
ถึงที่สุด คนการเมืองก็คงยอมรับสภาพกับกฎเหล็กที่ “อำนาจพิเศษ” ยังติดล็อกไว้
และคงไม่ใช่แค่ที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ระบุถึง คิวปลดล็อกให้ค่ายการเมืองทำกิจกรรมหลังจากร่าง พ.ร.บ. พรรคการเมืองผ่าน สนช.รอการบังคับใช้
“ไว้ผมสบายใจแล้วผมจะปลดล็อกแล้วกัน”
ที่มากกว่านั้น นอกจากเรื่องของ “อำนาจพิเศษ” จะตัดสินใจ อยู่ที่ปัจจัยประกอบการพิจารณา
โดยเฉพาะสถานการณ์บ้านเมือง และคดีสำคัญ
ในช่วงที่ “คดีใหญ่” ยังไม่ถึงบทสรุป โดยเฉพาะคดีจำนำข้าวของ “อดีตนายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในโฟกัส จับตา “คลื่นใต้น้ำ” โดยฝ่ายความมั่นคง
รวมทั้งที่มารองรับเหตุผลพอดี ล่าสุดมีการเผยแพร่หนังสือจาก สตง. 2 ฉบับ ที่แจ้งถึง รมว.มหาดไทย เพื่อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ แจ้งให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทราบ และกำกับดูแลการใช้จ่ายงบฯ อปท.ตามประกาศ คสช.อย่างเคร่งครัด
เนื่องจากได้รับทราบข้อมูล มี อปท.จำนวนหนึ่ง จัดโครงการศึกษาดูงาน สัมมนา หรือกิจกรรมอื่นๆ เป็นการนำประชาชนในพื้นที่เดินทางเข้ามาใน กทม.และปริมณฑล โดยมีเจตนาแอบแฝงเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
ชี้เป้า บล็อกคิวระดม “ม็อบเชียร์ปู”
เท่านี้ก็เห็นสัญญาณคุมเข้ม ยังไงก็ “กฎเหล็ก” ยังไม่คลายแน่
แต่เอาเข้าจริงป้อมค่ายการเมืองก็ดูเหมือนไฟต์บังคับต้องดิ้นสู้ เพราะอ่านล่วงหน้าแล้ว โปรแกรมเลือกตั้งที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ประกาศไว้ คงยากจะพลิ้ว
ในห้วงที่คนการเมืองถูกล็อกแขนขา แต่เครือข่ายท็อปบูตอาศัยกติกาเอื้อ ได้ขยับ ฝ่ายเดียว
ไล่ตั้งแต่การจัดโควตา “ไปต่อ” สำหรับแม่น้ำ 5 สาย ทั้ง 250 ส.ว.ลากตั้งที่ถูกค่อนขอดเป็นค่ายลายพราง
กำลังหลักในเกม “ผู้นำคนนอก”
นอกจากโควตาในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ-ทีมปฏิรูปประเทศ ที่ สปท.กำลังวิ่งวุ่น จองเก้าอี้กันฝุ่นตลบ
ที่สำคัญมีสัญญาณก่อนเปิดสนามใหญ่ จะมีคิวนำร่อง “เลือกตั้งท้องถิ่น”
อ่านเกม ทั้งจากคิวพื้นๆในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศ หรือการล็อกเสียงจัดมอบรางวัล กำนัน–ผู้ใหญ่บ้าน ไปจนกระทั่งที่พ่วงไปกับคิวคุมเกมก่อนถึงวันตัดสินคดีใหญ่
ทั้งคำสั่งเกาะติดพื้นที่ ทำความเข้าใจแกนนำมวลชนของ กกล.รส. และ กอ.รมน.จังหวัด
ล่าสุดที่มาเข้าจังหวะเหมาะเหม็ง คำสั่งให้ อปท.ดูแลการใช้งบฯ
ยังไม่รวมกับคิวพิเศษก่อนหน้านี้ในการใช้คำสั่งมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่และโยกย้าย 70
ข้าราชการในแต่ละพื้นที่ที่ทีมปราบโกง ศอ.ตช. ชงรายชื่อตรวจสอบ ไล่เช็กบิลลงลึกตั้งแต่ อบต.ไปยัน อบจ.
เสียงฮึ่มๆ ดังไปถึงท้องถิ่น
แล้วก็ไม่แปลกที่เริ่มมีเสียงโวยคนขั้วการเมืองในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งพื้นที่ กทม. เรียกร้องให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลาง อ้างมีบางส่วนเปิดช่องเอื้อประโยชน์
ไฟเขียวกิจกรรมบางพรรคบางขั้วเข้ามาแฝง
ทั้งหมด ผูกโยงไปกับกฎกติกาใหม่ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งขั้นต้น หา
ตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.แต่ละพรรคในพื้นที่ หรือไพรมารีโหวต
เข้าทางสูตร “ล้างการเมืองพันธุ์เก่า” ปั้นการเมืองพันธุ์ใหม่ที่กดปุ่มได้
ประเมินแล้ว เลือกตั้งท้องถิ่นรวมทั้งไพรมารีโหวต น่าจะ เป็นคิวเซตกลไก เช็กระบบอำนาจพิเศษ
คนการเมืองถึงดิ้นแต่เนิ่นๆ สู้ทุกทางไม่ให้สูญพันธุ์.
ทีมข่าวการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น