PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เอพีแกะรอย “บอส” ทายาทกระทิงแดง ตีแผ่เครือข่ายธุรกิจออฟชอร์ปกปิดของ “ตระกูลอยู่วิทยา”

เอพีแกะรอย “บอส” ทายาทกระทิงแดง ตีแผ่เครือข่ายธุรกิจออฟชอร์ปกปิดของ “ตระกูลอยู่วิทยา”
วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทของตระกูล “อยู่วิทยา” เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม “กระทิงแดง” ขณะเดินทางออกจากบ้านพักในลอนดอน เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
        เอพี - สื่อนอกอย่างสำนักข่าวเอพี อ้างอิง “เอกสารปานามา” ขุดคุ้ยธุรกิจออฟชอร์ที่เป็นช่องทางให้ตระกูล “อยู่วิทยา” เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม “กระทิงแดง” ปกปิดการซื้อเครื่องบินส่วนตัวและอสังหาริมทรัพย์สุดหรู ซึ่งรวมถึงบ้านในลอนดอน อันเป็นสถานที่ซึ่งมีคนเห็น “บอส” หลานชายของผู้ก่อตั้งกิจการนี้ ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายระหว่างหนีคดีขับรถชนตำรวจตายคาเครื่องแบบ
       
       เอพีบอกว่า จากความพยายามในการปกปิดทรัพย์สินของตระกูลอยู่วิทยา นี้ เป็นสิ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า พวกผู้เล่นทางการเงินระดับโลกนั้น สามารถเคลื่อนย้ายเงินเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์อยู่เนืองๆ อย่างง่ายดายและถูกต้องตามกฎหมายโดยที่มีการกำกับดูแลจากทางการมีน้อยมากหรือกระทั่งไม่มีเลย
       
       การทำธุรกรรมออฟชอร์อย่างลับๆ ของครอบครัวนี้ถูกตีแผ่ขึ้นมาโดยบังเอิญ จากกรณีที่ วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทของตระกูล ขับเฟอร์รารีชนตำรวจตายเมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว แต่ไม่ยอมไปแสดงตัวตามหมายเรียก และเป็นที่ครหามานานว่า เจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจปล่อยให้คนผิดลอยนวล
       
       เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ เอพีตามแกะรอยจากโพสต์กว่า 120 โพสต์บนอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กของเพื่อนและครอบครัว จนไปพบบ้านพักของตระกูลอยู่วิทยาในลอนดอน รวมทั้งพบวรยุทธ ที่บริเวณหน้าบ้านหลังนี้ด้วย ทว่า เจ้าตัวไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆ
       
       ขณะที่ทางการไทยบอกว่า ไม่รู้ว่า ผู้ต้องหารายนี้หลบหนีไปอยู่ที่ไหน และทำได้เพียงเพิกถอนหนังสือเดินทางและออกหมายจับ
       
       รายงานของเอพีบอกว่าการสอบสวนหาที่กบดานของบอส ได้นำไปสู่การศึกษาสืบค้น “เอกสารปานามา” หรือเอกสารทางการเงินลับที่มีผู้นำออกมาเปิดโปงจำนวนรวมประมาณ 11 ล้านชิ้น เอกสารเหล่านี้เป็นของ มอสแซค ฟอนเซกา บริษัทกฎหมายในปานามาซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก และก็เป็นตัวแทนของมหาเศรษฐีและผู้มีอำนาจต่างๆ ทั่วโลกในการดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อปกปิดทรัพย์สินเงินทอง
       
       ซูดดอยช์ เซตุง หนังสือพิมพ์เยอรมนีคือผู้ที่ได้รับเอกสารปานามาเป็นรายแรก และนำไปศึกษาวิจัยร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ โดยเริ่มเผยแพร่รายงานกับองค์กรสื่อต่างๆ เมื่อปีที่แล้ว และทำให้ผู้มั่งคั่งและผู้มีอำนาจมากมายในกว่า 70 ประเทศถูกตรวจสอบและหลายคนถูกปลดออกจากตำแหน่ง รัฐบาลในหลายประเทศก็ลุกขึ้นมาจัดการกับแหล่งหลบเลี่ยงภาษีนอกประเทศ
       
       เอพีรายงานว่า สำหรับเครือข่ายบริษัทออฟชอร์ของตระกูลอยู่วิทยา ซึ่งดำเนินการจัดตั้งโดยมอสแซค ฟอนเซกา นั้น มีความซับซ้อนอย่างมากและไม่มีชื่ออยู่วิทยาหรือแบรนด์กระทิงแดงเกี่ยวข้องด้วยเลย กระนั้นจากเอกสารปานาที่เอพีได้รับมา ก็แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวนี้มีการใช้บริษัทนิรนามซึ่งจัดตั้งขึ้นในดินแดนที่ไม่มีการเก็บภาษีโดยตรง มาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว
       
       ตระกูลอยู่วิทยา ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการกระดิงแดงในระดับระหว่างประเทศ ร่วมกับ ดีทริช เมเทสซิตซ์ นักธุรกิจออสเตรีย ปฏิเสธแสดงความคิดเห็น ขณะที่กระทิงแดงออกคำแถลงว่า สถานะทางกฎหมายของ “บอส” ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท และข้อมูลการเงินของบริษัทเป็นข้อมูลส่วนตัว 
เอพีแกะรอย “บอส” ทายาทกระทิงแดง ตีแผ่เครือข่ายธุรกิจออฟชอร์ปกปิดของ “ตระกูลอยู่วิทยา”
        รายงานของเอพีกล่าวว่า บ้านก่ออิฐ 5 ชั้นที่ลอนดอนซึ่งไปพบวรยุทธอยู่ที่หน้าบ้านเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น เป็นบ้านซึ่ง เฉลิม อยู่วิทยา พ่อของบอส ระบุเป็นที่อยู่ในเอกสารขณะดำเนินการก่อตั้งไทย สยาม ไวเนอรีในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2002 และดารณี แม่ของบอส ใช้เป็นที่พักเมื่อเดินทางไปเปิดธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเมื่อ 11 ปีที่แล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านหลังงามดังกล่าว รวมถึงอสังหาริมทรัพย์มูลค่านับล้านดอลลาร์อีกอย่างน้อย 4 แห่งในลอนดอน ไม่ใช่คนในตระกูลนี้ แต่ตามเอกสารปานามาระบุว่า เป็นคาร์นฟอร์ต อินเวสเมนต์ ที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน และมีเจอร์ราร์ด คอมปานี เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ขณะที่ผู้ถือหุ้น 1 ใน 3 ของเจอร์ราร์ดเป็นบริษัทออฟชอร์ที่มีเจเค ฟลาย ถือหุ้นอยู่ 25% และเจ้าของเจเค ฟลายก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคาร์นฟอร์ต
       
       นอกจากนี้ เจอร์ราร์ด ซึ่งตั้งอยู่บนหมู่เกาะบริติช เวอร์จินเช่นเดียวกัน ยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธุรกิจกระทิงแดงในสหราชอาณาจักร
       
       บริษัทออฟชอร์แห่งต่างๆ ของตระกูลอยู่วิทยา มีความเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อนโดยมีนายหน้า เลขานุการ กรรมการ และผู้บริหาร ที่ได้รับค่าจ้างเล็กๆ น้อยๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อลงชื่อในแบบฟอร์มและเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการแทนเจ้าของตัวจริงที่ชื่อเสียงเรียงนามยังคงถูกปิดเป็นความลับ
       
       เอกสารปานามาระบุว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเงินมากมายไหลเวียนผ่านนิติบุคคลเหล่านี้จำนวนมาก เช่น ปี 2005 เจอร์ราร์ดปล่อยกู้ 6.5 ล้านดอลลาร์เพื่อให้คาร์นฟอร์ตนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์สองแห่งในลอนดอน ต่อมาในปี 2012 เจอร์ราร์ดยกเลิกสัญญาจำนองดังกล่าวและยกอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นให้เป็นของคาร์นฟอร์ต นอกจากนี้นับจากปี 2010 เจเค ฟลายได้รับเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยประมาณ 14 ล้านดอลลาร์จากคาร์นฟอร์ต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท เพื่อนำไปซื้อเครื่องบิน
       
       ศาสตราจารย์เจสัน ชาร์แมน จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย ที่ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการทุจริตทางการเงิน บอกว่า การโอนเงินโดยไม่ระบุชื่อผู้ทำธุรกรรมแม้เป็นเหตุการณ์ปกติทั้งในแบบแผนที่ผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญก็คือ ตัวแทนที่เดินเรื่องเคลื่อนย้ายเงินย่อมรู้ว่า เจ้าของที่แท้จริงเป็นใคร
       
       แต่นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอไป ตัวอย่างเช่น ในปี 2010 และ 2013 ผู้สอบบัญชีของสำนักงานใหญ่มอสแซค ฟอนเซกา ตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารยืนยันเจ้าของที่แท้จริงของคาร์นฟอร์ตและเจอร์ราร์ดสูญหาย และเตือนว่า หากถูกตรวจพบ บริษัทอาจถูกปรับทั้งในทางปกครองและตามกฎหมายเป็นเงินมหาศาล
       
       อย่างไรก็ดี เอพีระบุว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ทั้งสองบริษัทเคยมอบเอกสารดังกล่าวฉบับสมบูรณ์ให้มอสแซค ฟอนเซกาหรือไม่
       
       อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อสำนักงานในปานามาของมอสแซค ฟอนเซกา ขอให้ตัวแทนของตนในไทยจัดทำการสอบทานธุรกิจของมหาเศรษฐีพันล้านชื่อดังของเมืองไทยคนหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธแข็งขัน
       
       ทั้งนี้ เมื่อถูกขอให้แสดงสำเนาหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรอง ชื่อเจ้าของ และจดหมายอ้างอิง สตีฟ วากเนอร์ เจ้าหน้าที่ของมอสแซค ฟอนเซกาในสำนักงานในกรุงเทพฯ กลับยืนกรานว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และสำทับว่า พวกคนมีอันจะกินในเมืองไทยล้วนรู้จักหรือมีเส้นสายกับนักการเมือง
       
       สุมาพร มานะสันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกระทรวงการคลัง ระบุว่า ไทยไม่มีกรอบโครงมาตรฐานที่เป็นสากลในการต่อสู้กับการฟอกเงินและการระดมทุนของผู้ก่อการร้าย ขณะที่การเลี่ยงภาษี ด้วยการฝากเงินในบัญชีนอกประเทศที่ไม่ต้องระบุชื่อ เป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายและพบได้ทั่วไป
       
       สุมาพรทิ้งท้ายว่า ไทยสูญเสียรายได้ภาษีอากรที่จำเป็นจำนวนมากที่สามารถนำไปก่อสร้างสะพาน ถนนหนทาง และโรงเรียน เนื่องจากสิ่งที่ถูกเรียกขานกันว่า “การวางแผนทางภาษี” ทำนองนี้

ไม่มีความคิดเห็น: