารเชิญชวนที่กองทัพเรือส่งไปยังบริษัทต่างๆ หรือที่เรียกว่า Request for Offer ได้ระบุความต้องการในการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องการจัดหาเพียง 2 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท และบริษัทอื่นก็ทำตามกติกาคือเสนอมา 2 ลำ

แหล่งข่าวกล่าวว่า “เพราะทางจีนเองก็ทราบดีว่า ถ้าเทียบตัวต่อตัวนั้น เรือดำน้ำจีนไม่สามารถสู้กับเรืออื่นได้ โดยเฉพาะเรือจากทางยุโรป การจะให้ได้เปรียบต้องสู้ด้วยจำนวนที่มากกว่า คือ สู้ด้วยคุณภาพไม่ได้ ต้องสู้ด้วยปริมาณ” ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้วก็จะพบว่าอาจไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องนัก เนื่องจากแม้ว่าการมีเรือดำน้ำ 3 ลำ จะดูเหมือนว่าจะมีเรือพร้อมใช้งานมากกว่า แต่หาก “คุณภาพ”ของเรือนั้นด้อยกว่าในที่สุดเราก็อาจได้พบกับภาพที่เรือส่วนใหญ่จากจำนวน 3 ลำ ต้องจอดซ่อม หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนมีความพร้อมน้อยกว่าเรือจำนวนเพียง 2 ลำ ที่มี “คุณภาพ” ที่ดีกว่า

สุดยอดเทคนิคการขายกับลูกค้าที่เต็มใจให้หลอก

จากเรือดำน้ำที่เข้าร่วมประมูลร่วมกับเรือดำน้ำจีนในช่วงเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งประกอบด้วยบริษัทต่อเรือดำน้ำจากเกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน และเกาหลีใต้ รวมบริษัทที่ประมูลในครั้งนั้นทั้งสิ้น 6 บริษัท แหล่งข่าวได้หยิบยกข้อด้อยบางประเด็นของเรือดำน้ำฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน และเกาหลีใต้ ดังนี้

เรือดำน้ำฝรั่งเศส – เรือดำน้ำขนาดเล็ก ไม่เคยต่อมาก่อน ทร. ไม่มั่นใจเรื่องอะไหล่
เรือดำน้ำรัสเซีย – มีโซนาร์เพียงแบบเดียว ความเป็นอยู่ไม่ดี 
เรือดำน้ำสวีเดน – พื้นฐานหลักจาก A19 ผสมกับ A26 
เรือดำน้ำเกาหลีใต้ – ไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะยอมขายอาวุธปล่อยนำวิถี Harpoon ให้หรือไม่

แม้ยอม “คิดบวก” มองข้ามประเด็นด้านความโปร่งใสในการจัดหาในแง่ของการเสนอจำนวนที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงและ “สัญญาณจากนอกกองทัพ” และพยายามมองประโยชน์ที่ ทร. จะได้รับในท้ายสุดนั้น ก็จะพบว่าแม้เรือดำน้ำจีนจะ “มี” เกือบทุกอย่าง แต่หลายอย่างก็ “ดีไม่เท่าและได้ไม่ครบถ้วนเท่าคนอื่น” รวมทั้งคุณสมบัติบางอย่างของเรือดำน้ำจีนที่ “ของแถมมากแค่ไหนก็ไม่สามารถชดเชยได้”

เพราะจากการนำเสนอของแหล่งข่าวจะเห็นว่าได้นำข้อด้อยเรือดำน้ำจากประเทศอื่นมีหรือบางส่วนก็เป็นเพียงความไม่ชัดเจนบางประการ แต่ไม่มีการกล่าวถึงคุณลักษณะในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร ต่างจากเรือดำน้ำจีนที่พยายามเน้นว่ามี “ออฟชั่น” ที่มากกว่า แต่ไม่ได้พิจารณาว่าจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ และหลีกเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงคุณลักษณะสำคัญพื้นฐานที่ด้อยกว่าค่าเฉลี่ยของเรือดำน้ำอื่นๆ อย่างชัดเจน ที่เมื่อได้ทำการตรวจสอบกับข้อเสนอจากบริษัทอื่น (ดูตัวอย่างเอกสาร)ก็ได้ผลการเปรียบเทียบที่น่ากังวล ดังนี้

- ขนาดที่ใหญ่เกินไป โดยจะเห็นได้ว่าขนาดตัวเรือที่ใหญ่ทำให้ความลึกปลอดภัย (Safe Depth) มากกว่าเรือดำน้ำแบบอื่น ซึ่งความลึกดังกล่าวหมายถึงความลึกที่เรือดำน้ำต้องทำการดำเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระ ซึ่งยิ่งมีค่ามากเท่าใดก็หมายความว่าพื้นที่ที่จะทำการดำต้องมีความลึกเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งเรือดำน้ำจีนมีค่าความลึกปลอดภัยที่มากที่สุดจึงจะมีข้อจำกัดในการดำมากที่สุด 

- ความเร็วและระยะปฏิบัติการ เรือดำน้ำจีนสามารถทำความเร็วสูงสุด 18 นอต ได้เพียง 10 นาที ในขณะที่เรือแบบอื่นสามารถใช้ความเร็วสูงสุดมากกว่า 20 นอต ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง รวมทั้งมีระยะปฏิบัติการเพียง 8,000 ไมล์ ในขณะที่เรือแบบอื่นมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์

- ความเงียบ เป็นคุณลักษณะที่จำเป็นของเรือดำน้ำ เรือดำน้ำจีนมีความเร็วเงียบที่ต่ำกว่าแบบอื่น ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าการมีตัวเรือ 2 ชั้น ที่เป็นแนวทางการออกแบบที่ล้าสมัยแต่มักถูกกล่าวอ้างโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าช่วยให้เรือมีความเงียบมากขึ้นนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้แสดงผลให้เห็นแต่อย่างใด

- ระบบอำนวยการรบ ที่มีประสิทธิภาพในการคำนวณค่าเป้าด้อยกว่าเรือแบบอื่นอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าจำนวนเป้าที่สามารถติดตามและคำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่าหลายเท่า ซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติการอย่างมีนัยยะสำคัญ

- จำนวนตอร์ปิโด มีความพยายามที่จะปิดเบือนว่าเรือดำน้ำแบบอื่นได้แต่ตัวเรือเปล่า มีแต่เรือดำน้ำจีนเท่านั้นที่มีลูกอาวุธมาให้ ซึ่งจริงๆ แล้วตรงกันข้าม เรือดำน้ำจีนให้ลูกตอร์ปิโดมาด้วยก็จริง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยมากคือลูกจริง 4 ลูก ลูกซ้อม 2 ลูก สำหรับเรือ 2 ลำ หรือลูกจริงเพียงลำละ 2 ลูก เท่านั้น และในการเสนอเบื้องต้นก็ไม่มีลูกอาวุธปล่อยนำวิถีมาให้ ซึ่งแม้ว่าภายหลังจากการเจรจาเพิ่มเติมจะมีการ “แถม” อาวุธปล่อยนำวิถีมาให้ แต่ก็ไม่เต็มจำนวนท่อ ได้มาเพียงลำละ 2 ลูก ต่างจากเรือดำน้ำแบบอื่นๆ บางแบบที่ให้ลูกตอร์ปิโดมา “ครบทุกท่อยิง” พร้อมลูกฝึกเพิ่มมาให้อีกด้วย ทั้งนี้เหตุผลที่เรือดำน้ำแบบอื่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาวุธปล่อยนำวิถีเนื่องจากการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีจากเรือดำน้ำมีข้อเสียในด้านการเปิดเผยที่อยู่ซึ่งเป็นอันตรายต่อเรือดำน้ำเอง

- การหนีออกจากเรือดำน้ำในกรณีฉุกเฉินมีความปลอดภัยต่ำกว่าแบบอื่น ความลึกสามารถทำการหนีได้สูงสุดคือ 120 ม. ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำได้มากกว่า 180 ม.

- อายุการใช้งานสั้นกว่าแบบอื่น อายุการใช้งานของเรือดำน้ำจีนอยู่ที่ 25 ปี ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นบางแบบมีอายุการใช้งานถึง 40 ปี ขึ้นไป

- อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ต่ำมาก สามารถทำการชาร์จได้เพียง 200 ครั้ง ในขณะที่เรือดำน้ำแบบอื่นสามารถทำได้ถึง 1,250 ครั้ง

ตารางเปรียบเทียบคุณลักษณะของเรือดำน้ำจีนกับบริษัทอื่นๆ ที่ร่วมยื่นประมูล


24042017 1


24042017 A1

ตัวอย่างเอกสารของเรือดำน้ำแบบ A

 
24042017 A2

ตัวอย่างเอกสารของเรือดำน้ำแบบ B


24042017 A3

ตัวอย่างเอกสารของเรือดำน้ำแบบ C


24042017 2


ตัวอย่างเอกสารของเรือดำน้ำจีน

เบื้องหลังการเจรจาต่อรอง...สุดท้ายแล้ว “คุ้มกว่า” จริงหรือ?
“หลายๆ อย่างที่กองทัพเรือได้มาในโครงการนี้นั้น ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก เพราะสิ่งที่จีนเสนอมาในครั้งแรกก็ไม่ได้มีอะไรมากและไม่ได้ตามที่ควรจะเป็นทั้งหมด”
การเจรจาต่อรองภายหลังจากที่กองทัพเรือยอมเลือกเรือดำน้ำจีนตาม “สัญญาณ” ก็เริ่มขึ้นภายใต้พยายามที่จะต่อรองทำให้เรือดำน้ำจีนลำนี้สมบูรณ์ขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าสิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาตามที่แหล่งข่าวระบุไม่ว่าจะเป็นกล้องตาเรือแบบ Optronic ระบบนำร่องด้วยแรงเฉื่อย (INS) เพิ่มเติมอีก 1 ชุด ระบบแจ้งเตือนภัยเรดาร์ (RWR) การสนับสนุนอะไหล่ หรือแม้แต่ Multifunction Console นั้น แม้ว่ากองทัพเรือจะประสบความสำเร็จในการเจรจาให้ทางจีนเพิ่มเติมให้มากกว่าที่เสนอมาในตอนแรก แต่หากดูรายละเอียดให้ดีๆ ก็จะพบว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่เรือดำน้ำแบบอื่นมีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้นสิ่งที่กองทัพเรือได้จากการเจรจาครั้งนี้คือการลดข้อด้อยส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพของเรือดำน้ำจีนให้มากกว่าหรือแม้แต่เทียบเท่าประสิทธิภาพของเรือดำน้ำแบบอื่นแต่อย่างใด

ตรรกะวิบัติของคำว่า “ป้องปราม” กับ “มีไว้ให้เกรงใจ”

“แหล่งข่าวได้กล่าวสรุปกับ TAF ว่าเข้าใจดีว่าใคร ๆ ก็อยากได้ของที่ดีที่สุด กองทัพเรือก็เช่นกัน แต่ในกรณีนี้ก็พบว่าจีนก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เรือและอาวุธถ้าทำได้ตามคุณลักษณะที่เจรจาตกลงกันไว้ ก็ถือว่าไม่ด้อยกว่าเรือจากตะวันตกเท่าไหร่ ที่สำคัญระบบอาวุธที่ทางจีนเสนอมานั้นมาครบทั้ง 3 ชนิด อาวุธจะแม่นหรือไม่แม่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ประเทศที่เป็นภัยคุกคามเป็นฝ่ายตรงข้าม เวลาประเมินฝ่ายเรา เขาจะต้องประเมินกรณีที่เลวร้ายที่สุดเอาไว้ก่อน เช่น ระยะยิงอาวุธฝ่ายเรา เขาก็ต้องคิดว่ามันยิงได้ไกลสุดเท่านี้ แม้ว่าที่จริงอาจจะยิงได้ไม่ไกลเท่านั้นก็ตาม ดังนั้นมันก็จะทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจและนำไปสู่การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง”

เป็นที่น่าตกใจที่แหล่งข่าว Inside กองทัพเรือได้ยอมรับแบบกลายๆ เองว่าอาวุธจีนที่จะมีใช้นั้นมีประสิทธิภาพด้อยกว่าอาวุธจากเจ้าอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ของกองทัพเรือและเหล่าทัพอื่น แต่แหล่งข่าวระบุว่ากองทัพเรือใช้แนวคิดว่าขอให้มีเพื่อให้ฝ่ายตรงข้าม “หลงเชื่อ” ว่าเป็นอาวุธมีประสิทธิภาพสูง
หากมองแบบเผินๆ หรือกล่าวอีกอย่างคือมองแบบเข้าข้างตัวเองก็อาจฟังดูสมเหตุสมผล แต่หากคิดดูให้ดีฝ่ายตรงข้ามของเราน่าจะประเมินขีดความสามารถที่แท้จริงของเรือดำน้ำลำนี้ได้ไม่ยากนัก และถ้ามองในแง่ของการพัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติการของกำลังพลประจำเรือนั้น เราก็จะมีกำลังพลที่มี “ขีดความสามารถจอมปลอม” แต่หากมีความจำเป็นต้องปฏิบัติการจริงๆ แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?
มียุทโธปกรณ์รายการไหนอีกบ้างที่กองทัพมีประจำการอยู่ในปัจจุบันและใช้ตรรกะนี้ในการจัดหา?

S26T คือทางเลือกทางยุทธศาสตร์ (ของใคร?)

“รัฐบาลจีนต้องการได้ไทยเป็นพันธมิตรให้ได้ โดยเฉพาะการที่ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมานาน ถ้าได้ไทยมาเป็นพันธมิตรหลักก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับหลายประเทศในภูมิภาคว่าจีนพร้อมจะเป็นเพื่อน หรือหมายถึงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic partnership) และเรือดำน้ำก็ถือเป็นอาวุธเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกัน”

ตามที่แหล่งข่าวได้กล่าวในตอนต้นว่ารัฐบาลจีนต้องการใช้เรือดำน้ำเป็นการ “ซื้อใจ” ประเทศไทย ซึ่งดูเผินๆ ก็เหมือนกับการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือจีนได้พันธมิตร ส่วนไทยก็ได้เรือดำน้ำ

แต่หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าฝ่ายที่ได้ประโยชน์จริงๆ นั้นคือฝ่ายจีน ทั้งการที่ได้ไทยเป็นพันธมิตรในเชิงสมัครใจแล้ว การที่กองทัพเรือไทยใช้เรือดำน้ำจากจีนนั้นก็เป็นเหมือนเครื่องรับประกันว่าหากต้องการที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาในการขาดการสนับสนุนด้านอะไหล่ซึ่งเรือดำน้ำจีนจะต้องใช้อะไหล่จากจีนเท่านั้น (ต่างจากเรือดำน้ำแบบอื่นที่ใช้อะไหล่มาตรฐานสากล ที่กองทัพเรือจะสามารถมีตัวเลือกในการเปลี่ยนอะไหล่ตามความต้องการภายหลังได้เนื่องจากใช้มาตรฐานเดียวกัน) กองทัพเรือหรือประเทศไทยก็จะต้องไม่ทำให้จีน “ขัดใจ” จนไม่ส่งอะไหล่ให้จนเรือดำน้ำที่เป็น “อาวุธยุทธศาสตร์ราคาแพง” ไม่สามารถปฏิบัติการได้ 

สุดท้ายแล้วใครกันแน่ที่ได้กำไร?

ไม่มีความคิดเห็น: