PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เบื้องหลังล้มกระดาน! สนช.กลับลำชิงคว่ำ 7 ว่าที่ กกต. นาทีสุดท้าย

เปิดเบื้องหลังล้มกระดาน! สนช.กลับลำชิงคว่ำ 7 ว่าที่ กกต. นาทีสุดท้าย

วันพฤหัสบดี ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561, 17.36 น.

บันทึกประวัติศาสตร์ครั้งแรก สัญญาณชัด 'สนช.' ชิงโหวตคว่ำล้ม7ว่าที่กกต.ยกชุด หวั่นมีคนร้องศาลรธน.ตัวแทนสายศาลกระบวนการที่มาผิดไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แถมยังไร้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งเข้ามาทำงาน ยันโรดแมปเลือกตั้งไม่เลื่อน กกต.ชุดเก่าทำหน้าที่ต่อไปได้
22 ก.พ.61 ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งคณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการเลือกตั้ง ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน กมธ.ฯ
โดยรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อ 7 คน ประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากคณะกรรมการสรรหา 5 คน ได้แก่ นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผวจ.หลายจังหวัด นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ
ขณะที่ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน ได้แก่ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ทั้งนี้ พล.อ.อู้ด ได้รายงานการตรวจสอบประวัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ต่อที่ประชุม สนช.ในส่วนที่เป็นรายงานเปิดเผย
จากนั้นที่ประชุม สนช.ได้สั่งให้ประชุมลับ เพื่อพิจารณารายงานลับของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 13.00 น.เมื่อกลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง โดย นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งให้สมาชิก สนช.ลงมติลับด้วยการเข้าคูหากาบัตรลงคะแนน ผลปรากฏว่า ที่ประชุม สนช.ลงมติไม่เห็นความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน
ทั้งนี้ ผลโหวตปรากฎว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 156 เห็นชอบ 27 งดออกเสียง 17 นายเรืองวิทย์ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 175 เห็นชอบ 10 งดออกเสียง 14 นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 168 เห็นชอบ 16 งดออกเสียง 16 นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 149 เห็นชอบ 30 งดออกเสียง 21 นายประชา เตรัตน์ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 125 เห็นชอบ 57 งดออกเสียง 86 นาย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 128 เห็นชอบ 46 งดออกเสียง 26 และนายปกรณ์ มหรรณพ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 130 เห็นชอบ 41 งดออกเสียง 29
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนการนับคะแนนที่ได้เกิดความล่าช้า เนื่องจากคะแนนเกินจำนวนผู้ลงคะแนน คือ 200 คน แต่เมื่อคะแนนรวมได้ 201 กรรมการนับคะแนน จึงต้องตรวจสอบความถูกต้องใหม่ ภายหลังการตรวจสอบปรากฏว่า ได้มีการแก้คะแนนในส่วนของงดออกเสียงออกคนละ 1 เสียง อย่างไรก็ตามการที่ สนช.ไม่ให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไปเป็นกรรมการขององค์กรอิสระถือเป็นครั้งแรกที่โหวตคว่ำยกชุด
ทั้งนี้ บุคคลทั้ง 7 คน ได้รับความเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งจากสมาชิก สนช.ทั้งหมด หรือ 124 คน จากสมาชิก สนช.ทั้งหมด 248 คน ส่งผลให้บุคคลทั้ง 7 คน ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช.ให้ดำรงตำแหน่ง กกต.โดยขั้นตอนต่อไป สนช.จะต้องรายงานการประชุมไปให้คณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อดำเนินการสรรหาบุคคลมาให้ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบใหม่อีกครั้ง โดยทั้ง 7 คนดังกล่าว จะไม่สามารถกลับมาสมัครใหม่ได้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมลับได้มีการรายงานการตรวจสอบประวัติในเชิงลึกของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน อย่างละเอียดพบว่า ทุกคนมีเรื่องถูกร้องเรียนหมด โดยนายเรืองวิทย์ ถูก สนช.รุมซักถามประวัติอย่างหนัก โดยเหตุผลที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทุกคน แม้ว่าทุกคนจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก สนช.เห็นว่างานของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญใหม่มีภารกิจสำคัญเรื่องการเลือกตั้ง จึงอยากได้บุคคลมีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในการทำงาน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ซึ่งสมาชิก สนช.ส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และยังไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน อาจมีปัญหาเรื่องที่มาการสรรหาได้ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ แม้ สนช.จะได้รับหนังสือยืนยันจากศาลฎีกาว่า กระบวนการสรรหาดำเนินการอย่างถูกต้อง แต่ สนช.เกรงว่า จะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยขั้นตอนการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ในภายหลัง จะเกิดความวุ่นวายตามมามากมาย
ดังนั้น สนช.จึงอยากได้คนใหม่ที่ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความตั้งใจที่ดีที่สุด จึงลงมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน
แหล่งข่าวจาก สนช.เปิดเผยว่า สำหรับการลงคะแนนเลือก กกต.ทั้ง 7 คน ที่ผลออกมาเป็นการเซ็ตซีโร่ โดยที่ไม่มีใครได้รับการเห็นชอบของ สนช.เลยนั้น เรื่องนี้เริ่มต้นมาจากบรรยากาศก่อนการประชุม สนช.มีการจับกลุ่มพูดคุยกันถึงการลงมติเลือก โดยมีกระแสข่าวสะพัดว่า ให้ลงมติไม่เห็นชอบ 7 ว่าที่ กกต.โดยมีการถกกันประเด็นที่มีผู้ได้รับคัดเลือก 2 คน ซึ่งมีปัญหาเรื่องที่มา ทำให้ สนช.เกิดความไม่มั่นในใจการทำงานของคณะกรรมการสรรหา เพราะหากปล่อยผ่านคนที่มีปัญหา อาจทำให้ผู้สมัครคนอื่นถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกันถึงคุณสมบัติ ดังนั้น จึงทำให้เป็นผลการลงคะแนนออกมาเป็นไม่มีใครได้รับความเห็นชอบ
"การลงคะแนนของสมาชิก สนช.เป็นการตัดสินใจแบบกะทันหัน หลังจากที่มีการถกกันในการประชุมลับ ซึ่งการลงคะแนนแบบนี้ก็แสดงให้เห็นว่า สมาชิก สนช.ไม่มั่นใจในกรรมการสรรหา ไม่เชื่อมั่นในกรรมการสรรหา ไม่รู้ไปทำงานกันมาอย่างไร ถึงออกมาเป็นแบบนี้ได้" แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่แหล่งข่าวจาก สนช.อีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ยืนยันมีสัญญาณชัดจาก คสช.ให้คว่ำทั้ง 7 คน โดย 2 คนแรกที่ สนช.ให้ความเป็นห่วงมาจากการสรรหาของศาลฎีกาที่ใช้วิธีการลงคะแนนอย่างเปิดเผยถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกันในส่วนการสรรหา 5 คน จากกรรมการสรรหามีอยู่ 2 - 3 คนที่กังวลว่าจะทำงานไม่ได้ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์การทำงานในด้านการเลือกตั้ง แต่สนช.ก็ไม่สามารถเห็นชอบอีก 2 คนที่เหลือ โดยหนึ่งคนที่แน่นอน คือ นายประชา เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการไม่ให้เกียรติศาล ดังนั้น จึงเห็นว่าต้องคว่ำทั้งหมด 7 คน
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ สนช.กล่าวว่า การลงคะแนนเป็นผลมาจากการประชุมลับที่สมาชิกได้รับฟังการชี้แจงจากประธานและกรรมการสรรหาตรวจสอบประวัติ แต่เนื่องจากเป็นการประชุมลับจึงไม่สามารถบอกได้ว่า เนื้อหาการประชุมลับเป็นอย่างไร แต่หลังจากที่ฟังแล้วก็อาจจะมีสมาชิกที่ตัดสินใจรับรองและไม่รับรอง แต่หัวใจของเรื่องนี้ก็คือ แม้จะไม่ได้ กกต.ทั้ง 7 คนนี้ ก็ไม่มีผลต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เนื่องจาก กกต.ชุดเก่ายังทำหน้าที่สามารถที่จะจัดการเลือกตั้งหรือทำกฎหมายต่อไปได้

ไม่มีความคิดเห็น: