PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ผู้นำหวยล็อก ชิงพื้นที่อำนาจ

ผู้นำหวยล็อก ชิงพื้นที่อำนาจ

“ประยุทธ์” ปรับท่าทีสะท้อน “จูน” ห้องเครื่องลงตัว 

ปฏิทินย่างเข้าครึ่งปีหลัง สู่ห้วงไตรมาสสาม

ตามเงื่อนเวลาของเทอมรัฐบาล คสช.ที่หดสั้นลงเรื่อยๆ

ขณะที่สถานการณ์ความคืบหน้ากระบวนการโรดแม็ป มาหยุดอยู่กับการพิจารณากฎหมายลูกสำคัญ 2 ฉบับ นั่นคือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

กลายเป็นเรื่อง “เหยียบตาปลา” กันเองของทีมแม่น้ำ 5 สาย

ทั้งปม “ไพรมารีโหวต” ที่ “หนุมานเหาะเกินกรุงลงกา” สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขเพิ่มเติม ดัดแปลงร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จนทีมงานของ “ซือแป๋” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังรับไม่ได้

ยืนกรานเลยว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติแน่นอน

หรือประเด็น “เซ็ตซีโร่” คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้ยาแรงขนานหนักจนทีม 5 เสือ กกต.กระอัก และก็ไม่ยอมหลบทางถอยง่ายๆ

ต่างฝ่ายต่างยื้อยุดฉุดกระชากลากถู ยึด “หลักความถูกต้อง” ของฝั่งตัวเอง

ย้อนศร ย้อนคอหอย ล่อกันฝุ่นตลบ

ท่ามกลางเสียงโหวกเหวกโวยวายของนักการเมืองที่อ่านไต๋ ชิงดักทาง คสช. จะอาศัยกระบวนการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯฟันธงกฎหมายลูกที่เป็นปัญหา

หนีไม่พ้นต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ มองยังไงก็ไม่ทันโรดแม็ป

ถือเป็นการ “หน่วงเวลา” เลือกตั้งกันแบบนิ่มๆเนียนๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยเงื่อนไขเวลาที่กระชั้นเข้ามาถึงกำหนดเส้นตาย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่วนหนึ่งได้ร่อนใบลาออกตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

เพื่อเปลี่ยนชุดจาก “นักลากตั้ง” แต่งตัวรอลงสนามเลือกตั้ง

ตามจังหวะเร้า ปี่กลองเชิดฉิ่งโหมโรง ในอารมณ์ของพวกกระสันเลือกตั้ง อยากลงสนามเต็มแก่
แต่ในอาการของฝ่ายคุมเกมอย่าง คสช.ที่ถืออำนาจอยู่ในมือ ยังไม่ผลีผลาม ท่องบทเดิม ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการโรดแม็ปที่ประกาศไว้

ณ วันนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

และก็เป็นอะไรที่มาได้ตรงจังหวะสถานการณ์พอดีกับผลสำรวจของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่เปิดตัวเลขการแสดงความเห็นของประชาชนล่าสุด

ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาล คสช.

โดยเป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อ-ไทยจับมือกันตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งรอบหน้า

แต่ก็ไม่เชื่อว่า จะเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เป็นไปได้จริงๆ

ก่อนอื่นเลยด้วยความเป็นเหตุเป็นผลของโพลที่ออกมาถือว่า มีน้ำหนัก

ไม่ได้เป็นแค่ “โพลเชลียร์”

และด้วยเหตุและผลดังกล่าว นั่นก็พอจะอนุมานได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมยอมรับรูปแบบการเมืองที่อาจจะผิดเพี้ยนจากรูปแบบปกติทั่วไป

ขอแค่ให้ลงล็อกลงตัว เหมาะกับสถานการณ์เมืองไทย ณ ห้วงเวลานี้

แน่นอนด้วยตัวเลขโพลนิด้าที่ออกมา มันถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ส่งผลดีกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช.

เพราะนั่นเท่าการยอมรับในบทบาทของรัฐบาลทหาร

ยืนยันกระบวนการบริหารด้วยอำนาจพิเศษ ที่ผ่านมาได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง

ไม่ขัดข้องถ้าจะกลับมาเป็นรัฐบาล เบิ้ลรอบสอง

และจุดที่น่าสังเกตก็คือ ท่วงทำนองที่เปลี่ยนไปของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อถูกถามถึงเรื่องโพลประชาชนเชียร์ให้ตั้งพรรคการเมืองสนับสนุน คสช.

เจ้าตัวตอบแบบหล่อๆแค่ “สถานการณ์จะเป็นตัวชี้วัดเองว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต”

จับอาการเริ่ม “แทงกั๊ก” จากแรกๆที่จะปฏิเสธเสียงแข็ง ควันออกหูทันทีที่ถูกถามเรื่องการสืบทอดอำนาจ ยืนยันแค่เข้ามากู้วิกฤติของบ้านเมืองเท่านั้น

ไม่เคยมีความคิดเล่นการเมืองแต่อย่างใด

โดยลีลาที่แปลกไปของผู้นำ คสช. สะท้อนแนวโน้ม “เงื่อนไขเปลี่ยนไปแล้ว”

ถึงตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่พูดมัดคอตัวเอง เลี่ยงเดินตามรอย “ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ” เหมือนนายทหารรุ่นพี่อย่าง “บิ๊กสุ” พล.อ.สุจินดา ครา-ประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ในยุครัฐบาล รสช.

เหมือนเปิดช่อง “เคลียร์ทาง” รอไว้

ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่นำทีมงานรัฐบาลเดินสายพบปะพูดคุย สร้างความเข้าใจที่ดีกับผู้บริหารสื่อหลายสำนัก

ปรับฟอร์มจากคนที่ไม่ชอบสุงสิง ไม่เคยเข้าหาสื่อเลย

โดยรูปการณ์มันต้องมีเป้าหมายกับการยอมเปลี่ยนท่าทีแบบ 180 องศา

“นายกฯลุงตู่” เริ่มเดินล้อตามจังหวะสถานการณ์

ยิ่งเป็นอะไรที่ประเมินตามเงื่อนไขในเชิงยุทธศาสตร์ ไล่กันตั้งแต่ภารกิจตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การเดินหน้าวาระแห่งชาติ “ไทยแลนด์ 4.0” ในการขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ

การอัดฉีดสารพัดโครงการ มาตรการช่วยเหลือประชาชนภายใต้ยี่ห้อ “ประชารัฐ”

ตามรูปการณ์แบบที่นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการ อดีตคนเดือนตุลาฯ วิเคราะห์สิ่งที่รัฐบาล คสช.ดำเนินการว่า เป็นมาสเตอร์แพลนในการชิงมวลชน

เป็นกลไกสถาปนาอำนาจของชนชั้นนำ

ประกอบกับความพยายามปรับโหมดการทำงานแบบเข้าถึงชาวบ้าน รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์มีแนวคิดฟื้นกิจกรรมการเดินสายจัดประชุม “ครม.สัญจร” ไปตามต่างจังหวัด

ก็ยิ่งชัดเจน เป็นยุทธศาสตร์การตีฐานเสียงของนักการเมือง

ตามท้องเรื่องที่มีการมองไปถึงความเป็นไปได้ในการวางหมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมพร้อมลงสนามเลือกตั้งเอง เพื่อความสง่างามและความชอบธรรม

กับสถานะของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งหมดทั้งปวง ว่ากันตามปรากฏการณ์ โพลสะท้อนประชาชนส่วนใหญ่หนุนให้มีพรรคการเมืองสนับสนุนการทำงานของ คสช. ล้อกับบทวิเคราะห์เรื่องการชิงพื้นที่ของชนชั้นนำกับนักการเมือง

สอดคล้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ก็เริ่มปรับท่าที ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธการลงสนามการเมือง และการปรับโหมดเข้าหาชาวบ้านของรัฐบาล มีการมองไปถึงการปูทางลงสนามเลือกตั้ง

ประกอบกับเงื่อนไขความจำเป็นในการนำพาประเทศไทยก้าวพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูป

ทุกอย่าง “จูนเครื่อง” กันลงล็อกลงตัว

ถึงตรงนี้ก็ไม่แปลกถ้าจะฟันธง “นายกฯลุงตู่” คือ “ผู้นำหวยล็อก”

ชิงพื้นที่อำนาจของชนชั้นนำคืนจากนักการเมือง

เป็นการเดินแต้มของทหาร ไม่ให้ปฏิวัติ “เสียของ” ซ้ำซาก

แต่กระนั้นก็ตาม ก็ต้องขึ้นอยู่กับการประคองศรัทธาของประชาชนให้ได้ตลอดด้วย

โดยเฉพาะปมอันตรายของรัฐบาล คสช.ที่ต้องปิด “จุดตาย” เรื่องของ เพื่อนพ้อง น้องพี่ ไม่ให้ไปแสวงหาผลประโยชน์จนโดนจับได้

ไล่ทัน ประชาชนโห่ไล่ก็พังเหมือนกัน

ถึงแม้จะหลีกไม่ได้กับไฟต์บังคับ ต้องสงวน “จุดอ่อน” เพื่อรักษา “จุดแข็ง”

“น้องเล็ก” ขาด “พี่ใหญ่” ไม่ได้ เพราะรัฐบาลยวบแน่

แต่เมื่อเปลี่ยนตัวบุคคลไม่ได้ ก็คงต้องมีการขอร้องให้เปลี่ยนท่าที ปรับพฤติกรรมกันบ้าง

เพราะโอกาสบังเอิญเข้าล็อกแบบนี้ มันไม่ได้มาง่ายๆ.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: