PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561

ทีท่าการเมือง ต่อการยื้อ ถ่วง หน่วง โรดแมปเลือกตั้ง

ทีท่าการเมือง ต่อการยื้อ ถ่วง หน่วง โรดแมปเลือกตั้ง


แม้พิมพ์เขียว “ทฤษฎีสมคบคิด” ในการยื้อ ถ่วง หน่วง “เลือกตั้ง” จากสมองก้อนโตระดับฝังเพชรของบรรดาเนติบริกรภายใน “คสช.” จะมากด้วยความแยบยล
ไม่ว่าจะเป็นการ “เติม” ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.
ไม่ว่าจะเป็นการแสร้ง “ยื่นคำขาด” อันนำไปสู่การล่ารายชื่อ 30 สนช.เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยและตีความ
แต่พลันที่มี สนช.บางคนออกเสนอ
“ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำเป็นสัตยาบันร่วมกันมาเลยว่ายินยอมให้เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งออกไป 3 เดือน สนช.จะดำเนินการส่งร่างกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันที”
ยิ้มก็เห็นแก้ม แย้มก็เห็นไรฟัน
น่าสังเกตว่า ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย มีความเยือกเย็นเป็นอย่างสูง
เป็นความเยือกเย็นอย่างรู้เท่าทัน
หากเทียบพรรษาทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นนายชวน หลีกภัย ไม่จำเป็นต้องเป็นนายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่จำเป็นต้องเป็นนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
หลายคนต่างผาดโผนในยุทธจักรมาก่อน
ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเผชิญกับบทบาทเหล่านี้อย่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดา
ยิ่งที่นั่งสลอนอยู่ใน “สนช.” ยิ่งเป็นเด็กรุ่นหลัง
คนอย่างนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ มิได้เก๋าเกมอะไร เมื่อมองจากสายตาของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
คนอย่างนายสมชาย แสวงการ ยิ่ง “ละอ่อน”

ทำไมนายชวน หลีกภัย จะมองไม่ออก ทำไมนายจาตุรนต์ ฉายแสง จะมองไม่ออก ตั้งแต่อยู่ในกลุ่มของ 40 ส.ว.มาแล้ว
เหมือน “ศาสตราจารย์” อ่าน “มูลบทบรรพกิจ” นั่นแหละ
เบื้องหน้ากลเกมทางการเมืองในการยื้อ ถ่วง หน่วงเช่นนี้ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย
ย่อมมองออก อ่านทะลุ
ทะลุจากนายสมชาย แสวงการ ทะลุจากนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ทะลุจากนายตวง อันทะไชย ทะลุจาก นายวันชัย สอนศิริ
ไปยังบรรดาคนที่คิดว่า “เขี้ยวลากดิน” ในกลุ่ม “ไทยนิยม” ประชารัฐ
มีแนวโน้มและความเป็นไปได้เด่นชัดยิ่งขึ้นว่า กลยุทธ์ในการยื้อ หน่วง ถ่วง เสมอเป็นเพียงเป้าหลอกรายเดือน
ตัวจริง เสียงจริง อยู่ที่ “ไม่เลือกตั้ง”
ทุกอย่างดำเนินไปตามสโลแกน “ทำให้เซ็งแล้วปกครอง” ซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้วในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ก็เสมอเป็นเพียงระยะหนึ่ง
เพราะในที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เจอ “14 ตุลา”
จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร สามารถ “ซื้อ” เวลาได้ผ่านบทบาทของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
แต่เมื่อถึงเดือนมิถุนายน 2516 ก็ไม่ใช่แล้ว
เพราะอีกไม่กี่เดือนที่ตามมาก็คือ การประท้วงเรื่องแล้วเรื่องเล่าและที่สุดก็ก่อรูปขึ้นเป็นสถานการณ์เดือนตุลาคม เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องการเลือกตั้ง
การยื้อ การถ่วง การหน่วง เป็นเพียงสถานการณ์ “ชั่วคราว”

ไม่มีความคิดเห็น: