PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560

ระลึกถึงอัลวิน ทอฟฟเลอร์ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์


ระลึกถึงอัลวิน ทอฟฟเลอร์ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์




อัลวิน ทอฟฟเลอร์ นักคิดนักเขียนในแนวอนาคตศาสตร์แห่งศตวรรษ เสียชีวิตในขณะนอนหลับอยู่ที่บ้านเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ สิริอายุ 87 ปี ในฐานะที่ผู้เขียนได้รับความรู้และแนวคิดจากหนังสือ 3 เล่มที่เขาเขียนร่วมกับภรรยาจึงขออนุญาตที่จะเขียนถึงหนังสือของเขา อันได้แก่ Future Shock พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2513, The Third Wave พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2523 และ Powershief พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2533 ซึ่งหนังสือทั้ง 3 เล่มได้เขียนครอบคลุมเวลา 85 ปี จาก พ.ศ.2493 ถึง พ.ศ.2578 ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 19 ปี จึงจะครบกำหนดเวลาที่ทอฟฟเลอร์ได้เขียนคาดการณ์ไว้

เวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2513 ได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นว่าการคาดการณ์และการอธิบายของทอฟฟเลอร์การทำนายของเขาเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลอย่างรวดเร็วทางด้านข้อมูลข่าวสารที่มีต่อวัฒนธรรม (วิถีการดำเนินชีวิต) ต่อสถาบันครอบครัว ต่อสถาบันการเมืองและต่อสถาบันเศรษฐกิจนั้นแม่นยำและถูกต้องมาแล้วอย่างน่าพิศวง

จากหนังสือทั้ง 3 เล่มของทอฟฟเลอร์ (มีการแปลเป็นภาษาไทยหมดแล้ว) สรุปได้โดยสังเขปว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ (ความจริงก็เหมือนหลักคำสอนของทางพระพุทธศาสนานั่นเอง) ซึ่งเมื่อโลกเจริญขึ้นการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นเร็วขึ้น โดยข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ยืนยันในเรื่องนี้คือมนุษย์เรานั้นเมื่อหลายแสนปีมาแล้วมีวิธีหากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ด้วยการ “ออกเก็บของป่าและล่าสัตว์” จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการ “ปฏิวัติการเกษตร” คือแทนที่จะออกไปเก็บของป่าและล่าสัตว์มาเป็นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่ผ่านมา และเมื่อประมาณ 400 กว่าปีที่ผ่านมาก็เกิดการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ขึ้น คือการใช้วิทยาศาสตร์มาสร้างเครื่องจักรกลเพื่อทำงานแทนแรงงานของคนและสัตว์ได้

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ครั้งนี้ทอฟฟเลอร์เรียกว่าคลื่นลูกใหญ่หรือ “สึนามิ” ที่เข้ามาทำลายวิถีชีวิตวัฒนธรรมของมนุษยชาติ จะเห็นได้จากการปฏิวัติการเกษตรทำให้เกิดอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ เช่น อารยธรรมจีน อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมกรีก ขึ้นมาทำลายลักษณะสังคมแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ไปโดยสิ้นเชิง

ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 400 ปีเศษมานี้ที่ทวีปยุโรปซึ่งเป็นทวีปที่เล็กที่สุดแต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ทำให้บรรดาจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต้องพ่ายแพ้แก่ประเทศเล็กๆ ในยุโรปอย่างราบคาบและบรรดาประเทศเล็กๆ ในยุโรปได้เป็นเจ้านายเหนือผู้คนในทวีปเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาทั้งเหนือและใต้รวมทั้งทวีปออสเตรเลียด้วย

การปฏิวัติครั้งสำคัญทั้ง 2 ครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคนโลกโดยสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว สถาบันการเมือง สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสถาบันนันทนาการ ซึ่งสังคมใดหรือมนุษย์คนใดไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ก็จะล่มสลายไปเหมือนสิ่งปลูกสร้างหรือพืชและสัตว์ที่ถูกสึนามิโถมเข้าไปทำลายโดยสิ้นเชิง

ทอฟฟเลอร์ได้เสนอว่า การปฏิวัติของโลกคือการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารครั้งที่ 3 ของสังคมมนุษย์นั้นเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2493 คือ “การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร” หรืออย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันก็คือยุคคอมพิวเตอร์นั่นแหละ ซึ่งก็เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดมีความก้าวหน้าอย่างมหาศาล ดูง่ายๆ ก็เช่นกล้องถ่ายรูปที่ใช้ฟิล์มได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เครื่องพิมพ์ เครื่องโรเนียวก็หาไม่ได้แล้วเช่นกัน ส่วนทางด้านการเมืองก็เห็นได้ว่าระบอบการปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ได้ล่มสลายไป ประเทศอภิมหาอำนาจเช่นสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายเกิดเป็นประเทศใหม่ 15 ประเทศ

ครับ! ใครปรับตัวไม่ได้ ยืนหยัดขวางทางสึนามิก็มีแต่พังพินาศไปแน่นอนทีเดียว

จากการอ่านหนังสือทั้ง 3 เล่มของอัลวิน ทอฟฟเลอร์ ช่วยให้ผู้เขียนพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง อาทิ เมื่อมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแพร่หลายขึ้นผู้เขียนก็ต้องหัดใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องพิมพ์หนังสือแทนเครื่องพิมพ์ดีดซึ่งหากไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีแล้วก็คงจะหาเครื่องพิมพ์ดีดใช้ไม่ได้เสียแล้ว นอกจากนี้เมื่อเข้ามาถึงยุคอินเตอร์เน็ตผู้เขียนก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเรียนรู้การใช้อินเตอร์เน็ตซึ่งยากลำบากพอสมควรจนถึงทุกวันนี้ผู้เขียนก็ต้องเรียนรู้ในการใช้สมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่มีเพิ่มขึ้นแทบทุกวันซึ่งก็พอช่วยให้ผู้เขียนไม่เป็นคนตกยุคล้าหลังในสมัยอินเตอร์เน็ตที่ตอนที่ผู้เกิดและเติบโตขึ้นมานั้นยังไม่มี

คำพูดที่มีชื่อเสียงที่สุดของทอฟฟเลอร์ที่ว่า “The illiterate of the 21st century will not be those who cannot read and write, but those who cannot learn, unlearn, and relearn.” แปลว่าในศตวรรษที่ 21 นี้คนที่ไม่รู้หนังสือจะไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้เสียแล้ว หากแต่เป็นบุคคลที่ไม่สามารถเรียนรู้อะไรเลยและไม่สามารถที่ยอมรับรู้ว่าสิ่งที่เคยเรียนมานั้นว่าตกยุคสมัยคือผิดและไม่สามารถที่จะเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ได้นั่นเอง”

พูดง่ายๆ ก็คือในโลกสมัยศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของการปกครองแบบประชาธิปไตยอันเป็นผลของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารนั่นเอง การที่ไม่ยอมรับรู้ว่าการปกครองแบบเผด็จการนั้นมันใช้ไม่ได้แล้วในศตวรรษที่ 21 และยังคงไม่ยอมเรียนรู้คุณูปการของการปกครองแบบประชาธิปไตยคือผู้ที่ไม่รู้หนังสือในศตวรรษนี้นี่เอง

ไม่มีความคิดเห็น: