PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ทำใจให้เชื่อลำบาก!

ทำใจให้เชื่อลำบาก!

กลับมาออกหน้าสื่อถี่ยิบอีกรอบ
ตามจังหวะที่แรงเสียดทานหลายช็อตกระแทกใส่รัฐบาลพร้อมๆกัน
กลายเป็นไฟต์บังคับให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ต้องเลิกปิดปาก หันหน้าคืนไมค์ กลับเข้าสไตล์ธรรมชาติของตัวเอง ตอบคำถามสื่อเป็นชุดๆไม่หยุดหย่อน
หลังจากเจอสารพัดปมร้อนแฉลบเข้าเนื้อเล่นงานจนอยู่เฉยไม่ได้ ต้องไล่เคลียร์ให้เกิดความกระจ่าง ไม่ให้ถูกปั่นกระแส ขยายผลสร้างความเข้าใจผิดมากยิ่งขึ้น
อย่างที่เห็นๆกัน จากปรากฏการณ์วุ่นไม่เลิก อารมณ์เดือดของกลุ่มเอ็นจีโอไล่ล้มเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชนเรื่องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในหลายจังหวัด
ขัดขวางไม่ให้แก้กฎหมายโครงการบัตรทอง
หรือประเด็นการใช้มาตรา 44 เร่งเครื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา ก็ถูกท้วงติงจากฝั่งนักการเมือง นักวิชาการ กลุ่มวิศวกร และสถาปนิก ส่งเสียงคัดค้านในทำนองเอื้อประโยชน์ให้จีนมากเกินเหตุ
เรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” ทบทวนโครงการรถไฟไทย-จีนใหม่
แม้แต่อดีต รมว.คลัง ที่เคยร่วมทีมเรือแป๊ะอย่าง “สมหมาย ภาษี” ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดต้องใช้ช่องทางอำนาจพิเศษมาขับเคลื่อนโครงการแทนการใช้ช่องทางปกติ
ไล่เรียงไปถึงปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ อาทิ ยางพารา กดดันให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาอยู่ในเวลานี้
และสดๆร้อนๆ กับฉากดราม่าของ “อดีตนายกฯปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โชว์ซีนน้ำตานองหน้ารับวันเกิดกลางวัดสระเกศ ระบายความอัดอั้นตันใจที่ถูกกดดันจากการต่อสู้คดีโครงการรับจำนำข้าว
ออกอาการขาสั่น เมื่อใกล้ถึงวันชี้ชะตาตัดสินคดีจำนำข้าวในปลายปี 2560
แต่อีกทางก็เป็นเหลี่ยมบิ๊วต์อารมณ์แฟนคลับให้ฮึกเหิมตั้งแต่เนิ่นๆ ตามปฏิกิริยาของกลุ่มแม่ยกที่รีบยกพลไปให้กำลังใจ ตะโกนปลุกใจให้ “อดีตนายกฯปู” ถึงบ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3
ได้เช็กเรตติ้ง รู้ยอดกองหนุน ส่งสัญญาณเตือนว่า ยังมีไพร่พลอยู่ในหน้าตัก
แต่ละเรื่องถูกเขี่ยหัวเชื้อ รอการขยายผลให้พร้อมลุกโชนได้ทุกขณะ
ปมอันตรายยังอยู่รายล้อมรอบตัว “บิ๊กตู่” ที่ต้องเร่งเครื่องสร้างความเข้าใจ
ยังไม่รวมกับบรรยากาศร่างกฎหมายลูกสำคัญ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยังมีปัญหาไม่สะเด็ดน้ำ
เผยให้เห็นอาการไม่ลงรอยกันระหว่าง กกต. สนช. และ กรธ.
หันมาเป็นคู่ขัดแย้งให้ชุลมุนวุ่นวายกันไปหมด
ปมงัดข้อทั้งเรื่อง “เซ็ตซีโร่” และ “ไพรมารีโหวต” ยังฝุ่นตลบ ส่อเค้าได้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ทบทวนหาข้อยุติกันให้ลงตัว
ขั้นตอนคลอดกฎหมายลูก ถูกทอดเวลายืดเยื้อจนถึงที่สุด แนวโน้มยื้อเลือกตั้งเริ่มเด่นชัดขึ้น
มันก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายการเมืองต้องออกลูกตีโพยตีพาย กรณี
สนช.สอดไส้เพิ่มเติมกติกาในร่างกฎหมายลูกให้มีขั้นตอนสลับซับซ้อนมากกว่าร่างเดิมที่ กรธ.เสนอมา
ตีความขัดแย้งข้อกฎหมายลูกในทำนองแบ่งบทกันเล่น มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ หวังเลื่อนโปรแกรมกาบัตรเลือกตั้ง ต่อโปรโมชั่นคุมเกมอำนาจกันยาวๆ
พอดิบพอดีกับบริบทที่ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุกันตรงๆ การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐจะรักษาพื้นที่อำนาจต่อไปอีก 10 ปี
เป็นข้อเท็จจริงที่ขั้วอำนาจพิเศษแก้ตัวไม่ได้เต็มปาก ถ้าดูตามกติการัฐธรรมนูญปี 2560 นอกจากสร้างกลไกระบบเลือกตั้งใหม่ สกัดไม่ให้มีพรรคใดได้ครองเสียงข้างมากในสภาฯแบบเด็ดขาดแล้ว
ยังมีออปชั่นพิเศษในบทเฉพาะกาล เปิดช่องให้ ส.ว.สรรหา 250 คน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก
แปลความตรงๆคือ ส.ว.สรรหา 250 คน มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯคนนอกได้ 2 สมัย หรือ 8 ปีของรัฐบาลเลือกตั้ง
วางกลไกคุมเกมอำนาจต่อกันยาวๆ ไม่มีที่ว่างให้พรรคการเมืองในห้วงเวลาร่วม 10 ปีหลังจากนี้
ดูตัวเลขช่วงเวลาแล้วก็ไม่ต่างจากที่นายเสกสรรค์คาดการณ์ไว้
ในสถานการณ์ที่ท็อปบูตอ่านเกมขาดว่า โอกาสที่ฝ่ายการเมืองขั้วใหญ่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” จะจับมือร่วมกันสกัดท็อปบูตไม่ให้ผงาดกลับมาครองอำนาจย่อมเป็นไปได้ยาก
แม้ “บิ๊กตู่” และทีมงานจะออกมาโต้แย้งคลายแรงกดดัน ไม่เคยคิดผูกขาดอำนาจระยะยาว
แต่ดูจากรูปการณ์จะชี้แจงยังไง ก็ทำใจเชื่อลำบาก.
ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: