PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560

เมื่อเสียงปี่กลองดังขึ้น

เมื่อเสียงปี่กลองดังขึ้น

เสียงปี่เสียงกลองเรียกร้องการเลือกตั้งดังกระชั้นถี่ยิ่งขึ้น ทั้งจากนักการเมืองและประชาชน ผลการสำรวจความเห็นประชาชนของสวนดุสิตโพลครั้งล่าสุด มีคนถึง 81.88% สนใจการกำหนดวันเลือกตั้งมากที่สุด 60.50% อยากให้มีเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย ขณะที่ซุปเปอร์โพลสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่ (55.1%) อยากให้เลือกตั้งไม่เกินเดือนกันยายน 2560

แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจ นายจาตุรนต์ ฉายแสงแกนนำพรรคเพื่อไทย วิจารณ์ว่าการที่นายกรัฐมนตรีตั้งเงื่อนไขว่าถ้ากฎหมายพร้อม และทุกฝ่ายปรองดอง จะมีเลือกตั้งในปี 2561 คล้ายกับว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมา คสช.ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความปรองดอง และเงื่อนไขนี้จะทำให้ผู้ที่ไม่อยากเลือกตั้ง อาจสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

ส่วนกฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่จะต้องมีเพื่อการเลือกตั้ง ได้แก่กฎหมาย กกต.ซึ่งประกาศใช้แล้ว เหลืออยู่อีก 3 ฉบับ คือกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ล้วนแต่เป็นกฎหมายธรรมดาฯ ไม่มีความซับซ้อน ไม่มีเหตุที่จะต้องล่าช้า เพราะ กรธ. ผู้เขียนกฎหมายแม่คือรัฐธรรมนูญ มองทะลุปรุโปร่งที่สุด

เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 และสามารถจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ ในวันที่ 23 ธันวาคม ปีเดียวกัน หมายความว่าเลือกตั้งได้ใน 122 วัน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ถึงวันนี้ 168 วันแล้ว แต่กฎหมายลูกยังมะงุมมะงาหราอยู่

เหตุที่ทำให้กฎหมายลูกเร็วหรือช้า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับขั้นตอนการจัดทำ อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ความจริงมุ่งมั่นจริงจังจริงใจขององค์กรที่เกี่ยวข้อง รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับเหมือนกันมาก เพราะต่างก็มาจากรัฐประหาร ฉบับ 2550 ต้องผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ฉบับ 2560 ไม่มี แต่ต้องผ่านประชามติเหมือนกัน แต่ฉบับ 2560 ช้ากว่าหลายเท่า

รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ สนช.พิจารณาร่างกฎหมายลูกให้เสร็จตามกำหนด หากเลยกำหนด ให้ประธาน สนช. นำร่างที่ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อ ป้องกันไม่ให้ สนช. เตะถ่วงเพื่อยื้อการเลือกตั้ง ส่วนฉบับ 2560 มีกระบวนการยืดยาว รวมทั้งให้ กรธ. จัดทำร่างกฎหมายลูกให้เสร็จใน 240 วัน ให้เวลา สนช. 60 วัน และเลือกตั้งใน 150 วัน หลังมีกฎหมายลูก

แม้รัฐธรรมนูญ 2550 กับ 2560 จะมีความเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ และมีความต่างกันเป็นส่วนน้อย แต่ทั้งสองฉบับมีความต่างที่สำคัญ นั่นก็คือรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่สามารถสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารได้ แต่ฉบับ 2560 อาจนำไปสู่การสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารได้ ความแตกต่างนี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งของกฎหมายลูกที่ล่าช้า?

ไม่มีความคิดเห็น: