PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

จุดแข็งตรงความตั้งใจ

จุดแข็งตรงความตั้งใจ

แทนที่จะได้ดอกไม้กลายเป็นเสียงโห่ฮา

กับปรากฏการณ์การทดลองรถเมล์สายใหม่ในกรุงเทพฯ แค่ทาสีด้านหน้ารถเก่า เปลี่ยนไปใช้อักษรภาษาอังกฤษพร้อมตัวเลข เป็นสัญลักษณ์บอกสาย เส้นทางการวิ่ง

เห็นภาพแล้วตลกมากกว่า แต่ขำไม่ออก

นั่นไม่เท่ากับสภาพปั่นป่วนวุ่นวาย ทำให้ผู้โดยสารหลงทางขึ้นรถถูกๆผิดๆ ออกอาการหงุดหงิดกับการยกเครื่องบริการใหม่ของ ขสมก. บลัฟอำกันแหลกในโซเชียลมีเดีย

เสียอารมณ์กับการยกเครื่องรถเมล์ไทยที่หวังไว้สูง ถ้าปฏิรูปแล้วได้แค่นี้ อย่าทำดีกว่า

เรื่องร้อนถึงผู้นำ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกหน้ามาเคลียร์ ยืนยันเป็นความหวังดีในการทำสีสันต่างๆหากไม่เห็นด้วยก็บอกมา

ออกอาการเหมือนสะดุ้งกับเสียงโห่ฮา

แต่เรื่องของเรื่อง เบื้องต้นมันก็ไม่ต่างจากโครงการทั่วไป ธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ต้องมีการติดๆขัดๆ ในการปรับเปลี่ยนความเคยชินกับของเก่ามาหลายสิบปี

สังคมไทยแท้ มีอะไรก็หนีไม่พ้นเสียงด่าไว้ก่อน

ซึ่งนั่นก็แค่กระแสเฉพาะหน้า เพราะถ้าว่ากันในทางยาวๆกับโครงการยกเครื่องบริการรถเมล์ ขสมก.มันถือเป็นการสะท้อนความตั้งใจดีของรัฐบาล คสช.ในการยกระดับบริการสาธารณะของผู้มีรายได้น้อย มุ่งไปที่ผลประโยชน์ของประชาชนระดับฐานรากของสังคมไทย

อีกพักใหญ่ พอชาวบ้านเข้าใจ แนวโน้มจากเสียงด่าจะแปรเป็นเสียงชื่นชม

ในเมื่อผลประโยชน์มันตกกับประชาชนเต็มๆ

สถานการณ์เดียวกับการเดินหน้าเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างเมืองสำคัญ ยกระดับการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทั่วประเทศ

เป้าหมายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของคนต่างจังหวัดให้เจริญทัดเทียมไปพร้อมๆกับคนในเมืองใหญ่

สุดท้ายมันก็คือภาพรวมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทั้งประเทศ

นี่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเนื้องานโบแดงของรัฐบาล คสช.

หรืออีกตัวอย่างชัดๆกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้รวมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของภาครัฐทั้งหมดที่กระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆมาไว้อยู่ด้วยกัน

ก่อกำเนิดเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รวมถึงให้บูรณาการการทำงานไปในแนวทางเดียว

ในการรองรับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง ที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทย ทำให้ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะที่รัฐต้องสูญงบประมาณมหาศาลในการฟื้นฟู

เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำให้ประเทศไทยยังไม่หลุดพ้นกับดักความยากจน

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเนื้องานที่สัมผัสจับต้องได้ของรัฐบาลทหาร คสช.กับความพยายามในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ไม่นับผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมอื่นๆที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในยุครัฐบาลอำนาจพิเศษ ทั้งการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งเกินราคา การจัดระเบียบหาบเร่ แผงลอย ควบคุมวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง วินรถตู้ ไม่ให้มีพฤติกรรมมาเฟียเอาเปรียบผู้ใช้บริการ

เข้มการบังคับใช้กฎหมาย กู้สถานการณ์จากรัฐที่เกือบล่มสลาย กลายเป็นรัฐที่เข้มแข็ง

นี่คือเนื้องานของการปฏิรูปที่สัมผัสจับต้องได้

และมันก็คือปัจจัยที่ทำให้ทหาร คสช.ยังได้รับความไว้ใจจากประชาชนมากกว่านักการเมือง

ถึงแม้จะจับทางได้ เริ่มไม่ตื่นเต้น กับรายชื่อของคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้านตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ที่เพิ่งประกาศออกมา ท่ามกลางเสียงเงียบฉี่

เพราะมันก็แค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ วนอยู่คนหน้าซ้ำๆเดิมๆ

หนีไม่พ้นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตทีมงานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ขาเก่าเจ้าประจำในทีมแม่น้ำ 5 สายที่กระโดดโหนเรือแป๊ะมาตั้งแต่ต้น

บ่งชี้บทสรุป ปฏิรูปยังไงก็ไม่หลุดกรอบพิมพ์เขียวทหาร.


ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: