PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

ผ่าพฤติกรรมอำนาจพิเศษ “ปี 4” ท้าทายตรวจสอบ : เวลาพิสูจน์ คสช. เสี่ยงเสียของ

ผ่าพฤติกรรมอำนาจพิเศษ “ปี 4” ท้าทายตรวจสอบ : เวลาพิสูจน์ คสช. เสี่ยงเสียของ

ห้วงดาวพฤหัสโยกย้ายจากราศีกันย์เข้าสู่ราศีตุล

โหรทำนายทายทักดวงเมืองรุ่งโรจน์ ส่งนัยที่ดี ในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ

แต่ในสถานการณ์ที่ติดพันมาจากเงื่อนไขเก่า ว่าตามผลสำรวจล่าสุดของสถาบันพระปกเกล้าได้เปิดเผยแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชน ปี 2560 ในโอกาสครบรอบ 19 ปีสถาบัน

โดยสำรวจเกี่ยวกับผู้นำรัฐบาล ส่วนราชการ ศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาของสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยสุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ อายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 33,420 คน เก็บข้อมูลวันที่ 24 เมษายน ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2560

ประทับตราโพลมาตรฐานของหน่วยงานรัฐบาล

ไฮไลต์อยู่ตรงที่ผลสำรวจพบว่า ความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2545–2560 นายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาคืออดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมถึง 92.9 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในลำดับถัดมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับความนิยมร้อยละ 87.5 ในปี 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งปีหลังรัฐประหาร

นำมาซึ่งพาดหัวข่าว คนยังปลื้ม “ทักษิณ” มาเป็นที่หนึ่ง

นั่นก็เลยนำมาซึ่งอาการหงุดหงิดของผู้นำอย่าง “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ที่หัวร้อนกับคำถามสื่อมวลชนว่าด้วยผลของพระปกเกล้าโพล

สะท้อนว่าประเทศไทยยังก้าวไม่พ้นคนชื่อ “ทักษิณ”

“สื่อหลายคนยังก้าวไม่พ้น เสนอกันทุกวัน ก้าวไม่พ้นสักที ผมลืมไปแล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องของกฎหมายว่ากัน การก้าวพ้นต้องสร้างการรับรู้ ถ้ามัวคิดถึงแต่ตรงนั้น ประเทศไม่ต้องเดินไปไหนแล้ว”

และยังออกแนวน้อยใจที่นักข่าวไม่ถามถึงเรื่องที่เดินทางไปร่วมประชุม BRICS ที่ประเทศจีนว่าเหนื่อยหรือไม่ ไปแล้วจะกลับมาหรือเปล่า ไปเที่ยวไหนมาหรือเปล่า

เอาเป็นว่า “นายกฯลุงตู่” ฉุนโพล พาลดะไปหมด

แต่นั่นก็เป็นอะไรที่เหมือนจะคุ้นชินกันแล้ว ตามสไตล์ของผู้นำรัฐบาลทหาร คสช.ที่ปั้นหน้ายักษ์ แสดงอาการหงุดหงิดกับสื่อมวลชนเป็นประจำ

ทำเหมือนนักข่าวเป็นกระโถนท้องพระโรง เป็นที่ระบายเวลาผู้นำมีปัญหาค้างคาใจ ไปลงกับตัวต้นเหตุตรงๆไม่ได้ก็มาระบายกับสื่อ

ปลดปล่อยอารมณ์เครียดๆให้พ้นไปวันๆ

ยิ่งเป็นอะไรที่สถานการณ์มาถึงจุดนี้ กลายเป็น “คนกันเอง” ที่ก่อแรงเสียดทาน สารพัดรายการที่เกิด ปัญหาเหยียบตาปลา ปมขบเหลี่ยมกันในขุมข่ายที่แฝงอยู่กับอำนาจ คสช.

สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน เป็น “3 ก๊ก” ภาค “เรือแป๊ะ”

ไล่กันตั้งแต่ประเด็นติดพันจากการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี “ล่องหน” ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีจำนำข้าว

กระตุกรอยร้าวในขุมอำนาจฝ่ายต้าน “ทักษิณ”

ตามรูปการณ์แบบที่พรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรฯตีปี๊บประจานเกมฮั้ว วิจารณ์ฝ่ายความมั่นคง คสช.เปิดทางให้อดีตผู้นำหญิงหนีไปอยู่กับพี่ชาย

นัยว่าเป็นการเกี้ยเซียะ เพื่อดีลอำนาจหลังเลือกตั้งรอบต่อไป

ขณะที่การแกะรอยตามอดีตนายกฯหญิงก็เป็นปริศนาคลุมเครือ แม้ล่าสุดจะมีการเปิดปมรถเก๋งพาหนีไปจอดทิ้งชายแดนไทย-กัมพูชาก็ยังไม่ชัดใครพาหนี

ตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์ที่เห็นจังหวะการโยนกันไปโยนกันมาระหว่างทหารกับตำรวจ

ไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพหลักในการอุ้มเผือกร้อน

โดยสภาวะตอนนี้ รัฐบาล คสช.ตกอยู่ในความหวาดระแวงของแนวร่วมฝั่งเดียวกัน

และนั่นก็โยงมาถึงปรากฏการณ์โยกย้ายขุนทหารประจำปีที่ประกาศอย่างเป็นทางการ โฟกัสไปที่ “น้องรัก” ของพี่ใหญ่อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม

ชักแถวเข้ามาคุมเก้าอี้สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กเข้” พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ว่าที่ปลัดกลาโหม
พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ว่าที่รองปลัดกลาโหม “บิ๊กอ้อม” พล.ท.วีรชัย อินทุโศภณ ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ว่าที่ผู้ช่วย ผบ.ทบ. “บิ๊กตู่น้อย” พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 1
แนวรบป่ารอยต่อฯยังแน่นปึ้ก

ตามรูปการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญสายทหารวิเคราะห์ว่า “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ว่าที่ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะน้องรัก “บิ๊กตู่” ที่ว่ากันว่าเป็น “เต็งหนึ่ง” จ่อเก้าอี้จ่าฝูงกองทัพบก

มีน้องรัก “บิ๊กป้อม” ประกบซ้ายขวา ชักจะไม่ชัวร์แล้ว

หันไปที่สถานการณ์ในดงสีกากีที่เปิดศึกวัดพลังภายในกันฝุ่นตลบ การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางกระแสข่าวซื้อขายตำแหน่งดังเซ็งแซ่ไม่หยุด

มีการขุดปมแฉพลตำรวจตรีใหญ่กว่าพลตำรวจเอก

ลามต่อเนื่องกับกระแสข่าวลือการเปลี่ยนตัว ผบ.ตร. การสลับไพ่กันระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.กับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.

โดยสถานการณ์ที่โยงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กับปรากฏการณ์ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ที่ศาลยกฟ้องบริษัทเอกชนที่ถูกตำรวจไล่บี้ดำเนินคดี ท่ามกลางเสียงโห่มวยล้มต้มคนดู

และก็เป็น พล.ต.อ.ศรีวราห์ที่ยอมรับว่าสั่งย้ายตำรวจระดับผู้กำกับในท้องที่รับผิดชอบ พร้อมประกาศเดินหน้าลุยคดีต่อไม่ยอมให้ประเทศชาติเสียหาย ท้าชนพลตำรวจตรีที่ใหญ่กว่าพลตำรวจเอก

เด็กเส้น “พี่ใหญ่” เด็กสาย “บิ๊กตู่” เปิดศึกล่อกันเอง

ไหนจะรายการขัดลำกันเองระหว่างรัฐมนตรีสายท็อปบูต จากปมปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสตึงมนัมที่ พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งให้ชะลอโครงการออกไป

ทั้งๆที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้ตกลงกับผู้นำกัมพูชาไปแล้ว เพื่อหาแหล่งน้ำในอนาคตรองรับเมกะ-โปรเจกต์ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากทางกัมพูชาเป็นอย่างดี โดยมีการสั่งให้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ศึกษาโครงการ รายงาน ครม.เป็นระยะแต่ไปๆมาๆ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมายืนยันเลยว่า กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำภายในประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจากกัมพูชา

ทำให้ฝ่ายปฏิบัติสะดุด งงกับนโยบายที่พลิกไปพลิกมาของฝ่ายบริหาร นั่นไม่เท่ากับเครดิตความเชื่อมั่นของนายกรัฐมนตรีไทยในเวทีนานาชาติ

ท่ามกลางกระแสชิงเค้กผลประโยชน์จากมูลค่าโครง– การที่มหาศาล

สรุปทุกปมที่ไล่เรียงมา ไม่ว่าจะปมเขื่อนสตึงมนัม เรื่องของทัวร์ศูนย์เหรียญ การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ การวางขุมกำลังในกองทัพ และแรงตกกระทบจากการที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ล่องหน

ก่อสถานการณ์ขบเหลี่ยมเหยียบตาปลากันของกลุ่มอำนาจแฝง คสช.

มันสะท้อนเลยว่า ธรรมชาติของเกมอำนาจทาง การเมือง ทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งและรัฐบาลอำนาจพิเศษจากการรัฐประหาร หากขาดซึ่งการประสานผลประโยชน์แล้ว

มันเดินหน้าไปต่อลำบาก ส่งผลให้การบริหารต้องสะดุด

จุดนี้แหละทำให้ “บิ๊กตู่” หงุดหงิด เพราะเรื่องของคนกันเองที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ไม่กล้าบอกพี่ น้อง เพื่อน เตือนกันตรงๆ

อะไรไม่สำคัญเท่ากับว่า บังเอิญมาตรงจังหวะวันที่ 5 กันยายน วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ในบรรยากาศสถานการณ์มันก็เลยขัดๆกันยังไงชอบกล กับสถานะของรัฐบาลอำนาจพิเศษที่ถือธงนำปฏิรูปประเทศ เดินหน้าลุยล้างนักการเมืองโกงกินบ้านเมือง

ทำให้ภาพชักจะไม่แตกต่างจากรัฐบาลเผด็จการทหารในยุคก่อนๆที่ไร้กระบวนการตรวจสอบ
ตอนหมดอำนาจ “ตอโผล่” เต็มไปหมด

เรื่องของเรื่องมาถึงวันนี้ มันก็เข้าสู่ห้วงปีที่ 4 ท้ายเทอมรัฐบาล คสช.แล้ว ห้วง 3 ปีที่ผ่านมาน่าจะเพียงพอกับการเปรียบเปรยสุภาษิตที่ว่า ระยะทาง พิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์ คสช.

หมดเวลาจะมาขอโอกาสอะไรกันแล้ว

ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอยู่เยี่ยงนี้ โอกาสเสี่ยงเสียของซ้ำมีความเป็นไปได้สูง

เอาเป็นว่า อย่างน้อยๆในสภาวะหนีเสือปะจระเข้ ไฟต์บังคับที่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก

ก็น่าจะเกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศกันบ้าง.

“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: