PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กล้าฉีกสัญญา“คิงเพาเวอร์”มั้ย?



ที่นี่ไม่มีความลับ : กล้าฉีกสัญญา“คิงเพาเวอร์”มั้ย?

12 May 2017




ที่นี่ไม่มีความลับ 
โดย : เอราวัณ

กล้าฉีกสัญญา“คิงเพาเวอร์”มั้ย?

ทันทีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สรุปผลการศึกษากรณีโครงการของรัฐที่เสียเปรียบภาคเอกชน กรณีการทำสัญญาระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ (AOT) กับ กลุ่มคิงเพาเวอร์ (King Power) ได้ถูกสรุปถึงมือนายกรัฐมนตรีและถูกเปิดเผยว่าองค์กรของรัฐเสียประโยชน์และเป็นการทำสัญญาที่ส่อไปในทางผิดกฎหมายหลายประการ พร้อมข้อสรุปที่ส่งผลสะเทือนต่อทั้ง AOT และ King Power ในหลายประเด็น

ด้วยการเสนอให้ยกเลิกสัญญากับเอกชน และเสนอปลดผู้บริหารและกรรมการ AOT ที่ไปกระทำการส่อให้รัฐเสียหาย

ความจริงหลังการรัฐประหาร ปี 2549 ก็ได้มีการตั้งกรรมาธิการที่ชื่อว่า "คณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ" และมีการศึกษาเรื่องดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งผลการศึกษาก็ออกมาไม่แตกต่างกัน เพราะการเข้าทำสัญญา ร้านค้าปลอดอากรและสัญญาการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีลักษณะที่ส่อขัดเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน (TOR) ในหลายประเด็น เช่น จำนวนพื้นที่เช่าที่กำหนดในTOR ให้เข้าบริหาร20,000 ตารางเมตร แต่เมื่อทำสัญญาสัมปทานมีการใช้พื้นที่ถึงกว่า 25,000 ตารางเมตร

ทำให้พื้นที่ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้า มีการคิดค่าเช่าจากร้านค้าที่แพงมหาศาล (ไม่รวมค่าแป๊ะเจี๊ยะ) ทำให้ราคาสินค้าและอาหารในสนามบินสุวรรณภูมิแพงสุดเว่อร์อย่างที่ต้องประสบกัน

และการศึกษาทั้ง 2 ครั้งที่ผู้นำการศึกษาคือ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป และ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ยังพบเหมือนกันว่าเป็นสัญญาที่ส่อขัดต่อพ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือการดำเนินกิจการของรัฐ 2535 และส่อว่าขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการสมยอมราคา 2542 และกฎหมายอื่นๆ

แต่ผลการศึกษาครั้งแรกที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2550และถูกส่งต่อให้ป.ป.ช.ไปดำเนินการต่อกลับ “หายเข้ากลีบเมฆ”ด้วยข่าวการวิ่งเต้น “ทหาร” ที่กุมอำนาจในยุคนั้นจนกระทั่งเป็นที่มาของ "รัฐประหารเสียของ" เพราะยึดอำนาจรัฐบาลที่ทุจริตโกงกิน กลับเป็นการ "รับงาน รับเงิน" เอา “มือปิดแผ่นฟ้า" เสียเอง

เมื่อเกิดการยึดอำนาจอีกครั้งและมีการศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง แต่กลับพบความเสียหายที่มากขึ้น เพราะมีสัญญามัดมือภาครัฐเพิ่มขึ้นและการแก้ไขสัญญา 2 ครั้งเพื่อขยายอายุการหมดสัญญาออกไปอีก 4 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าได้รับความเสียหายจากการถูกปิดสนามบินในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นระยะเวลา 7 วัน

จึงท้าทาย “รัฐบาลทหาร” ชุดนี้ว่าจะเอาจริงเอาจังกับการจัดการสัญญาที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับภาครัฐอย่างจริงจังหรือไม่ หรือจะเป็นการปล่อยให้เป็น "รัฐประหารเสียของรอบ2” อีกไหมต้องจับตา

คอลัมน์ : ที่นี่ไม่มีความลับ/ หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3261 ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ค.2560

ไม่มีความคิดเห็น: