PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

เครดิตผู้นำสำคัญสุด

เครดิตผู้นำสำคัญสุด

จังหวะที่แรงเสียดทานทางการเมืองเบาบาง

ฝั่งตรงข้ามยังตั้งหลักไม่ทัน ในสถานการณ์ที่ “น้องปู” อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังล่องหน
ล่าสุด “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. พร้อมนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และคณะได้บินไปเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS “บริกส์” กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4–5 กันยายน 2560

ยกระดับประเทศไทยในฐานะที่มีบทบาทสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา

และอีกช็อตสำคัญนายกรัฐมนตรีไทยยังจะพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีจีนและร่วมกันเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงในเรื่องความร่วมมือรถไฟไทย–จีน

ย้ำดีลยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับจีนแผ่นดินใหญ่

เท่าที่ดูตามโปรแกรมหลังจากนี้ “นายกฯลุงตู่” มีคิวเดินสายไปต่างประเทศอีกหลายงาน ส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางเศรษฐกิจและความมั่นคง

ตามสถานะของประเทศไทยคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค ซึ่งนั่นก็แปรผันตามเครดิตผู้นำรัฐบาลทหารของไทยที่ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง ประกอบกับเงื่อนไขเชิงบวกของอำนาจพิเศษที่เอื้อต่อการปลดล็อกปมติดขัดข้อกฎหมายให้มีความสะดวกคล่องตัวมากกว่าปกติ

นี่คือจังหวะที่รัฐบาล คสช.จะเดินเนื้องานด้านต่างประเทศที่เอื้อกับเศรษฐกิจภายใน

แต่อย่างไรก็ตาม มันก็มีร่องรอยของปรากฏการณ์แปร่งๆ ยุทธการงัดกันเองระหว่างกระทรวงใหญ่ที่มีขุนทหารนั่งบัญชาการ จากปมโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า “สตึงมนัม” โปรเจกต์ระหว่างไทยกับกัมพูชา
เป็นกระแสข่าวที่ขัดแย้งกันเองในตัว คนนอกอ่านแล้วยังงงๆ

เมื่อย้อนไปตรวจสอบข้อมูลข่าวย้อนหลัง จุดเริ่มเลยมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อคราวเดินทางเยือนประเทศไทย ในการขอความร่วมมือกันเดินหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ
โดยทางผู้นำกัมพูชาได้เห็นชอบด้วย หลังจากนั้นนายกฯฮุน เซนได้สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาเปิดทางสะดวกในการเดินหน้าโครงการ เอื้อกับข้อตกลงที่ได้รับปากกับผู้นำไทย

ขณะที่นายกฯประยุทธ์ได้สั่งการผ่าน “บิ๊กโย่ง” พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ไปบูรณาการกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เดินหน้าศึกษารายละเอียด วางแผนเส้นทางน้ำ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ตามข่าวก็มีการรายงานความคืบหน้าโครงการต่อที่ประชุม ครม.เป็นระยะ

เป้าหมายหลักของโครงการคือรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาล นอกเหนือจากน้ำที่ใช้ในการบริโภคและการเกษตรในภาคตะวันออกที่ทุกปีก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว ขณะที่อีกมุมก็มีการเปรียบเทียบกับค่าไฟฟ้าต่อหน่วยของโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สูงกว่าปกติ เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับฝ่ายกัมพูชา

สรุปเมื่อบวกลบคูณหารทางด้านเศรษฐกิจแล้วถือว่าคุ้มกับไทย

แต่ก็เป็น “บิ๊กนมชง” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาตัดบทแบบชัดถ้อยชัดคำ การผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัมไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะกระทรวงเกษตรฯได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรฯเห็นชอบที่จะให้กรมชลประทานเข้าไปก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่แทน

นั่นก็ทำให้แผนที่วางไว้ปั่นป่วน ฝ่ายปฏิบัติหันมองหน้ากันเลิ่กลั่ก

เพราะ พล.อ.ฉัตรชัยก็ระดับเพื่อนรัก ขณะที่ พล.อ.อนันตพรก็ระดับสายตรง

ตกลงไม่รู้ “นายกฯลุงตู่” จะเอายังไงกันแน่

และตามโปรแกรม พล.อ.ประยุทธ์มีคิวเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 กันยายนนี้ ซึ่งแน่นอนน่าจะมีเรื่องของเขื่อนสตึงมนัม “วัดใจ” อยู่บนโต๊ะเจรจาความเมืองด้วย

เรื่องของเรื่อง ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นทางเทคนิค ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ หรือปมลึกลับซับซ้อนที่มีการร่ำลือในวงการว่ายุทธการสกัดเขื่อนสตึงมนัมโยงกับการลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
เป็นการขัดเหลี่ยมผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจแฝง คสช.ที่แบ่งเป็น 2-3 ก๊ก

แต่ที่แน่ๆว่ากันตามเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างผู้นำ 2 ประเทศที่ตกปากรับคำกันไว้ นั่นจึงไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะของประเทศไทย แต่มันเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เป็นเครดิตความน่าเชื่อถือของผู้นำไทยในเวทีโลก.

ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: