PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

ที่ดินอัลไพน์ 'แก้ผิดให้ผิดอีก'

ได้ยิน "ท่านรองฯ วิษณุ" พูดเมื่อวาน ได้แต่นึก...เออ หนอ ในใจ!
ก็เรื่องที่กำลังวิพากษ์กันขรม.........
มหาดไทย-สำนักพุทธเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ "วัดธรรมิการามวรวิหาร" ที่กลายเป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์
ให้ "มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย"
ในฐานะผู้จัดการมรดกของ "นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา"
ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้วด้วยซ้ำ
คนเห็นร่าง พ.ร.บ.ก็ท้วงติงอื้ออึง
"นี่มันร่าง 'นิรโทษกรรมยกเข่ง' ชัดๆ นี่นา ถ้าออกมา นายยงยุทธได้อานิสงส์นิรโทษด้วย?"
อีกอย่าง คุณยายเนื่อมถวายที่ดินแก่วัด ย่อมเป็นที่ธรณีสงฆ์ แต่ต่อมามูลนิธิฯ นั่นแหละเอาไปขายให้ทำสนามกอล์ฟ
เมื่อจะออกกฎหมายคืน ก็ต้องคืนที่วัดให้แก่วัดตามพินัยกรรม ไม่ใช่คืนให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย (ตัวปัญหา)
เมื่อโวยกัน เมื่อวาน (๔ ก.ย.๖๐) รองนายกฯ วิษณุ จึงบอกว่า
"ยังไม่ใช่กำลังจะออกกฎหมาย........
และยังไม่เคยเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะเข้า สนช.ได้อย่างไร รวมถึงยังไม่เคยไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่องยังไม่ได้พ้นจากกระทรวงมหาดไทย เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยและสำนักพุทธกำลังหารือกันอยู่"
เอาล่ะ เมื่อรองนายกฯ พูด ก็ต้องเชื่อท่าน เรื่องที่ดินคุณยายเนื่อม มันยอกย้อน-ซ่อนเงื่อน
เมื่อศาลตัดสินจำคุกนายยงยุทธ ๒ ปี ปัญหาที่ต้องแก้กันต่อไปคือ
ในคำพิพากษาเมื่อ ๒๙ สิงหาระบุว่า........
"พินัยกรรมของนางเนื่อม ระบุชัดเจนว่ายกที่ดินให้กับวัดเท่านั้น และให้มูลนิธิร่วมกับวัด ไปร่วมกันช่วยจัดทำประโยชน์ในการครอบครองที่ดิน โดยที่ไม่อาจขยายความไปถึงการขายที่ดินได้....ฯลฯ..."
ก็ชัดเจน แม้ซื้อ-ขายกันไปหลายทอดก็ตาม..........
แต่ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ และที่ดินบ้านจัดสรรอัลไพน์ ก็ยังคงเป็น "ธรณีสงฆ์" เหมือนเดิม!
เพื่อการติดตามเรื่องแบบมี "ฐานข้อมูล"
วันนี้ ขอเก็บความจาก "บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา"
app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig? whichLaw=cmd&year=2544...
เรื่อง "ที่ดินอัลไพน์" ตามที่กรมการศาสนาหารือกฤษฎีกามาทบทวนกัน เป็นการเก็บความและนำมาบางส่วนนะครับ
กรมการศาสนา ขอหารือดังนี้
๑.เมื่อนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ถึงแก่กรรม ที่ดินซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร
ทั้งสองแปลงจะตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด โดยทันทีหรือไม่ อย่างไร?
๒.ที่ดินตามพินัยกรรมดังกล่าว อยู่ภายใต้เงื่อนไขบทบัญญัติมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ อย่างไร?
๓.หากที่ดินตามพินัยกรรมดังกล่าว ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินตามข้อ ๒
แต่ผู้มีอำนาจได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้วัดธรรมิการามวรวิหารได้มาซึ่งที่ดินแล้ว ที่ดินตามพินัยกรรมจะตกเป็นของผู้ใด อย่างไร?
๔.ที่ดินทั้งสองแปลงที่นางเนื่อมได้ทำพินัยกรรม ยกกรรมสิทธิ์ให้วัด ผู้จัดการมรดกจะนำที่ดินดังกล่าวไปจำหน่าย จ่าย โอน ได้หรือไม่ อย่างไร?
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อนางเนื่อมถึงแก่กรรม ที่ดินทั้งสองแปลงจะตกเป็นที่ธรณีสงฆ์โดยทันทีหรือไม่ นั้น
เห็นว่า ตามข้อเท็จจริง นางเนื่อมได้ทำพินัยกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร โดยระบุในข้อ ๑ (๓) (ง) และ (จ)[๒] ของพินัยกรรมว่า
ต้องการยกกรรมสิทธิ์ที่ดินสองแปลงที่ตั้งอยู่ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่รวมกันประมาณ ๙๒๔ ไร่ ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร
ต่อมาในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๔ นางเนื่อมถึงแก่กรรม วัดซึ่งเป็นผู้รับมรดกได้ครอบครองหาประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวตลอดมา โดยการให้เช่าทำนา
จนกระทั่งได้โอนให้ "มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย" ในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๓๓
กรณีจึงพิจารณาได้ว่า นับตั้งแต่นางเนื่อมถึงแก่กรรม มรดกของนางเนื่อมตกทอดไปยังทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรม นับตั้งแต่นางเนื่อมถึงแก่กรรม[๓] โดยไม่จำต้องทำการรับมรดก หรือเข้าครอบครองที่พิพาท
ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๕๙๙[๔] ประกอบกับมาตรา ๑๖๐๓[๕] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และวัด ในฐานะผู้รับพินัยกรรม อาจใช้สิทธิเรียกร้องเรียกเอาที่ดินมรดกให้ตกได้แก่วัดได้นับตั้งแต่นางเนื่อมถึงแก่กรรมเป็นต้นไป ตามมาตรา ๑๖๗๓[๖] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งการได้มาซึ่งที่ดินตามพินัยกรรมดังกล่าว เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา ที่ดินนั้นก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทแล้ว[๗]
เพียงแต่จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง[๘] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
อนึ่ง ตามมาตรา ๑๕๙๙ วรรคสอง[๙] แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น
ทายาทอาจเสียสิทธิในมรดกได้ โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ซึ่งการเสียสิทธิในมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการหนึ่ง คือ การทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกตามมาตรา ๑๖๑๒
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นับตั้งแต่เมื่อนางเนื่อมถึงแก่กรรม วัดได้เก็บผลประโยชน์จากที่ดินโดยเก็บค่าเช่าทำนามาโดยตลอด และไม่ปรากฏว่าวัดได้ทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้น ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ดินตามพินัยกรรมของนางเนื่อม จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแล้วตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม
การที่วัดได้มาซึ่งที่ดินมรดกสองแปลงนี้ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายที่ดินด้วย
ซึ่งมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติให้การได้มาซึ่งที่ดินของวัด ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี แต่ไม่กระทบถึงที่ดินที่วัดได้มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ
และมาตรา ๘๕ บัญญัติว่า ในกรณีที่วัดได้ที่ดินมาเกินข้อกำหนดแห่งกฎหมายตามความในมาตรา ๘๔ เมื่อประมวลกฎหมายนี้ได้ใช้บังคับแล้ว ให้นิติบุคคลดังกล่าวจัดการจำหน่ายภายใน ๕ ปี
โดยนัยนี้เท่ากับว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน ถือว่าที่ดินที่วัดได้มาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแล้ว
แต่หากรัฐมนตรีไม่อนุญาต วัดจะถือกรรมสิทธิ์ต่อไปไม่ได้
และมาตรา ๘๕ กำหนดให้วัดจัดการจำหน่ายเสียภายใน ๕ ปี ซึ่งผู้มีกรรมสิทธิ์เท่านั้นที่จะมีอำนาจจำหน่ายทรัพย์สินได้
ในระหว่างนั้น วัดจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจนกว่าจะจำหน่ายที่ดินไป
บทบัญญัติมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงไม่เป็นเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินของวัดแต่อย่างใด แต่เป็นเงื่อนไขในการจะถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อไปเท่านั้น
ดังนั้น ในกรณีของวัดธรรมิการามวรวิหารนี้ วัดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมทันทีที่นางเนื่อมถึงแก่กรรม
และมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่บทบัญญัติยกเว้นการได้มาดังกล่าว
เมื่อผลทางกฎหมาย ที่ดินมรดกของนางเนื่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕
ซึ่งการโอนที่ธรณีสงฆ์ ต้องทำโดยพระราชบัญญัติตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕
ประเด็นที่สอง ที่ดินทั้งสองแปลง ผู้จัดการมรดกจะนำที่ดินไปจำหน่าย จ่าย โอน ได้หรือไม่ นั้น
ปรากฏจากข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่นางเนื่อมถึงแก่กรรม ศาลแพ่งมีคำสั่งแต่งตั้ง นายพจน์ สุนทราชุน, นายหงษ์ สุวรรณหิรัญ และนายแพทย์วิรัช มรรคดวงแก้ว เป็นผู้จัดการมรดกนางเนื่อมเมื่อ ๑ ก.ย.๑๔
แต่ต่อมา ศาลแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้นายพจน์และนายแพทย์วิรัช ถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก และนายหงษ์ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๕ เม.ย.๓๓
เนื่องจากไม่มีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่ ต่อมาศาลแพ่งจึงได้มีคำสั่งเมื่อ ๑๑ ส.ค.๓๓ แต่งตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้จัดการมรดก วันที่ ๒๑ ส.ค.๓๓
กรมที่ดิน ได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกให้แก่มูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก
ซึ่งมูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้โอนที่ดินมรดกให้แก่มูลนิธิฯ เอง แล้วมูลนิธิฯ ได้โอนที่ดินดังกล่าวต่อไปให้บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ในวันเดียวกันนั้นเอง
กรณีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า มูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
มาตรา ๑๗๑๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกไว้ว่า
ให้ทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
จึงเห็นได้ว่า เมื่อเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมสั่งความไว้เป็นประการใด ผู้จัดการมรดกย่อมต้องจัดการไปตามคำสั่งนั้น จะจัดการนอกเหนือคำสั่งในพินัยกรรมไม่ได้
ในกรณีของที่ดินมรดกสองแปลงของนางเนื่อมที่เป็นปัญหานี้ นางเนื่อมได้สั่งไว้ในพินัยกรรมว่า
ยกให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมจึงชอบแต่จะจัดการจำหน่าย จ่าย โอน ที่ดินมรดกให้แก่วัดผู้รับมรดกตามพินัยกรรมเท่านั้น
จะโอนให้แก่บุคคลอื่นที่พินัยกรรมมิได้ระบุให้เป็นผู้รับพินัยกรรมไม่ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิฯ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม จึงต้องโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุให้ตกแก่วัด ให้แก่วัดได้เท่านั้น
จะโอนให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากวัดไม่ได้
การโอนที่ดินมรดกให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากบุคคลที่ระบุให้เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม
จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก ซึ่งไม่ผูกพันทายาท และจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา ๑๗๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ก็พอเข้าใจกันกระมัง.......
ที่จะออกกฎหมายเอาที่ดินไปยกให้มูลนิธิฯ (ตัวการ) แทนที่จะเป็นวัด เป็นการ "ทำผิดให้เป็นถูก" หรือ
"ทำที่ผิดให้มันผิดอีก"?

ไม่มีความคิดเห็น: