PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กะเทาะ “แก่น” อำนาจพิเศษ “ปลดล็อก” พรรค : เหลี่ยมนิติรัฐ มัดมือการเมือง

กะเทาะ “แก่น” อำนาจพิเศษ “ปลดล็อก” พรรค : เหลี่ยมนิติรัฐ มัดมือการเมือง

ฝนถล่ม กระตุกต่อมผวา “น้องน้ำ” ซ้ำรอยปี 2554

โดยเฉพาะภาพน้ำท่วมถนนวิภาวดีรังสิต รถติดวินาศสันตะโร จากปริมาณฝนที่ตกหนักเป็นประวัติการณ์ จนระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครรับไม่ไหว พร่องน้ำไม่ทัน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ทำได้แค่ขอโทษ ยอมรับผิดรับสภาพกันไป

นั่นแค่น้ำจากฝนกระหน่ำยังทำกรุงเทพฯ จมบาดาล

ส่วนสถานการณ์ที่ภาคอีสาน หนักสุดที่จังหวัดขอนแก่น น้ำล้นเขื่อนอุบลรัตน์ไหลท่วมเมือง ภาคเหนือเกิดน้ำป่าไหลหลากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ต่อเนื่องถึงภาคเหนือตอนล่าง สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ฯลฯ

น้ำล้นตลิ่งแม่น้ำ ท่วมบ้านเรือนประชาชนและถนนหนทาง

ขณะที่สถานการณ์ภาคกลางที่จังหวัดลพบุรี ประตูระบายน้ำพัง อ่างเก็บน้ำแตกท่วมไร่นา อยุธยา อ่างทอง ชัยนาท ระดับน้ำขึ้นสูงท่วมบ้านเรือนไร่นา เสียหายเป็นจำนวนมาก

หลังจากนี้ รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. น่าจะต้องเริ่มเดินหน้ากระบวนการเมกะโปรเจกต์บริหารจัดการน้ำมูลค่า 2 แสนกว่าล้านบาท

ตั้งวงถกกันอย่างจริงๆจังๆ ทั้งการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ การขุดคลองเชื่อมเส้นทางน้ำไหลลงสู่ทะเล การกันพื้นที่ทุ่งรับน้ำ การสร้างแนวตลิ่งกั้นฝั่งแม่น้ำ การจัดการกับพวกรุกล้ำแม่น้ำลำคลอง ฯลฯ

ถึงเวลาต้องยึดความเดือดร้อนของประชาชนที่เห็นกันจะจะตรงหน้ามาก่อนกระแสการคัดค้านที่เป็นข้ออ้างนามธรรมของพวกที่ไม่ได้สัมผัสทุกข์ของประชาชน

“บิ๊กตู่” ต้องกล้าชน เลิกหงอเลิกกลัวเอ็นจีโอกันเสียที

เพราะถ้าไม่ทำในยุคนี้ที่อำนาจพิเศษเด็ดขาดเต็มมือ ก็ไม่ต้องพูดถึงยุครัฐบาลปกติจะทำได้

น้ำสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยประเมินมูลค่าไม่ได้แล้ว

แต่ที่แน่ๆ ณ เบื้องต้นนี้ รัฐบาลและ กทม.จะต้องบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์น้ำ ไม่ให้กระทบพระราชพิธีสำคัญของพสกนิกรชาวไทย

ในห้วงสัปดาห์สุดท้าย ก่อนถึงวันที่ 26 ตุลาคม

ล่าสุดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ และพระราชทานโคมไฟหลวงและหีบพระเพลิงไปในการพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

มีการอัญเชิญไปยังพระเมรุมาศจำลองในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน 9 แห่ง จังหวัดต่างๆ 76 แห่ง และต่างประเทศ 94 แห่ง

รองรับประชาชนที่จะร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์จำนวนมาก

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีการเตรียมกระบวนการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ผู้นำต่างประเทศที่แสดงความจำนงเข้าร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวงรัชกาลที่ 9”

ร่วมแสดงความอาลัยในพระราชพิธีประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรไทย

สมพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

ภายใต้บรรยากาศความเศร้าโศกของลูกๆชาวไทยที่รวมพลังถวายองค์พ่อแผ่นดินเป็นครั้งสุดท้าย
ละซึ่งกิจกรรมและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควร

โดยเฉพาะในส่วนของการเมืองที่ตามวิถียังคงดำเนินไปต่อเนื่อง เพราะผูกโยงอยู่กับกระบวนการบริหารประเทศ

แต่ส่วนใหญ่นักการเมืองก็รับรู้ได้โดยกาลเทศะ

ไม่ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย กระแทกกระทั้นกันรายวันเหมือนยามปกติ

แม้จะไม่วายมีรายการ “ผิดคิว” กรณีของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย ที่เป็นโต้โผใหญ่นำประชาชนในพื้นที่ฐานเสียง จัดกิจกรรมวางดอกดาวเรืองแทนใจแสดงความอาลัยในพระราชพิธีสำคัญ

แต่มีภาพของการขึ้นรถแห่ พร้อมป้ายชื่อหรา

มันก็เลยเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองในมุมของความไม่เหมาะสม ผิดกาลเทศะ ตามปรากฏการณ์อย่างที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม พูดเสียงเครียด ควรใช้ดุลพินิจบ้าง ทำในช่วงนี้ เหมาะสมหรือไม่

เอาชื่อตัวเองมาหาเสียงแบบนั้น ทำไม่ได้

ขณะที่ “เจ๊หน่อย” ต้องแถลงขอโทษทั้งน้ำตา ยืนยันไม่มีเจตนาแฝงอะไร

แต่นั่นก็ทำให้เสียอาการทรงตัวไปเยอะ

โดยเฉพาะสถานะของแคนดิเดตแม่ทัพพรรคเพื่อไทย ที่ตามกระแสถือว่าเจ้าแม่เมืองกรุงเป็น “ตัวเต็ง” จะได้รับธงจาก “นายใหญ่” ให้นำพรรค ในการเลือกตั้งรอบต่อไป

พอเจอช็อตสะดุดหัวทิ่มแบบนี้ ก็มีเสียงวิเคราะห์จากหลายฝ่าย ฟันธงตรงกัน “เจ๊หน่อย” ลำบากแล้ว

พร้อมๆกับชื่อของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม โผล่มาเป็นตัวเต็งแทน

ตามรูปการณ์กรณี “เจ๊หน่อย” ถือได้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญทางยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ในการจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไป

ในเงื่อนไขสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศย้ำสัญญาประชาคมให้ได้ยินกันไปทั่วโลก จะประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน และเข้าคูหากาบัตรกันในเดือนพฤศจิกายน ปีหน้า 2561

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็เริ่มมีเสียงทักว่าด้วยปัจจัยแปรผันที่จะสอดแทรกได้

แบบที่ “ครูหยุย” นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แสดงความเป็นห่วงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทำให้ต้องเสียเวลาแก้เนื้อหา

ซึ่งนั่นอาจทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป

หรือแม้แต่ “ซือแป๋” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็เริ่มแบะท่ายอมรับเลยว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดนทักท้วงเยอะมาก แทบทุกมาตรา

ยอมรับสภาพกลายๆกฎหมายลูกมีแววล่าช้า คุมเกมไม่ได้

เรื่องของเรื่อง มันก็เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่มีขั้นตอนตามกระบวนการทางเทคนิคข้อกฎหมายที่เกี่ยวโยงกับหลายฝ่าย กว่ากฎหมายลูกจะสะเด็ดน้ำต้องใช้เวลา

ไม่ได้เสกกันได้ภายในชั่วข้ามวันข้ามคืน

ที่แน่ๆ พล.อ.ประวิตร ในฐานะโต้โผใหญ่ของรัฐบาลคสช.ก็ยืนกรานเสียงแข็งเลยว่า กำหนดการเลือกตั้งต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการกฎหมายลูกเสร็จเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

ฟังประกาศเลือกตั้งจาก “บิ๊กตู่” แล้วมาดูกระบวนการตามเงื่อนไข “บิ๊กป้อม”

มันก็ยังเป็น “ความชัด” ซ้อนอยู่ใน “ความไม่ชัด”

แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในปีหน้า 2561 จะเกิดขึ้นตามกำหนดที่หัวหน้า คสช.ประกาศสัญญาประชาคมหรือต้องลากออกไปตามปัจจัยแปรผันที่คุมเกมไม่ได้

สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนก็คือการปลดล็อกทางการเมือง

ตามท้องเรื่องที่นักการเมืองทุกป้อมค่ายส่งเสียงเรียกร้องให้ คสช.ไฟเขียวให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ ตามเงื่อนไขความจำเป็นในการต้องเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้ง

ในจังหวะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองก็ประกาศบังคับใช้แล้ว

โดยแนวโน้มฟังจากทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ก็บอกให้รอไปว่ากันภายหลังพระราชพิธีสำคัญผ่านพ้นไปแล้ว จะพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

ยังไงก็หนีไม่พ้นต้องเจาะรูระบายแรงดันไว้ก่อน

ภายใต้เงื่อนสถานการณ์ที่บทบัญญัติหลักรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายแม่บทออกมาบังคับใช้แล้ว แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังให้ คสช.ถืออำนาจพิเศษเป็นเครื่องมือคุมเกมการเมือง

แต่นั่นมันก็แค่ “เหลี่ยมนิติรัฐ” มัดมือนักเลือกตั้ง

ในเมื่อทุกอย่างยังอยู่ภายใต้ “รัฏฐาธิปัตย์”.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: