
เจอแหย่ถามถี่ๆเข้า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ก็ออกตัวแค่ว่า ตอนนี้ยังไม่มีความคิด แต่อนาคตจะเข้าสู่สนามการเมืองหรือไม่ ยังตอบไม่ได้
มาฟอร์มเดียวกันกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ที่ออกตัวแค่ว่า “สถานการณ์จะเป็นตัวชี้วัดเองว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต”
“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” แทงกั๊ก ไม่รีบมัดคอตัวเองให้ลำบากภายหลัง
เพราะตัวอย่างของการตระบัดสัตย์เพื่อชาติมันมีให้เห็นมาแล้วว่า จุดจบเป็นยังไง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ล่าสุดเหมือนจะมีการเฉลยคำตอบกันเป็นนัย เมื่อมีการยึดโยงกับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ชัด หาก คสช.และทีมงานแม่น้ำ 5 สายจะลงสนามการเมือง ต้องลาออกจากตำแหน่งภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
นั่นหมายถึง “จบข่าว” ไปเลย
ตามเงื่อนไขสถานการณ์เป็นไปไม่ได้ที่ “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” จะไขก๊อกจากเก้าอี้ เพื่อแต่งตัวรอลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นนักการเมืองเต็มตัว
ชัวร์เลยว่า ไม่มีใครบ้องตื้นเล่นแผลงๆแน่
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะลงเลือกตั้งเองหรือขึ้นเสลี่ยงคานหามเป็นนายกฯ
กระแสมาถึงตรงนี้ แปะข้างฝาได้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คือนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 5 ปี ตามเงื่อนไขที่ล็อกไว้ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ
สังคมไทยคุ้นเคยกับคำตอบสุดท้ายแล้ว
แนวโน้มตามสถานการณ์ก็เหลือแค่การขยับ “ชิงพื้นที่อำนาจ” ทีมงานของ “นายกฯลุงตู่” ต้องเดินหน้ายกระดับเพิ่มความชอบธรรมในการต่อตั๋วคุมเกมอำนาจต่อ
โดยเฉพาะการตุนคะแนนนิยมรัฐบาล คสช.
ตามท้องเรื่องอย่างที่กัปตันทีมอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ วางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ สอดแทรกการ “มัดจำ” แต้มทางการเมือง
อัดฉีดสารพัดมาตรการช่วยเหลือคนจนฐานรากของประเทศ ผ่านโครงการยี่ห้อ “ประชารัฐ”
ล่าสุดก็เป็นอีกช็อตสำคัญ ตามการประกาศของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จ่อเสนอที่ประชุม ครม.สัปดาห์นี้ เพื่ออนุมัติงบประมาณกลาง วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท
ตามแผนกระจายเงินให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยลงสู่ชุมชนทั่วประเทศ ชุมชนละ 2.5 ล้านบาท ในรูปของค่าแรงในการจ้างงานผ่าน เกษตรกรยากจนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ ประมาณรายละ 2,500 บาท หรือตามการทำงานจริงตามค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท
ยุทธศาสตร์ 2 เด้ง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากพร้อมกับบรรเทาปัญหาปากท้องชาวบ้าน
“นายกฯลุงตู่” กับ “สมคิด” ลุย “ประชารัฐ” ให้ลืม “ประชานิยม”
แต่ปมมันอยู่ตรง “จุดบอด” รัฐบาล คสช.อ่อนด้อยในการสื่อสารกับสังคม
ตัวอย่างสดๆร้อนๆกับ “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ทั้งที่เป็นเงินลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมด แต่บังเอิญเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องสรรหาเอกชนโดยการประมูลตรงนี้รัฐบาล
คสช.จึงต้องพิจารณาเห็นชอบให้งดเว้นไม่ต้องประมูล
และงบประมาณจริงๆแค่ 4–5 พันล้าน แต่บวกไปบวกมาโฆษกรัฐบาลแถลงตัวเลขกลมๆ 7 พันกว่าล้านบาท กระแสเลยกลายเป็นรัฐบาลทุ่มงบ 7 พันล้านสร้างหอชมเมืองโดยไม่ต้องประมูล
เข้าเหลี่ยมตีปี๊บประจาน รัฐบาลโดนถล่ม “งุบงิบงาบ” ตามฟอร์ม
จากหอชมเมืองต่อเนื่องมาถึง “พ.ร.ก.ต่างด้าว” ที่กระตุกต่อมผวา แรงงานพม่า กัมพูชา ลาว อพยพกลับประเทศกันจ้าละหวั่น วันละหลายหมื่นคน
ส่งผลให้ภาคธุรกิจสะดุดหัวทิ่มกันเป็นแถว เพราะขาดแรงงาน
บางแห่งต้องเลิกกิจการทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ออกไป โดยเฉพาะ 3 มาตราสำคัญที่เกี่ยวกับการเอาผิดนายจ้าง ลูกจ้าง ออกไปอีก 120 วัน
เรื่องของเรื่อง มันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องแสดงความจริงจัง เพื่อเคลียร์ปมค้ามนุษย์ รวมถึงป้องกันปัญหาด้านความมั่นคงและโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะยาว
เพียงแต่ขาดการสื่อสาร สไตล์รวบรัดแบบทหาร ทำให้เกิดความเสียหาย
“แต้มบวก” เลยกลายเป็น “แต้มลบ” ซะงั้น.
ทีมข่าวการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น